ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (Urinary Tract Infection)

ความหมาย ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (Urinary Tract Infection)

ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เป็นภาวะที่เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หากเกิดบริเวณกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ อาจทำให้รู้สึกแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือมีเลือดปน ปวดท้องน้อยหรือบริเวณหัวหน่าว และปัสสาวะอาจมีกลิ่นเหม็นกว่าปกติ แต่หากเกิดการอักเสบบริเวณไตและท่อไต ผู้ป่วยอาจมีไข้สูง หนาวสั่น และมีอาการปวดเอวร่วมด้วย

ระบบทางเดินปัสสาวะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ทางเดินปัสสาวะตอนบน ซึ่งเป็นส่วนของไตและท่อไต และทางเดินปัสสาวะตอนล่าง ซึ่งเป็นส่วนของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ โดยอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะที่มักเกิดการอักเสบ คือ กระเพาะปัสสาวะ และในทางการแพทย์มักเรียกภาวะนี้ว่า โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ทางเดินปัสสาวะอักเสบ (Urinary Tract Infection)

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นปัญหาที่พบบ่อยทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ซึ่งมักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงวัยเจริญพันธุ์ เพราะด้วยลักษณะทางกายภาพของเพศหญิงที่มีท่อปัสสาวะสั้นกว่าเพศชาย ทำให้มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคและติดเชื้อได้ง่ายกว่า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะติดเชื้อโรคได้ง่ายจากช่องคลอด อุจจาระ และจากการมีเพศสัมพันธ์

อาการของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ทางเดินปัสสาวะอักเสบทั้งส่วนบนและส่วนล่างอาจทำให้เกิดอาการแตกต่างกันเล็กน้อย โดยผู้ป่วยทางเดินปัสสาวะส่วนบนอักเสบอาจมีไข้ คลื่นไส้ มีอาการปวดเอว หรือปวดหลังส่วนบนร่วมด้วย ส่วนอาการป่วยอื่น ๆ อาจมีลักษณะแยกตามประเภทได้ ดังนี้

อาการของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะส่วนบน

  • รู้สึกเจ็บปวดหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • ถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะบ่อยครั้ง หรืออั้นปัสสาวะไม่ได้
  • รู้สึกปัสสาวะไม่สุด
  • ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นกว่าปกติ อาจมีสีขุ่น หรือมีเลือดปน
  • ปวดบริเวณท้องน้อย ซึ่งเป็นส่วนของกระเพาะปัสสาวะ หรือปวดบริเวณหัวหน่าว
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้สูงอายุอาจมีอาการสับสนหรือทำกิจกรรมลดลง
  • มีไข้ หนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • ปวดหลังส่วนบน และปวดเอว 

อาการของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง

  • รู้สึกเจ็บปวดหรือแสบร้อนขณะปัสสาวะ
  • ถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะบ่อยครั้ง หรืออั้นปัสสาวะไม่ได้
  • รู้สึกปัสสาวะไม่สุด
  • ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นกว่าปกติ อาจมีสีขุ่น หรือมีเลือดปน
  • ปวดบริเวณท้องน้อย ซึ่งเป็นส่วนของกระเพาะปัสสาวะ หรือบริเวณหัวหน่าว
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • อ่อนเพลีย
  • ผู้สูงอายุอาจมีอาการสับสนหรือทำกิจกรรมลดลง

ส่วนผู้ที่เป็นโรคกรวยไตอักเสบนั้น นอกจากจะมีอาการเหมือนกับที่พบในทางเดินปัสสาวะส่วนบนอักเสบแล้ว ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หนาวสั่น และมีอาการปวดเอวร่วมด้วย

สาเหตุของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบในผู้หญิง ได้แก่

การติดเชื้อแบคทีเรีย
แม้เชื้อแบคทีเรียที่เป็นตัวการก่อให้เกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบจะมีอยู่หลายชนิด แต่ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักติดเชื้ออีโคไล (E.Coli) เคล็บซิลลา (Klebsiella) ซูโดโมแนส (Pseudomonas) และเอนเทอโรแบกเตอร์ (Enterobacter) ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้มักแพร่มาจากทางเดินอาหารและช่องคลอด โดยปนเปื้อนมากับอุจจาระหรือในขณะมีเพศสัมพันธ์

การขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
การขาดฮอร์โมนชนิดนี้ทำให้แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของทางเดินปัสสาวะอักเสบเติบโตได้ง่ายในช่องคลอดหรือท่อปัสสาวะ โดยเฉพาะผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน

การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STI) อย่างโรคหนองในหรือเริม มีโอกาสทำให้เชื้อแบคทีเรียหลุดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย ทำให้เกิดอาการอักเสบที่เรียกว่า กระเพาะปัสสาวะอักเสบจากฮันนีมูน (Honeymoon Cystitis)

การตั้งครรภ์
ขณะตั้งครรภ์ ทางเดินปัสสาวะจะขยายออก ทำให้เชื้อโรคมีโอกาสเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะเพิ่มขึ้น และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้

แม้ผู้หญิงจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ แต่โรคนี้ก็มีโอกาสเกิดกับผู้ชายได้เช่นกัน โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบในผู้ชาย ได้แก่

  • มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก เช่น ต่อมลูกหมากโต หรือต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นต้น
  • ผู้ที่ไม่ได้ขลิบอวัยวะเพศ ซึ่งก่อให้เกิดการหมักหมมของเชื้อโรคได้
  • ผู้ที่ไม่ได้ป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบทั้งในผู้หญิงและผู้ชายได้ เช่น

  • เป็นนิ่วในไต และมีการกีดขวางต่าง ๆ ในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งทำให้ปัสสาวะขัดและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงมากในการเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ เพราะระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงก็เป็นอันตรายต่อระบบการทำงานของไต
  • มีความผิดปกติทางกายภาพในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติแต่กำเนิด หรือเกิดความผิดปกติในภายหลัง เช่น เกิดแผลเป็นหลังจากรับการผ่าตัดบริเวณไต จนส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอวัยวะที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
  • ใช้หลอดสวนในผู้ป่วยที่ต้องสวนปัสสาวะ โดยการสอดสายสวนผ่านทางท่อปัสสาวะเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเพื่อระบายปัสสาวะออกมาจากร่างกายนั้น มีโอกาสนำเชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้โดยตรง แพทย์จึงพิจารณาทำการรักษาลักษณะนี้เฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่จำเป็นเท่านั้น

การวินิจฉัยโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ในกรณีที่ไม่ได้มีอาการซับซ้อน แพทย์จะสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากอาการที่เกิดขึ้นทั้งหมดของผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ โดยที่ไม่ต้องรอการยืนยันเพิ่มเติมจากห้องวิจัย หากแพทย์วินัจฉัยว่ามีอาการของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบแน่นนอนแล้ว แพทย์จะให้เริ่มการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยไม่ต้องรอผลตรวจปัสสาวะ

แต่หากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไม่เป็นผลและมีการกลับมาเป็นซ้ำในทันที และมีอาการแทรกซ้อนจากปัจจัยอื่น ๆ หรือในบางรายที่มีการติดเชื้อที่ไต แพทย์อาจตรวจหาสาเหตุอื่น ดังนี้

  • ตรวจหาสาเหตุของการกลับมาเป็นซ้ำ หรือการติดเชื้อเรื้อรัง
  • ตรวจหาปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับไต
  • วินิจฉัยปัญหาที่เกิดในเชิงกายภาพของทางเดินปัสสาวะที่มีโอกาสทำให้เป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • ตรวจหาการติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียที่ต่างออกไปจากปกติ
  • ตรวจดูว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่

ในกรณีที่มีความซับซ้อน หรือยังหาข้อสรุปไม่ได้ ผู้ป่วยต้องรอคำยืนยันการวินิจฉัยโรคโดยการตรวจปัสสาวะ (Urinalysis หรือ UA) เช่น การวิเคราะห์จากค่าไนไตรท์ (Nitrite) หรือจากเม็ดเลือดขาว (Leukocytes) ด้วยการเก็บปัสสาวะไปตรวจและอ่านค่าต่าง ๆ จากกล้องจุลทรรศน์ ในบางรายอาจต้องเก็บปัสสาวะโดยการใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อให้ได้ปัสสาวะที่มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด

อีกวิธีของการหาสาเหตุของการติดเชื้อ คือการเพาะเชื้อแบคทีเรียในปัสสาวะ (Urine Culture) ช่วยให้สามารถบอกได้ว่าการติดเชื้อเกิดจากเชื้อชนิดใด โดยจะต้องรอผลอย่างน้อยประมาณ 48 ชั่วโมง มักใช้ในกรณีที่รักษาด้วยยาปฏิชีวนะครั้งแรกแล้วไม่ดีขึ้น หรือทำในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต เป็นต้น

การรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

เมื่อผลการวินิจฉัยชี้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งปริมาณยา ชนิดของยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่แพทย์แนะนำ จะขึ้นอยู่กับลักษณะของอาการป่วย ปัจจัยสุขภาพของผู้ป่วย และสายพันธุ์ของแบคทีเรียที่พบในปัสสาวะเป็นหลัก ดังนี้

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบทั่วไป
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีไข้ ไตยังทำงานเป็นปกติ รวมถึงไม่มีโรคประจำตัว แพทย์มักให้รับประทานยาปฏิชีวนะ อย่างยาฟลูออโรควิโนโลน ยาไตรเมโทพริม ยาดอกซีไซคลิน ยาอะซิโธรมัยซิน ยาซัลฟาเมธ็อกซาโซล หรือยาเซฟาเลกซินและสังเกตอาการประมาณ 3-5 วัน ส่วนผู้ป่วยชายที่มีการอักเสบของต่อมลูกหมากร่วมด้วย แพทย์อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะนานขึ้น ซึ่งอาการป่วยมักค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากได้รับยา แต่หากอาการยังคงอยู่ 2-3 วัน โดยที่ไม่ดีขึ้นเลย ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที ทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายใช้ยาแก้ปวดควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพราะอาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ และแม้อาการป่วยจะดีขึ้นจนหายเป็นปกติแล้ว แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์แนะนำจนครบกำหนด

โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบรุนแรงหรือเรื้อรัง
แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบเรื้อรังรับประทานยาปฏิชีวนะที่มีปริมาณยาต่ำติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน รวมถึงรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนมีเพศสัมพันธ์ในกรณีที่การอักเสบเกิดจากการติดเชื้อในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีไข้สูง หรือมีอาการปวดเอวอย่างมาก อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางเส้นเลือด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่

  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ในผู้ป่วยบางรายอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามขึ้นไปที่ไต ทำให้เป็นกรวยไตอักเสบ และหากปล่อยให้เป็นเรื้อรังก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังแทรกซ้อนได้ ส่วนในผู้ชาย เชื้ออาจลุกลามทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ 
  • ท่อปัสสาวะอักเสบ มีอาการแทรกซ้อนที่สำคัญ เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นฝีรอบ ๆ บริเวณท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะอักเสบจากการที่มีเชื้อโรคลุกลามขึ้นไปถึง
  • กรวยไตอักเสบ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เชื้ออาจลุกลามเข้ากระแสเลือด กลายเป็นภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ ในบางรายอาจกลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง มีการอักเสบโดยไม่ปรากฏอาการ ซึ่งหากปล่อยไว้นานอาจกลายเป็นไตวายได้

หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบสามารถนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • มีการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีการติดเชื้อมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้งหรือมากกว่านั้น
  • เกิดความเสียหายที่ไตอย่างถาวร จากการติดเชื้อในไตทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง (กรวยไตอักเสบ)
  • กรณีที่ตั้งครรภ์อยู่ มีความเสี่ยงที่ทารกจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือมีการคลอดก่อนกำหนด
  • เกิดการตีบแคบที่ท่อปัสสาวะ โดยจะพบในผู้ชายที่เป็นท่อปัสสาวะอักเสบซ้ำ
  • เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะหากการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะลามมาถึงไต

การป้องกันโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ

การป้องกันโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบทำได้ไม่ยาก เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม ดังนี้

  • ดื่มน้ำมาก ๆ 6-8 แก้วต่อวัน เพื่อช่วยขับแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่อยู่ในร่างกายออก
  • หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรอั้นปัสสาวะนาน ๆ เมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะควรปัสสาวะในทันทีและปัสสาวะให้สุด
  • ควรปัสสาวะทั้งก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้แบคทีเรียถูกขับออกจากร่างกาย หรือหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากกำลังรักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • ทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดด้วยการเช็ดจากทางด้านหน้าไปด้านหลัง
  • หากมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ผลิตภัณฑ์หล่อลื่น ในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีภาวะช่องคลอดแห้ง เพื่อป้องกันการฉีกขาด หรือหากเป็นแผล จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
  • สำหรับผู้ชายที่ไม่ได้ขริบหนังหุ้มปลายของอวัยวะเพศชายออก ให้หมั่นทำความสะอาดอย่างถูกต้องเป็นประจำ
  • ควรใส่ชุดชั้นในที่สะอาดและทำจากเนื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น เช่น ผ้าฝ้าย ไม่ใส่กางเกงที่รัดรูปเกินไปหรือระบายอากาศยาก เช่น กางเกงยีน
  • สำหรับผู้ที่มีแนวโน้มจะกลับมาเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบซ้ำ ควรหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดแบบหมวกครอบปากมดลูก (Cervical Cap) เพราะเป็นที่สะสมของแบคทีเรีย และใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ แทน
  • ผู้หญิงไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอมบริเวณอวัยวะเพศหรือช่องคลอด เช่น สบู่ น้ำหอม หรือแป้ง ที่อาจมีสารที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
  • ไม่ควรแช่น้ำในอ่างอาบน้ำนานเกิน 30 นาที