บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab)
Bevacizumab (บีวาซิซูแมบ) เป็นยารักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งเนื้อเยื่อไต (Renal Cell Carcinoma) มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก หรือเนื้องอกไกลโอบลาสโตมา (Glioblastoma) โดยมักใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดหรือยาชนิดอื่น ๆ
ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ที่ไปหล่อเลี้ยงเซลล์เนื้องอกหรือมะเร็ง ซึ่งอาจช่วยชะลอการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์ดังกล่าวได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณานำยา Bevacizumab มาใช้กับโรคอื่น ๆ ตามความเหมาะสม
เกี่ยวกับยา Bevacizumab
กลุ่มยา | ยากลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal Antibody) หรือยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted Cancer Therapy) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกบางชนิด |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีด |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ ในปัจจุบัน ห้ามใช้ยา Bevacizumab ในสตรีมีครรภ์ สงสัยว่าอาจตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ให้นมบุตร เนื่องจากตัวยาอาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งบุตร และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และทารกหลังคลอด |
คำเตือนในการใช้ยา Bevacizumab
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา Bevacizumab ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Bevacizumab รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจส่งผลต่อร่างกายหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมา
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ยารักษาโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ ยารักษาความผิดปกติทางอารมณ์ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาหากผู้ป่วยมีประวัติทางสุขภาพหรือมีอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือด โรคเลือดหรือการแข็งตัวของเลือด โรคเบาหวาน โรคไต มีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารหรือลำไส้ทะลุ ไอเป็นเลือด มะเร็งที่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะส่วนอื่น ๆ หรือเคยรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiotherapy) บริเวณหน้าอกหรือกระดูกเชิงกรานด้านซ้าย
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา Bevacizumab หากยังมีแผลที่ไม่หายจากการผ่าตัด เพิ่งมีอาการไอเป็นเลือด เข้ารับการผ่าตัดภายใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาหรือวางแผนจะผ่าตัดในอีก 4 สัปดาห์ รวมถึงรักษาทางทันตกรรมใด ๆ เพราะตัวยาอาจส่งผลต่อการสมานแผล ทำให้มีเลือดออกหรือเกิดการติดเชื้อตามมาได้
- ยา Bevacizumab อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีเลือดออกง่ายกว่าปกติ ในระหว่างการใช้ยาควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือมีเลือดออกเพิ่มขึ้น และควรแปรงฟันหรือใช้มีดโกนด้วยความระมัดระวัง เพื่อลดโอกาสเกิดเลือดออกตามไรฟันหรือผิวหนัง ในกรณีที่มีเลือดไหลไม่หยุดหรือมีเลือดออกภายในร่างกาย ควรไปพบแพทย์ทันที
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยการตื่นตัวอยู่ตลอด เนื่องจากตัวยาอาจทำให้ง่วงนอนหรือหมดสติได้
- การใช้ยา Bevacizumab อาจส่งผลให้ผู้ป่วยหญิงมีปัญหารังไข่เสื่อมหรือหยุดทำงาน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากในอนาคต
- เนื่องจากตัวยา Bevacizumab อาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ ผู้ป่วยหญิงควรคุมกำเนิดในระหว่างที่ใช้ยานี้ ต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนหลังการใช้ยาครั้งสุดท้าย หากผู้ป่วยตั้งครรภ์ขณะใช้ยาควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว
- ผู้ป่วยที่ต้องการให้นมบุตร ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 6 เดือนหลังการใช้ยาครั้งสุดท้าย เพื่อความปลอดภัยต่อตัวเด็ก
ปริมาณการใช้ยา Bevacizumab
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้
มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม
ตัวอย่างการใช้ยา Bevacizumab เพื่อรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลาม
ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำร่วมกับยาแพคลิแทกเซล (Paclitaxel) ในปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 2 สัปดาห์ หรือ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 3 สัปดาห์ โดยการให้ยาครั้งแรกจะใช้เวลาประมาณ 90 นาทีขึ้นไป หลังจากนั้นอาจปรับเป็น 30 หรือ 60 นาทีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย
มะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก
ตัวอย่างการใช้ยา Bevacizumab เพื่อรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ขนาดไม่เล็ก
ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำร่วมกับยาคาร์โบพลาติน (Carboplatin) และยาแพคลิแทกเซลในปริมาณ 7.5 หรือ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 3 สัปดาห์ โดยการให้ยาครั้งแรกจะใช้เวลาประมาณ 90 นาทีขึ้นไป หลังจากนั้นอาจปรับเป็น 30 หรือ 60 นาทีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย
มะเร็งเนื้อเยื่อไตระยะลุกลามและระยะแพร่กระจาย
ตัวอย่างการใช้ยา Bevacizumab เพื่อรักษามะเร็งเนื้อเยื่อไตระยะลุกลามและระยะแพร่กระจาย
ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำร่วมกับยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon Alfa) ในปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 2 สัปดาห์ โดยการให้ยาครั้งแรกจะใช้เวลาประมาณ 90 นาทีขึ้นไป หลังจากนั้นอาจปรับเป็น 30 หรือ 60 นาทีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย
มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย
ตัวอย่างการใช้ยา Bevacizumab เพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแพร่กระจาย
ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำร่วมกับยาชนิดอื่น โดยปริมาณยาจะขึ้นอยู่กับยาที่นำมาใช้ร่วมกัน เช่น ใช้ยาปริมาณ 5 หรือ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 2 สัปดาห์ หรือใช้ยาปริมาณ 7.5 หรือ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลหรัม ทุก 3 สัปดาห์ โดยการให้ยาครั้งแรกจะใช้เวลาประมาณ 90 นาทีขึ้นไป หลังจากนั้นอาจปรับเป็น 30 หรือ 60 นาทีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย
มะเร็งปากมดลูก
ตัวอย่างการใช้ยา Bevacizumab เพื่อรักษามะเร็งปากมดลูก
ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำร่วมกับยาแพคลิแทกเซลและยาซิสพลาติน (Cisplatin) หรือยาแพคลิแทกเซลและยาโทโพทีแคน (Topotecan) ในปริมาณ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลหรัม ทุก 3 สัปดาห์ โดยการให้ยาครั้งแรกจะใช้เวลาประมาณ 90 นาทีขึ้นไป หลังจากนั้นอาจปรับเป็น 30 หรือ 60 นาทีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย
เนื้องอกไกลโอบลาสโตมา
ตัวอย่างการใช้ยา Bevacizumab เพื่อรักษาเนื้องอกไกลโอบลาสโตมา
ผู้ใหญ่ หยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 2 สัปดาห์ โดยการให้ยาครั้งแรกจะใช้เวลาประมาณ 90 นาทีขึ้นไป หลังจากนั้นอาจปรับเป็น 30 หรือ 60 นาทีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย
การใช้ยา Bevacizumab
เนื่องจากแพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้หยดยา Bevacizumab เข้าสู่กระแสเลือดให้แก่ผู้ป่วย ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาลอย่างเคร่งครัด โดยควรมาพบแพทย์ให้ตรงตามนัดหมายทุกครั้ง หากพบความผิดปกติในระหว่างหรือหลังการหยดยา ควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ มีเหงื่อออก สั่น หน้าแดง ผื่นคัน ปวดศีรษะ หายใจไม่อิ่ม หรือเจ็บหน้าอก
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Bevacizumab
การใช้ยาบีวาซิซูแมบอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีอาการบวมแดงบริเวณผิวหนังที่ฉีด เลือดกำเดาไหล ถ่ายเป็นเลือด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย ท้องผูก เบื่ออาหาร ตาแห้งหรือน้ำตาไหล ผิวแห้งหรือเป็นขุย รสชาติในปากเปลี่ยนแปลงไป ผมร่วง หรือมีปัญหาในการนอนหลับ ซึ่งหากมีอาการแย่ลงหรือไม่หายไป ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์
ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือพบได้ยากต่อไปนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหรือรีบไปพบแพทย์ทันที
- มีสัญญาณอาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ ผื่นตามผิวหนัง หายใจลำบาก เวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ
- เลือดออกผิดปกติ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกทางช่องคลอด หรือประจำเดือนมามาก เลือดไม่หยุดไหล เกิดรอยช้ำง่าย รวมถึงสัญญาณของเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้องรุนแรง อุจจาระเป็นเลือดหรือคล้ายยางมะตอย ปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีแดง ชมพู หรือน้ำตาลเข้ม ไอเป็นเลือด หรืออาเจียนออกมาคล้ายกากกาแฟ รวมถึงสัญญาณของเลือดออกในสมอง เช่น ชาหรืออ่อนแรงฉับพลัน ปวดศีรษะรุนแรงฉับพลัน และมีปัญหาด้านการมองเห็นหรือการทรงตัว
- ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดช่องทะลุระหว่างเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ (Fistula) เช่น ลำคอ ปอด ถุงน้ำดี ไต กระเพาะปัสสาวะหรือช่องคลอด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดท้อง ท้องบวม กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ รู้สึกจะสำลักหรือมีอาหารติดอยู่ที่คอขณะรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ
- มีอาการของโรคทางระบบประสาทและสมองที่รุนแรง แต่มักพบได้น้อยมาก เช่น อ่อนแรงหรือเหนื่อยล้าอย่างมาก ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน มีปัญหาด้านการมองเห็น หมดสติ หรือชัก เป็นต้น
- แขนและขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างบวม แดง ปวด หรือรู้สึกอุ่น
- เจ็บหรือแน่นหน้าอก อาการปวดลามไปยังขากรรไกรหรือหัวไหล่ หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงหวีด
- ประจำเดือนไม่มาตามปกติหรือประจำเดือนขาด
- ช่องคลอดมีกลิ่นหรือเหม็นคาว ระคายเคืองหรือเจ็บบริเวณช่องคลอดและทวารหนัก
- มีปัญหาเกี่ยวกับไต อาจทำให้เกิดอาการตาบวม ข้อเท้าหรือฝ่าเท้าบวม และปัสสาวะเป็นฟอง
- มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อาจทำให้รู้สึกหายใจไม่อิ่ม หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- มีระดับเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจทำให้มีไข้ แผลในปาก แผลที่ผิวหนัง เจ็บคอ ไอ และมีปัญหาในการหายใจ
- มีระดับความดันโลหิตสูงขึ้น อาจทำให้ปวดศีรษะรุนแรง มองเห็นเป็นภาพเบลอ หรือชีพจรเต้นตุบ ๆ บริเวณคอหรือในหู
- มีสัญญาณของการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น ผิวหนังบวม แดง คัน หรือมีเลือดซึมอย่างฉับพลัน แผลที่ผิวหนังหรือแผลผ่าตัดไม่หายดี
หากผู้ป่วยพบความผิดปกติอื่นใดในระหว่างการใช้ยา Bevacizumab หรือกระบวนการรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจต้องวางแผนการรักษา ปรับปริมาณยาที่ใช้อยู่ รวมถึงขอรับคำแนะนำในการรับมือกับอาการที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและถูกวิธี