ความหมาย ทอนซิลอักเสบ
ทอนซิลอักเสบ (Tonsillitis) เกิดจากการติดเชื้อบริเวณต่อมทอนซิลซึ่งเป็นต่อม 2 ต่อมที่อยู่บริเวณด้านหลังของลำคอ ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคที่ผ่านเข้าลำคอหรือทางการหายใจ แต่บางทีต่อมทอนซิลนี้ก็ติดเชื้อเสียเอง โดยอาจทำให้มีอาการหลักคือ ต่อมทอนซิลบวมแดง เจ็บคอ กลืนลำบาก มีไข้ เสียงเปลี่ยน และมีกลิ่นปาก
อาการทอนซิลอักเสบ
ต่อมทอนซิลอักเสบมีอาการที่พบได้บ่อย ดังนี้
- ต่อมทอนซิลบวมและแดง
- มีชั้นบาง ๆ หรือจุดสีขาวหรือสีเหลืองปกคลุมบนต่อมทอนซิล
- มีอาการเจ็บคอที่อาจรุนแรงและคงอยู่ยาวนานกว่า 48 ชั่วโมง
- กลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ
- ต่อมน้ำเหลืองในคอโตและฟกช้ำ
- เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยน
- มีกลิ่นปาก
- มีไข้
- ปวดท้อง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
- คอแข็ง
- ปวดศีรษะ
- ปวดที่หู
เด็กเล็กที่มีอาการของทอนซิลอักเสบอาจไม่สามารถอธิบายได้ว่ามีอาการอย่างไร ผู้ปกครองอาจสังเกตจากสัญญาณบ่งบอกต่อไปนี้
- น้ำลายไหล มีสาเหตุจากการกลืนได้ลำบากหรือกลืนแล้วรู้สึกเจ็บ
- ไม่ยอมรับประทานอาหาร
- งอแงผิดปกติ
สาเหตุของทอนซิลอักเสบ
การติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลเกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรียที่ผ่านเข้าทางปาก โดยต่อมทอนซิลจะช่วยป้องกันการติดเชื้อด้วยการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้กับเชื้อโรค และเนื่องจากเป็นภูมิคุ้มกันด่านแรก ต่อมทอนซิลจึงเป็นอวัยวะที่เสี่ยงต่อการอักเสบและติดเชื้อได้เช่นกัน
ทั้งนี้สาเหตุส่วนใหญ่ของทอนซิลอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสมากกว่าแบคทีเรีย โดยไวรัสทั้งหลายที่ก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมทอนซิลยังอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคอื่นด้วย การได้รับเชื้อจากผู้ที่ป่วยโรคที่เกิดจากไวรัสต่อไปนี้ จึงอาจนำไปสู่การติดเชื้อที่ต่อมทอนซิลได้เช่นกัน
- ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดทั่วไป
- ไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดใหญ่
- ไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) ทำให้เกิดโรคกล่องเสียงอักเสบและกลุ่มอาการครู้ป
- ไวรัสเอนเทอร์โร (Enteroviruses) ต้นเหตุของโรคมือเท้าปาก
- ไวรัสรูบิโอลา (Rubeola) ทำให้เกิดโรคหัด
- ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) ไวรัสที่มักเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
- ไวรัสเอ็บสไตน์บาร์ (Epstein-Barr) ที่สามารถก่อให้เกิดโรคโมโนนิวคลีโอซิส แต่ทอนซิลอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียชนิดนี้จะพบได้ไม่บ่อย
แบคทีเรียต่าง ๆ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการติดเชื้อที่ต่อมทอนซิล ทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่พบได้บ่อยที่สุดเกิดจากเชื้อสเต็ปโตคอคคัสกลุ่มเอ (Group A Streptococcus) ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคคออักเสบ นอกจากนี้แบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ก็พบว่าเป็นสาเหตุได้เช่นกัน แต่พบได้น้อยกว่า
โรคต่อมทอนซิลพบได้บ่อยในช่วงเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไปจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนกลาง โดยทอนซิลอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียพบได้บ่อยในช่วงอายุ 5-15 ปี ขณะที่ทอนซิลอักเสบที่เกิดจากไวรัสจะพบในเด็กเล็กมากกว่า ส่วนวัยผู้ใหญ่มีโอกาสเกิดได้น้อย ทั้งนี้เพราะเด็กวัยเรียนมักมีการสัมผัสอยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนและชอบเล่นสนุกสนาน จึงทำให้ต้องเผชิญกับเชื้อโรคมากมายและเสี่ยงต่อการติดเชื้อทอนซิลอักเสบมากกว่า
การวินิจฉัยโรคทอนซิลอักเสบ
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการตรวจลำคอโดยอาจใช้วิธีการต่อไปนี้
- ใช้ไฟฉายส่องดูบริเวณลำคอ รวมทั้งอาจดูบริเวณหูและจมูกร่วมด้วย เนื่องจากเป็นบริเวณที่แสดงอาการติดเชื้อได้เช่นกัน
- ตรวจดูผื่นแดงที่เป็นอาการของโรคไข้อีดำอีแดงซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียตัวเดียวกับกับโรคคออักเสบ
- ตรวจด้วยการคลำสัมผัสเบา ๆ ที่ลำคอเพื่อดูว่าต่อมน้ำเหลืองบวมหรือไม่
- ใช้เครื่องสเต็ทโทสโคปฟังเสียงจังหวะการหายใจของผู้ป่วย
- บางกรณีอาจมีการใช้สำลีเช็ดที่ลำคอส่วนหลังเบา ๆ แล้วส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูชนิดของเชื้อโรค
- ตรวจนับเม็ดเลือด (CBC) แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจนับเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ว่ามีค่าปกติหรือต่ำกว่าปกติ เพื่อบ่งบอกว่าเป็นการติดเชื้อจากไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่การตรวจนับเม็ดเลือดนี้จะใช้เฉพาะกรณีที่การตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ผลไม่ชัดเจน
การรักษาทอนซิลอักเสบ
ทอนซิลอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากไวรัส ซึ่งมักจะรักษาให้หายได้ภายใน 7-10 วันโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่ดีขึ้นได้ด้วยการดูแลรักษาตัวเอง ส่วนการรักษาการอักเสบของต่อมทอนซิลที่เกิดจากแบคทีเรียนั้นใช้เวลานานกว่า และอาจต้องใช้วิธีการรักษาทางแพทย์ ได้แก่ การรับประทานยาปฏิชีวนะ และการผ่าตัดในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน
การดูแลรักษาตนเอง
- เมื่อมีอาการเจ็บคอหรือมีไข้ ควรรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอลหรือไอบูโพรเฟน แต่หากเป็นไข้อ่อน ๆ ไม่มีอาการเจ็บปวดก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยา ข้อควรระวังสำหรับเด็กหรือวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปี ที่มีอาการของโรคหวัดธรรมดาหรือโรคไข้หวัดใหญ่ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้มีอาการแพ้หรือที่เรียกว่าโรคเรย์ซินโดรม ส่งผลอันตรายถึงแก่ชิวิตได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้คอชุ่มชื้น
- รับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม และดื่มเครื่องดื่มที่ช่วยให้สบายคอ เช่น น้ำอุ่น ชาที่ปราศจากคาเฟอีน น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้ง หรือไอศกรีมแท่ง
- กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ สามารถทำได้เองที่บ้าน ใช้เกลือ 1 ช้อนชาผสมน้ำเปล่าประมาณ 250 มิลลิลิตร กลั้วลำคอแล้วบ้วนทิ้ง จะช่วยให้บรรเทาอาการเจ็บคอลงได้
- รักษาความชุ่มชื้นของบ้าน หลีกเลี่ยงอากาศแห้งเนื่องจากจะส่งผลให้ระคายเคืองที่คอและเจ็บคอยิ่งขึ้น
- เด็กที่อายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไปอาจอมยาอมเพื่อบรรเทาอาการระคายคอ
- หลีกเลี่ยงสารที่ก่อความระคายเคืองที่คอ เช่น ควันบุหรี่ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้งหลาย
ทั้งนี้ผู้ปกครองที่สังเกตเห็นว่าอาการเจ็บคอของลูกไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน กลืนอาหารลำบากหรือกลืนแล้วเจ็บ อ่อนเพลียอย่างมาก รับประทานอาหารได้น้อยมาก ควรพาไปรับการตรวจรักษาจากแพทย์ และควรต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการรุนแรงอย่างหายใจลำบาก กลืนอาหารได้ยากมาก หรือน้ำลายไหล
การใช้ยาปฏิชีวนะ
เมื่อตรวจพบว่าแบคทีเรียเป็นสาเหตุของการอักเสบของต่อมทอนซิล แพทย์ถึงจะสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ ซึ่งโดยมากมักให้ยากลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) หรือยาอิริโธรมัยซิน (Erythromycin) รับประทานเป็นเวลา 7-10 วัน
ทั้งนี้การรับประทานยาปฏิชีวนะควรต้องรับประทานให้ครบตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าแบคทีเรียถูกกำจัดจนหมด เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่กำจัดไม่หมดอาจส่งผลให้การติดเชื้อแย่ลงหรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย นอกจากนี้ในเด็กยังเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ไต และไข้รูมาติกซึ่งเป็นการติดเชื้อบริเวณลิ้นหัวใจร่วมกับมีไข้ตามมาได้
การผ่าตัด
การผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลออกเป็นวิธีรักษาทอนซิลอักเสบที่เป็นซ้ำหลายครั้ง ทอนซิลอักเสบเรื้อรัง หรือทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเท่านั้น โดยสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้
- ทอนซิลอักเสบมากกว่า 7 ครั้งในรอบหนึ่งปี
- ทอนซิลอักเสบมากกว่า 4-5 ครั้งในรอบหนึ่งปีเป็นระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา
- ทอนซิลอักเสบมากกว่า 3 ครั้งในรอบหนึ่งปีเป็นระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจใช้การผ่าตัดทอนซิลในกรณีที่ต่อมทอนซิลอักเสบทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ยากจะรักษาตามมา เช่น
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- หายใจลำบาก
- กลืนลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลืนเนื้อหรืออาหารชิ้นหนา ๆ
- เป็นฝีที่ใช้ยาปฏิชีวนะแล้วยังไม่ดีขึ้น
กระบวนการผ่าตัดทอนซิลเริ่มด้วยการให้ยาสลบแก่ผู้ป่วย ส่วนวิธีการผ่าตัดมีให้เลือกใช้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมว่าจะเลือกใช้การผ่าตัดชนิดใด โดยวิธีที่พบได้บ่อยคือการผ่าตัดธรรมดาร่วมกับใช้อุปกรณ์ห้ามเลือดด้วยความร้อน
ส่วนวิธีผ่าตัดอื่น ๆ ที่อาจเลือกใช้ ได้แก่ การผ่าตัด โดยใช้กระแสแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงทำลายเนื้อเยื่อโดยรอบแล้วนำต่อมทอนซิลออก หรือใช้การผ่าตัดที่อุณหภูมิต่ำโดยใช้กระแสแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกันแต่จะเจ็บน้อยกว่า นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้เลเซอร์หรือคลื่นเสียงความถี่สูงในการตัดต่อมทอนซิลออกมาได้เช่นกัน
ผู้ป่วยที่ผ่าตัดต่อมทอนซิลส่วนใหญ่สามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เว้นแต่การผ่าตัดในเด็กที่อายุน้อยมาก ๆ ผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อน และผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นระหว่างการผ่าตัด ทั้งนี้การฟื้นตัวของแผลผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 14 วัน เด็กที่ผ่าตัดต่อมทอนซิลอาจต้องหยุดเรียนในระยะ 2 สัปดาห์นี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากเด็กคนอื่น ๆ
ในช่วงพักฟื้น ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดแผลหลังผ่าตัดนานเป็นสัปดาห์ โดยจะรุนแรงขึ้นในช่วงสัปดาห์แรก ก่อนที่จะค่อย ๆ ทุเลาลงในช่วงสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหูร่วมด้วย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลแต่อย่างใด และสามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาระงับปวด
นอกจากนี้ การผ่าตัดต่อมทอนซิลยังอาจทำให้กลืนอาหารได้ลำบาก ระยะแรกหลังผ่าตัดควรรับประทานอาหารเหลวและไม่ร้อนจนเกินไป จากนั้นควรพยายามรับประทานอาหารตามปกติเพื่อช่วยส่งเสริมร่างกายให้หายดีในเร็ววัน และควรดื่มน้ำให้มาก หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสเปรี้ยวหรือเป็นกรด เช่น น้ำส้ม น้ำอัดลม เพราะมีฤทธิ์กัดลำคอได้ รวมทั้งหมั่นรักษาความสะอาดของช่องปากด้วยการแปรงฟันและบ้วนปากอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด แต่ระวังอย่าใช้แปรงแคะคราบสีขาวบริเวณแผลผ่าตัด เนื่องจากเป็นรอยประสานของเนื้อเยื่อจากกระบวนการรักษาแผล
สำหรับภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดทอนซิลนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ที่พบได้บ่อยคือมีเลือดออกที่แผลผ่าตัด อาจเกิดขึ้นในช่วง 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัดหรือภายใน 10 วันหลังจากนั้น ผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกเล็กน้อย ซึ่งมักจะหายไปได้เอง และบรรเทาได้ด้วยการกลั้วปากด้วยน้ำเย็น เนื่องจากความเย็นจะทำให้เลือดแข็งตัวจึงช่วยหยุดเลือดได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีเลือดออกรุนแรงจนไอเป็นเลือด หรือเลือดไหลไม่หยุดควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ภาวะแทรกซ้อนของทอนซิลอักเสบ
การบวมอักเสบของต่อมทอนซิลบ่อยครั้งหรือเรื้อรังอาจตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หายใจลำบาก การติดเชื้อที่แพร่ลึกลงไปสู่เนื้อเยื่อโดยรอบ รวมถึงการติดเชื้อที่ส่งผลให้มีฝีที่ทอนซิล หรือหนองลุกลามสะสมที่ด้านหลังของลำคอและอวัยวะข้างเคียงได้
เด็กที่ป่วยเป็นทอนซิลอักเสบจากแบคทีเรียสเต็ปโตคอคคัส (Streptococcus) แต่ไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาด้วยยาปฏิชีวนะแล้วได้รับยาไม่ครบกำหนด มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่พบได้ไม่บ่อย ได้แก่ ไข้รูมาติก ซึ่งจะส่งผลต่อหัวใจ ข้อต่อ และเนื้อเยื่ออื่น ๆ และการอักเสบของกรวยไตจากการติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว
การป้องกันทอนซิลอักเสบ
เชื้อไวรัสและแบคทีเรียทั้งหลายที่เป็นสาเหตุของทอนซิลอักเสบนั้นสามารถแพร่กระจายได้ง่าย การป้องกันการติดเชื้อและอักเสบที่ดีที่สุดจึงทำได้ด้วยการรักษาสุขอนามัย และเนื่องจากโรคนี้มักพบได้ในเด็ก ผู้ปกครองอาจสอนลูกให้ป้องกันจากการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมจานหรือดื่มน้ำร่วมแก้วกับผู้อื่นที่อาจมีการสัมผัสน้ำลายของอีกฝ่าย
- หมั่นล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะหลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร
- เปลี่ยนแปรงสีฟันที่ใช้หลังจากป่วยเป็นทอนซิลอักเสบ
- พักรักษาตัวแต่ในบ้าน อยู่ให้ห่างจากผู้อื่น เพื่อไม่ให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่น
- สอบถามแพทย์ถึงเวลาที่ลูกจะสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้
- สอนให้ลูกไอหรือจามโดยใช้กระดาษทิชชู่ปิดปาก และล้างมือให้สะอาดหลังไอหรือจาม