ความหมาย ท้องเสีย (Diarrhea)
ท้องเสียหรืออุจจาระร่วง (Diarrhea) เป็นอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำมากกว่าปกติ หรือบางครั้งถ่ายเป็นมูกปนเลือด มักเกิดจากการติดเชื้อหรือภาวะอาหารเป็นพิษ หลังจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป
อาการท้องเสียจะเกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่บางรายอาจมีอาการเรื้อรังมานาน ซึ่งอาจเกิดจากโรคอื่นได้ เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease: IBD) หรือโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
อาการท้องเสีย
อาการที่พบได้บ่อยคือจะมีการถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป ถ่ายบ่อยกว่าปกติของแต่ละคน หรือถ่ายเป็นมูกปนเลือด 1 ครั้งหรือมากกว่านั้นภายใน 24 ชั่วโมง บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อ่อนเพลีย รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว และมีไข้
แม้ท้องเสียมักจะเป็นอาการที่ไม่ร้ายแรง แต่อาจสร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วยและเป็นเรื้อรังจนก่อให้เกิดโรคอื่นตามมาในภายหลัง ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการท้องเสียมากกว่า 2 วันหรือเกิดภาวะขาดน้ำหรือ สำหรับเด็กเล็กหรือทารกหากมีอาการเกิน 1 วัน ควรรีบพาไปพบแพทย์ เนื่องจากเสี่ยงกับการเสียชีวิตจากภาวะขาดน้ำ
- มีอาการปวดช่องท้องหรือทวารหนักอย่างรุนแรง
- ไข้ขึ้นสูงกว่า 39 องศาเซลเซียส
- ถ่ายอุจจาระมีเลือดหรืออุจจาระเป็นสีดำ
สาเหตุของท้องเสีย
โดยปกติลำไส้จะดูดซึมสารอาหารในรูปแบบของเหลวจากสิ่งที่รับประทานเข้าไปในร่างกายจนเหลือแต่กากใยทิ้งไว้ แต่เมื่อเกิดอาการท้องเสียขึ้น ทำให้ลำไส้ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ สารอาหารเหล่านั้นจึงไม่ถูกดูดซึมและถูกขับออกมาจากร่างกาย
การถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายเป็นมูกเลือดนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แบ่งออกเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง ดังนี้
ท้องเสียแบบเฉียบพลัน
อาการท้องเสียแบบเฉียบพลับมักเกิดจากโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อปรสิต ดังนี้
- เชื้อแบคทีเรียมักปนเปื้อนในน้ำหรืออาหาร และก่อให้เกิดอาการท้องเสียตามมา เช่น เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เชื้อซาลโมเนลลา เชื้อชิเกลลา และเชื้ออีโคไล
- เชื้อไวรัสมีอยู่หลายชนิดที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย เช่น โรต้าไวรัส โนโรไวรัส ไซโตเมกาโลไวรัส เฮอร์พีส์ซิมเพล็กซ์ไวรัส ไวรัสตับอักเสบ
- เชื้อปรสิตสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน และอาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหารของคนเรา โดยเชื้อปรสิตที่มักพบคือ เชื้อไกอาเดีย เชื้อแอนตามีบาฮิสโตลิติกาหรือเชื้อบิดอะมีบา และเชื้อคริปโตสปอริเดียม
นอกจากนี้ อาการท้องเสียที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันอาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น อาการวิตกกังวล การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเกินไป การแพ้อาหารบางชนิด ไส้ติ่งอักเสบ หรือเยื่อบุลำไส้เสียหายจากการฉายรังสี
ท้องเสียแบบเรื้อรัง
อาการท้องเสียที่เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป จะถือเป็นอาการท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยต่อไปนี้
- โรคในระบบทางเดินอาหารและโรคลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคโครห์น โรคลำไส้อักเสบ โรคเซลิแอคหรือแพ้กลูเตน โรคลำไส้แปรปรวน โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่
- อาหาร บางคนอาจมีปัญหาในการย่อยสารอาหารบางประเภท เช่น การขาดน้ำย่อยสำหรับย่อยน้ำตาลแล็กโทส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบมากในนมหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม นอกจากนี้ การรับประทานสารทดแทนความหวานในปริมาณมากก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้เช่นกัน
- การตอบสนองต่อยาบางประเภท โดยยาบางประเภทสามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาลดกรดที่มีแมกนีเซียม
- การผ่าตัด อาการท้องเสียอาจเกิดขึ้นหลังจากเข้ารับการผ่าตัดบางชนิด เช่น การผ่าตัดลำไส้หรือการผ่าตัดนำถุงน้ำดีออกไป
การวินิจฉัยอาการท้องเสีย
กรณีที่อาการของโรคไม่รุนแรง แพทย์จะซักถามประวัติทางการแพทย์ สอบถามถึงอาการป่วย และตรวจร่างกายเบื้องต้นอย่างการตรวจความดันโลหิต แต่หากอาการรุนแรงหรือสาเหตุของโรคไม่ชัดเจน แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนี้
- การตรวจเลือด โดยแพทย์จะนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจสอบ เพื่อหาสัญญาณของโรคหรือความผิดปกติที่อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
- การตรวจอุจจาระ ผู้ป่วยจำเป็นต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระของตนเอง เพื่อให้ทางแพทย์นำไปตรวจหาเลือด เชื้อโรค หรือสัญญาณของโรคที่อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
- การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร คือ การสอดกล้องเข้าไปทางปากแล้วตรวจอวัยวะต่าง ๆ ของระบบย่อยอาหาร เพื่อหาสาเหตุของอาการท้องเสีย
การรักษาอาการท้องเสีย
กรณีที่ผู้ป่วยท้องเสียอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะ เพราะอาการป่วยจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองตามลำดับ แต่ผู้ป่วยก็ควรดื่มน้ำมาก ๆ หรือดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป และควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดของอาหารเป็นหลัก
โดยเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะ และเน้นอาหารที่ย่อยง่ายอย่างโจ๊ก ข้าวต้ม น้ำซุป และควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทหมักดอง อาหารที่มีไขมันสูง เครื่องดื่มคาเฟอีน ของหวาน ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนม และอาหารรสจัด เมื่อเริ่มมีอาการดีขึ้นก็อาจรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ผลิตภัณฑ์ที่มีจุลินทรีย์ชนิดที่ดี เช่น โยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยว ซึ่งมีส่วนช่วยให้ลำไส้ย่อยอาหารได้ดี
หากพบว่าอาการท้องเสียเกิดจากโรคหรือความผิดปกติที่ค่อนข้างร้ายแรงอย่างโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยจำเป็นต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารคอยดูแล เพื่อวางแผนการรักษาโรคหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องต่อไป
ผู้ที่ท้องเสียควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตนเอง โดยเฉพาะสัญญาณของภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบอื่น ๆ ในร่างกาย และถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะในเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เพราะอาจทำให้อวัยวะภายในเกิดความเสียหาย หากมีอาการรุนแรง ร่างกายจะเกิดอาการช็อกและหมดสติได้
โดยสัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังเผชิญกับภาวะขาดน้ำในผู้ใหญ่ เช่น กระหายน้ำอย่างมาก ปัสสาวะน้อยกว่าปกติและมีสีเข้ม ผิวแห้ง อ่อนเพลีย และวิงเวียนศีรษะ ส่วนในทารกและเด็กเล็กมักจะมีอาการปากและลิ้นแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ไม่ปัสสาวะเลยภายใน 3 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น ตาลึกโบ๋ มีไข้สูง และมีอาการกระสับกระส่ายหรือหงุดหงิด
การรักษาภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ในเบื้องต้นทำได้โดยดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รวมถึงรับประทานอาหารที่ช่วยเสริมแร่ธาตุและวิตามินแก่ร่างกาย ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ หรือดื่มน้ำผสมผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอส หากเป็นทารกและเด็กเล็กให้ดื่มผงน้ำตาลเกลือแร่โออาร์เอสสำหรับเด็กโดยเฉพาะ
ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องเสีย
ผู้ป่วยท้องเสียส่วนใหญ่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา แต่คนบางกลุ่มอย่างหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าปกติ
โดยภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องเสียที่อาจพบได้ เช่น ภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ โรคลำไส้แปรปรวน ภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง กลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกยูรีเมียหากท้องเสียจากการติดเชื้อบางชนิด ร่างกายส่วนอื่นตอบสนองต่อการติดเชื้อในทางเดินอาหารจนเกิดการอักเสบตามไปด้วย และการติดเชื้อลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย
การป้องกันอาการท้องเสีย
ท้องเสียสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน ซึ่งการติดเชื้อในทางเดินอาหารจัดเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย การรักษาความสะอาดและเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยจึงเป็นการป้องกันการติดเชื้อที่นำไปสู่ภาวะท้องเสียได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นเหล่านี้
- ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือสัมผัสกับอาหาร หลังการเข้าห้องน้ำ หรือจับสิ่งสกปรกอื่น ๆ เพื่อป้องกันแพร่กระจายของเชื้อโรค
- ในกรณีที่ไม่สามารถล้างมือได้ ควรใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เลือกรับประทานอาหารอย่างระมัดระวัง เช่น รับประทานของร้อน อาหารที่สะอาด สดใหม่ หลีกเลี่ยงผักผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด เนื้อสัตว์ดิบ และผลิตภัณฑ์ประเภทนม เป็นต้น
- ไม่ควรวางอาหารทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องนาน ๆ ควรเก็บเข้าตู้เย็น เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
- ควรทำความสะอาดบริเวณที่มีการเตรียมอาหารให้ถูกสุขลักษณะ รวมถึงการล้างมือให้สะอาดขณะเตรียมอาหาร
- เลือกดื่มน้ำที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ