ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็ก (Iron) เป็นหนึ่งในแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งเป็นแหล่งลำเลียงก๊าซออกซิเจนให้ไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ตามกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย หากร่างกายขาดธาตุเหล็กจะส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง (Anemia) จึงมีการผลิตธาตุเหล็กในรูปแบบอาหารเสริม (Iron Supplement) เพื่อให้ร่างกายได้รับธาตุเหล็กในปริมาณที่เพียงพอนอกเหนือจากการรับประทานอาหาร
เกี่ยวกับธาตุเหล็ก
กลุ่มยา | อาหารเสริม |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | เสริมธาตุเหล็กให้แก่ร่างกาย |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | แม้ว่าไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA แต่ยานี้จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินและแร่ธาตุ ซึ่งโดยทั่วไปไม่มีผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่ต้องให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภคอาหารเสริมธาตุเหล็กเพื่อความปลอดภัย |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
คำเตือนของการบริโภคธาตุเหล็ก
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการบริโภค ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ผู้ที่ต้องการบริโภคธาตุเหล็กจากอาหารเสริม เช่น ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเพื่อการบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม
- ไม่ควรบริโภคอาหารเสริมเกินปริมาณที่กำหนด
- ผู้ที่มีอาการแพ้ต่อส่วนประกอบในอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กไม่ควรบริโภคอาหารเสริมชนิดนั้น
- ผู้ที่มีธาตุเหล็กในเลือดสูง มีภาวะร่างกายสะสมธาตุเหล็กในปริมาณมากเกินไป (Hemosiderosis) ไม่ควรบริโภคอาหารเสริมที่มีธาตุเหล็ก
- หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารเสริมธาตุเหล็กพร้อมกับอาหารที่ขัดขวางกระบวนการดูดซึมธาตุเหล็กภายในร่างกาย อย่างชา กาแฟ ขนมปังธัญพืช ไข่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม โดยควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ไม่ควรให้อาหารเสริมธาตุเหล็กแก่เด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน โดยไม่มีคำแนะนำจากแพทย์
ปริมาณการบริโภคธาตุเหล็ก
โดยทั่วไป คนเราสามารถบริโภคธาตุเหล็กจากอาหารได้ อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ตับ เนื้อ ปลา เต้าหู้ ข้าวกล้อง ถั่ว ผลไม้อบแห้ง ธัญพืช และพืชผักใบเขียว อย่างคะน้า ผักสลัด เป็นต้น
หากเป็นธาตุเหล็กในรูปอาหารเสริม ควรบริโภคตามปริมาณที่แพทย์แนะนำเท่านั้น ร่างกายสามารถรับธาตุเหล็กจากการรับประทานอาหารได้ และหากไม่มีความเห็นจากแพทย์ว่ามีภาวะอาการป่วยใดก็ไม่ควรบริโภคอาหารเสริมธาตุเหล็กด้วยตนเอง เพราะการบริโภคธาตุเหล็กมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือทำให้เจ็บป่วยจนเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่และมีภูมิต้านทานต่ำ
ก่อนบริโภคอาหารเสริมธาตุเหล็ก ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อน และแจ้งแพทย์ว่ามีอาการแพ้ยาหรือแพ้สารตัวใดหรือไม่ ปัจจุบันกำลังใช้ยารักษาหรือการรักษาชนิดใด และกำลังป่วยด้วยโรคหรืออาการใดอยู่บ้าง
การบริโภคอาหารเสริมธาตุเหล็ก
ผู้ที่ต้องการบริโภคอาหารเสริมธาตุเหล็กควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ธาตุเหล็กจะถูกดูดซึมได้ดีที่สุดขณะท้องว่าง จึงควรรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กก่อนมื้ออาหาร แต่ก็สามารถรับประทานพร้อมกับการรับประทานอาหารได้เช่นกัน
- เมื่อรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก ให้ดื่มน้ำตาม 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร) และไม่ควรเอนตัวนอนทันทีหลังรับประทาน
- หากลืมรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก สามารถรับประทานได้ทันทีที่นึกได้ แต่หากเป็นช่วงเวลาที่ใกล้กับรอบการรับประทานครั้งต่อไปก็ให้ข้ามไปรับประทานตามเวลาปกติ และไม่ควรรับประทานเกินปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกายตามวัย
- เก็บอาหารเสริมธาตุเหล็กไว้ให้ห่างจากความร้อน ความชื้น และแสงแดด ควรเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง (15–30 องศาเซลเซียส) และเก็บไว้ให้พ้นมือเด็กหรือสัตว์เลี้ยง
- หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาหรืออาหารเสริมชนิดอื่นเพิ่มในขณะนั้น ควรตรวจสอบปริมาณธาตุเหล็กในยาหรือสารเหล่านั้น และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้ยา
- การบริโภคอาหารเสริมธาตุเหล็ก อาจส่งผลให้อุจจาระมีสีคล้ำ หากต้องทำการตรวจหาผลในห้องปฏิบัติการ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังบริโภคอาหารเสริมธาตุเหล็กอยู่
ปฏิกิริยาระหว่างธาตุเหล็กกับยาอื่น
ธาตุเหล็กอาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นที่ใช้อยู่ เช่น ยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) ยาเพนิซิลลิน (Penicillin) ยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) แคลเซียม ยาฏิชีวนะ ยาลดกรดกลุ่ม Proton Pump Inhibitors ยารักษาอาการชัก และยารักษาโรคพาร์กินสัน
ผู้ที่รับประทานธาตุเหล็กควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานธาตุเหล็ก โดยอาจเว้นระยะเวลาระหว่างการรับประทานธาตุเหล็กและยาที่ใช้อยู่อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
ผลข้างเคียงจากการบริโภคธาตุเหล็ก
การบริโภคธาตุเหล็กจะทำให้อุจจาระมีสีดำหรือคล้ำ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล นอกจากนี้ยังอาจมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ไม่อยากอาหาร
- มีไข้
- เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องผูก ท้องผูก หรือท้องร่วง
ส่วนอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เป็นผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก แต่ควรรีบไปพบแพทย์ หากเกิดอาการดังต่อไปนี้
- มีอาการแพ้ เช่น มีผดผื่นคัน หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หน้าบวม ปากบวม
- เวียนหัวอย่างรุนแรง
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- อุจจาระมีเลือดปน
- อาเจียนเป็นเลือดหรือมีเลือดปน