นาล็อคโซน (Naloxone)

นาล็อคโซน (Naloxone)

Naloxone (นาล็อคโซน) เป็นยาแก้พิษจากการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์เกินขนาด ถือเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือสมองถูกทำลาย เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงนอนผิดปกติ ตื่นยาก หายใจช้าลง หายใจตื้น หรือหยุดหายใจ รูม่านตาหดเล็กลงเป็นรูเข็ม หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ หรือหมดสติ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งผลกระทบจากยากลุ่มโอปิออยด์ แต่อาจได้ผลไม่ค่อยดีในยากลุ่มดังกล่าวบางชนิด นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยา Naloxone เพื่อช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยที่เข้าข่ายการใช้ยาในกลุ่มโอปิออยด์เกินขนาด 

นาล็อคโซน (Naloxone)

เกี่ยวกับยา Naloxone

กลุ่มยา ยาต้านฤทธิ์โอปิออยด์ (Opioid Antagonists)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ แก้พิษจากการติดยา การใช้ยาเกินขนาด ฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางและการกดการหายใจจากยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก และผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด ยารับประทาน ยาพ่นจมูก
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยกำลังให้นมบุตร เพราะยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาและส่งผลกระทบต่อทารก

คำเตือนในการใช้ยา Naloxone

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Naloxone รวมถึงแพ้ยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียง หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือประวัติทางการแพทย์อื่น ๆ 
  • ไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียวหลังจากได้รับยา Naloxone เพราะการใช้ยาเกินขนาดอาจทำให้ความสามารถในการคิดหรือตอบสนองลดน้อยลง
  • หากผู้ป่วยได้รับยานี้ขณะตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ที่รับฝากครรภ์ทราบทันที

ปริมาณการใช้ยา Naloxone

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

แก้ฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางจากการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ในระหว่างการผ่าตัด

ตัวอย่างการใช้ยา Naloxone เพื่อแก้ฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางจากการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ในระหว่างการผ่าตัด

เด็ก  ฉีดยา Naloxone Hydrochloride เข้าสู่หลอดเลือดดำในปริมาณ 10-20 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเว้นระยะห่างประมาณ 2-3 นาที จนกว่าผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยา หากจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณยาฉีดได้อีกภายใน 1-2 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับปริมาณยา วิธีการฉีดยา และเวลาที่ใช้ยาครั้งสุดท้าย

ผู้ใหญ่ ฉีดยา Naloxone Hydrochloride เข้าสู่หลอดเลือดดำในปริมาณ 100-200 ไมโครกรัม หากจำเป็นอาจฉีดยาเพิ่มในปริมาณ 100 ไมโครกรัม โดยเว้นระยะห่างประมาณ 2-3 นาที จนกว่าผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยา และอาจฉีดยาซ้ำอีกครั้งได้ภายใน 1-2 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับปริมาณยา วิธีการฉีดยา และเวลาที่ใช้ยาครั้งสุดท้าย

รักษาการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์เกินขนาด

ตัวอย่างการใช้ยา Naloxone เพื่อรักษาการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์เกินขนาด

เด็ก เริ่มฉีดยา Naloxone Hydrochloride เข้าสู่หลอดเลือดดำในปริมาณ 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากจำเป็นให้ฉีดยาอีกครั้งในปริมาณ 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในกรณีที่ไม่สามารถฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำได้ให้ฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อแทน 

ผู้ใหญ่ ฉีดยา Naloxone Hydrochloride เข้าสู่หลอดเลือดดำในปริมาณ 0.4-2 มิลลิกรัม หากจำเป็นให้ฉีดยาในปริมาณเท่าเดิมซ้ำอีกครั้งโดยเว้นระยะห่างประมาณ 2-3 นาที ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีการตอบสนองต่อยาหลังได้รับยาไปแล้ว 10 มิลลิกรัม ก็อาจมีสาเหตุมาจากการใช้ยาชนิดอื่น

รักษาการติดยากลุ่มโอปิออยด์

ตัวอย่างการใช้ยา Naloxone เพื่อรักษาการติดยากลุ่มโอปิออยด์

ผู้ใหญ่ รับประทานยา Naloxone Hydrochloride ปริมาณ 0.2-3 กรัม/วัน 

แก้ภาวะกดการหายใจจากการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ในระหว่างการคลอดบุตร 

ตัวอย่างการใช้ยา Naloxone เพื่อแก้ภาวะกดการหายใจจากการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ในระหว่างการคลอดบุตร 

ทารกแรกเกิด ฉีดยา Naloxone Hydrochloride เข้าทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อในปริมาณ 10 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจฉีดซ้ำอีกครั้งโดยเว้นระยะห่างประมาณ 2-3 นาที 

การใช้ยา Naloxone

แพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้ฉีดยานาล็อคโซนให้กับผู้ป่วย โดยจะฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ให้ตรงตามนัดหมายทุกครั้ง และแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังจากใช้ยา

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Naloxone  

แม้ผู้ป่วยหลายรายจะไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่เนื่องจากยา Naloxone ช่วยยับยั้งผลกระทบจากยากลุ่มโอปิออยด์ จึงอาจก่อให้เกิดการถอนยาอย่างฉับพลัน โดยอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ เหงื่อออก เจ็บตามร่างกาย อ่อนแรง ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น รู้สึกประหม่า กระสับกระส่าย ฉุนเฉียว ขนลุก น้ำตาไหล น้ำมูกไหล จาม หาว เป็นต้น

หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 4 สัปดาห์อาจมีอาการชัก ร้องไห้มากกว่าปกติ ขยับได้ลำบาก กล้ามเนื้อกระตุก มีการตอบสนองที่มากกว่าปกติ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากไม่รีบรักษา   

นอกจากนี้ ยังอาจมีสัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น รวมไปถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น หากผู้ป่วยพบความผิดปกติหรือมีอาการแย่ลงหลังได้รับยานี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยด่วน