ความหมาย ประจำเดือนมามาก
ประจำเดือนมามาก ปัญหาสุขภาพที่ผู้หญิงควรรู้
ประจำเดือนมามาก คือ ภาวะที่มีเลือดประจำเดือนไหลออกมามากเกินไป จัดเป็นภาวะที่ไม่ปกติ โดยผู้หญิงจำนวน 1 ใน 3 ต้องเข้ารับการรักษาสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมามาก เนื่องจากการมีประจำเดือนมากเกินไปส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งอาจเป็นอาการหรือสัญญาณของปัญหาสุขภาพต่าง ๆ
ผู้ที่ประจำเดือนมามากมักมีลักษณะ ดังนี้
- ประจำเดือนมามากกว่า 7 วัน
- มีเลือดรอบเดือนมากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยชั่วโมงละหลายครั้งติดต่อกันหลายชั่วโมง
- จำเป็นต้องใส่ผ้าอนามัยครั้งละมากกว่า 2 ชิ้น เพื่อซับเลือดรอบเดือน
- ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยระหว่างนอนหลับตอนกลางคืน
- มีลิ่มเลือดไหลออกมากับเลือดประจำเดือน โดยลิ่มเลือดมีขนาดใหญ่
- รู้สึกเหนื่อยหรือหายใจหอบ
- มีเลือดออกระหว่างรอบเดือน หรือมีเลือดออกหลังเข้าวัยทอง
ประจำเดือนมามากเกิดจากอะไร ?
ประจำเดือนมามากเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ประสบภาวะนี้มักประสบปัญหาฮอร์โมนไม่สมดุล รังไข่ทำงานผิดปกติ เกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมดลูก ได้รับภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ดังนี้
- ฮอร์โมนไม่สมดุล ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่สมดุลจะช่วยสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นมา โดยเยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัวกลายเป็นเลือดประจำเดือนในกรณีที่ไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ หากฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล จะส่งผลให้สร้างเยื่อบุโพรงมดลูกมากเกินไป ซึ่งทำให้มีเลือดประจำเดือนมาก ทั้งนี้ หากร่างกายไม่ตกไข่ตามปกติ ก็ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนไม่สมดุล และสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกหนาเกินไปจนทำให้ประจำเดือนมามากได้
-
เกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมดลูก ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมดลูกนั้นมีหลายอย่าง ผู้ที่ประจำเดือนมามากอาจประสบภาวะสุขภาพต่อไปนี้
- เนื้องอกในมดลูก เนื้องอกในมดลูกไม่ใช่เนื้อร้ายที่เป็นโรคมะเร็ง โดยเนื้องอกเจริญขึ้นภายในเยื่อบุโพรงมดลูกหรือมดลูก ส่งผลให้ผู้ที่เกิดเนื้องอกบริเวณดังกล่าวมีประจำเดือนมามากหรือมีประจำเดือนนานกว่าปกติ
- มะเร็ง มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งรังไข่ ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดประจำเดือนมากกว่าปกติ อย่างไรก็ดี ผู้ที่ประจำเดือนมามากจากสาเหตุนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ภาวะนี้จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของรังไข่ ทำให้รอบเดือนมาไม่ปกติและประจำเดือนมามากเมื่อกลับมามีรอบเดือนตามปกติ
- อุ้งเชิงกรานอักเสบ ผู้ป่วยโรคนี้เกิดการติดเชื้อที่ระบบสืบพันธุ์ส่วนบน ได้แก่ มดลูก ท่อนำไข่ หรือรังไข่ มักเกิดอาการปวดท้อง รวมทั้งมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์หรือระหว่างช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในเนื้อมดลูก (Adenomyosis) ภาวะนี้เกิดจากต่อมของเยื่อบุมดลูกเข้าไปฝังตัวที่กล้ามเนื้อมดลูก ส่งผลให้ผู้ป่วยมีเลือดประจำเดือนมากรวมทั้งปวดท้องประจำเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญในเนื้อมดลูกมีแนวโน้มเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยกลางคนที่เคยมีบุตร
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นอกมดลูก (Endometriosis) ภาวะนี้คือภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกขนาดเล็กเจริญภายนอกมดลูก เช่น ท่อนำไข่ รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ หรือช่องคลอด ส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงปวดท้องประจำเดือนได้
- ติ่งเนื้อที่ปากมดลูกหรือโพรงมดลูก ติ่งเนื้อคือเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้าย โดยจะเจริญขึ้นที่เยื่อบุโพรงมดลูกหรือปากมดลูก
- ได้รับภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ สตรีมีครรภ์ที่มีเลือดออกจากช่องคลอดมากอาจเกิดจากภาวะแท้งหรือภาวะท้องนอกมดลูกได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวเสี่ยงทำให้เกิดอาการประจำเดือนมามากได้ไม่บ่อยนัก
- เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ยารักษาโรคบางอย่างก่อให้เกิดอาการประจำเดือนมามาก ซึ่งประกอบด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาสำหรับใช้ทำเคมีบำบัดบางตัว ยาต้านอักเสบ หรือห่วง อนามัยสำหรับคุมกำเนิด
- ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางชนิดอาจมีเลือดประจำเดือนมามาก เช่น ไฮโปไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือโรคที่เกี่ยวกับตับและไต
ประจำเดือนมามากตรวจหาสาเหตุและรักษาได้อย่างไร ?
ผู้ที่ประสบภาวะประจำเดือนมามาก ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจสำหรับวินิจฉัยสาเหตุอาการดังกล่าว รวมทั้งเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งทำได้ ดังนี้
-
การตรวจหาสาเหตุของประจำเดือนมามาก ผู้ที่มีประจำเดือนมามากจะได้รับการตรวจ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของภาวะดังกล่าว โดยต้องเข้ารับการตรวจต่อไปนี้
- ตรวจเลือด แพทย์จะเจาะตัวอย่างเลือดผู้ป่วย เพื่อนำไปตรวจหาปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นสาเหตุของประจำเดือนมามาก เช่น ภาวะโลหิตจาง ปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์ หรือความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
- ตรวจภายใน แพทย์จะนำตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูกผู้ป่วยไปทดสอบ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ อาการอักเสบ หรือความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่อาจเป็นมะเร็งหรือก่อให้เกิดมะเร็ง
- ดูดชิ้นเนื้อในโพรงมดลูก แพทย์จะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อจากเยื่อบุโพรงมดลูกไปตรวจหามะเร็งหรือความผิดปกติของเซลล์ โดยการตรวจดังกล่าวใช้เวลาไม่นาน ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดบีบคล้ายปวดท้องประจำเดือนขณะที่แพทย์นำตัวอย่างเนื้อเยื่อออกมา อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวจะหายไปหลังจากได้ตัวอย่างเนื้อเยื่อเรียบร้อยแล้ว
- อัลตราซาวด์ วิธีนี้จะใช้คลื่นเสียงประมวลภาพภายในมดลูก รังไข่ และอุ้งเชิงกรานของผู้ป่วย ซึ่งใช้ตรวจดูลักษณะโครงสร้างหรือก้อนเนื้องอกภายในอวัยวะดังกล่าว
-
ตรวจเพิ่มเติม แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วยในกรณีที่ได้รับผลการตรวจข้างต้นแล้ว ดังนี้
- อัลตราซาวด์ดูภาพแบบ Sonohysterogram แพทย์จะต่อท่อที่ช่องคลอดและปากมดลูกผู้ป่วย เพื่อฉีดของเหลวผ่านเข้าไป จากนั้นจะทำอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูว่าเยื่อบุโพรงมดลูกของผู้ป่วยเกิดความผิดปกติหรือไม่ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดบีบในระดับอ่อนหรือค่อนข้างรุนแรงระหว่างเข้ารับการตรวจ
- ส่องกล้องในโพรงมดลูก แพทย์จะสอดกล้องส่องขนาดเล็กตรงช่องคลอดหรือปากมดลูกผ่านเข้าไปภายในมดลูก เพื่อตรวจเนื้องอก ติ่งเนื้อ หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดเลือดออก ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับยาระงับความรู้สึกหรือยาชาเฉพาะที่ก่อนเข้ารับการตรวจ
- ขูดมดลูก วิธีนี้ใช้ตรวจและรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเลือดออกจากช่องคลอด โดยแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาชาแก่ผู้ป่วย จากนั้นจะขูดเยื่อบุมดลูก เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดประจำเดือนมามาก
-
การรักษาภาวะประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมามากนับเป็นปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าวดูแลรักษาอาการที่เกิดขึ้นได้ โดยแบ่งออกเป็นวิธีดูแลรักษาด้วยตนเอง และวิธีรักษาทางการแพทย์ ดังนี้
-
วิธีดูแลรักษาด้วยตนเอง ผู้ที่มีประจำเดือนมามากสามารถดูแลอาการด้วยตนเองได้ ดังนี้
- ประคบเย็น นำห่อน้ำแข็งหรือห่อสำหรับประคบเย็นมาวางประคบที่ท้องครั้งละ 20 นาที โดยประคบวันละหลายครั้งเมื่อมีเลือดประจำเดือนออกมามาก
- รับประทานวิตามิน ควรรับประทานอาหารเสริมวิตามินซี เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างหลอดเลือดให้แข็งแรง
- รับประทานธาตุเหล็ก งานวิจัยบางชิ้นได้แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีระดับธาตุเหล็กในร่างกายต่ำจะมีเลือดรอบเดือนมาก ส่วนผู้ที่รับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กจะช่วยลดอาการประจำเดือนมามากได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานยาหรืออาหารเสริมสำหรับรักษาอาการดังกล่าวด้วยตนเอง
-
วิธีรักษาทางการแพทย์ ผู้ที่ประจำเดือนมามากควรพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาภาวะดังกล่าวอย่างถูกต้อง โดยวิธีรักษาทางการแพทย์นั้นประกอบด้วยการรักษาด้วยยา และการรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์ ดังนี้
-
การรักษาด้วยยา ส่วนใหญ่แล้ว แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาสำหรับรักษาภาวะประจำเดือนมามากเป็นอันดับแรก ก่อนรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์ โดยจะสั่งจ่ายยาให้เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพผู้ป่วย ดังนี้
- ยาต้านอักเสบชนิดไม่ผสมสเตียรอยด์ ยาที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มีหลายตัว ได้แก่ นาพรอกเซน ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค และเมเฟนามิค โดยมีฤทธิ์ลดระดับโพรสตาแกลนดิน ซึ่งเป็นสารเคมีคล้ายฮอร์โมน ทั้งนี้ งานวิจัยบางชิ้นพบว่ายากลุ่มนี้ลดอาการเลือดออกได้ประมาณร้อยละ 25-35
- ยาคุมกำเนิด ยานี้ลดเลือดประจำเดือนได้มากถึงร้อยละ 60 เนื่องจากยาคุมกำเนิดมีสรรพคุณป้องกันการตกไข่และไม่ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างยาเมเฟนามิค นาพรอกเซน ดานาซอล และยาคุมกำเนิด พบว่ายา 4 ตัวลดอาการเลือดออกจากช่องคลอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ยาโปรเจสติน แพทย์มักสั่งจ่ายยานี้สำหรับรักษาประจำเดือนมามาก โดยโปรเจสตินมีฤทธิ์ลดประสิทธิภาพของเอสโตรเจนในร่างกาย ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวช้า อย่างไรก็ตาม โปรเจสตินก่อให้ผลข้างเคียงแก่ผู้ใช้ ได้แก่ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ปวดศีรษะ เกิดอาการบวม หรือรู้สึกซึมเศร้า
- ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง (Gonadotropin-Releasing Hormone Agonists) ยานี้ใช้รักษาอาการประจำเดือนมามากได้อย่างมีประสิทธิภาพ มักใช้รักษาผู้ป่วยระยะสั้นเท่านั้น (น้อยกว่า 6 เดือน) เนื่องจากมีราคาแพง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง และอาจนำไปสู่ภาวะกระดูกพรุนได้ในกรณีที่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ยังใช้ลดขนาดเนื้องอก โดยเนื้องอกจะกลับมามีขนาดเท่าเดิมหากหยุดใช้ยา
- ยาดานาซอล ยานี้เป็นรูปแบบยาของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน ช่วยยับยั้งการทำงานของเอสโตรเจนในร่างกาย ส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาประมาณ 4-6 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ยาดานาซอลก่อให้เกิดผลข้างเคียง เกิดสิว และลดขนาดหน้าอก
- ยาเดสโมเพรสซิน ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับเลือดออกควรใช้ยานี้ เพื่อลดอาการเลือดออกผิดปกติ โดยตัวยาจะปล่อยโปรตีนไปเก็บไว้ตามผนังหลอดเลือด เพื่อสร้างลิ่มเลือดและเพิ่มระดับโปรตีนในเลือด
- ยาต้านการสลายลิ่มเลือด ยานี้ใช้ลดอาการเลือดออก รวมทั้งยับยั้งการสลายลิ่มเลือด ควรใช้ยานี้เมื่อเกิดเลือดออก โดยยาที่อยู่ในกลุ่มยาต้านการสลายลิ่มเลือดนั้นมีกรดทราเนซามิค (Tranexamic Acid) และกรดอะมิโนคาโปรอิก (Aminocaproic Acid)
- ห่วงอนามัยคุมกำเนิด วิธีนี้ช่วยให้เยื่อบุโพรงมดลูกบาง ส่งผลให้มีเลือดประจำเดือนและอาการปวดท้องน้อยลง เนื่องจากห่วงอนามัยหลั่งสารโปรเจสตินชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ออกมา
-
การรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์ ผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์ตามแต่กรณี ดังนี้
- ตัดมดลูก วิธีนี้จะช่วยรักษาภาวะประจำเดือนมามากได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแพทย์จะผ่าตัดมดลูกออกไปทั้งหมด ส่งผลให้มีประจำเดือนไม่ได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ประจำเดือนมามากร้อยละ 75-80 ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดดังกล่าว อีกทั้งวิธีนี้จำเป็นต้องพักรักษาตัวนานหลายอาทิตย์ และเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก
- ผ่าตัดส่องกล้อง ผู้ป่วยเนื้องอกมดลูกหรือเลือดออกจากช่องคลอดอันเกิดจากเนื้องอกบางราย สามารถเข้ารับการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อรักษาอาการป่วยที่เกิดขึ้นได้
- ทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก แพทย์จะฉีดยาชาให้ผู้ป่วย และทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยวิธีต่าง ๆ ได้แก่ การแช่แข็ง กระแสไฟฟ้า คลื่นไมโครเวฟ คลื่นความถี่วิทยุ หรือน้ำร้อน ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วหลังเข้ารับการผ่าตัด วิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาประจำเดือนมามากโดยไม่ต้องผ่าตัดนำมดลูกออกไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ตั้งครรภ์ เนื่องจากจะเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้สูง การทำหมันนับเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ที่เข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้
- ผ่าตัดเยื่อบุโพรงมดลูก แพทย์จะใช้ขดลวดไฟฟ้าผ่าตัดเยื่อบุโพรงมดลูกออกไป ซึ่งช่วยรักษาอาการประจำเดือนมามากได้ อย่างไรก็ดี ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเยื่อบุโพรงมดลูกไม่ควรตั้งครรภ์เช่นเดียวกับผู้ที่เข้ารับการทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก
- ขูดมดลูก แพทย์จะใช้อุปกรณ์ขูดมดลูกเปิดปากมดลูกและขูดหรือดูดเนื้อเยื่อจากเยื่อบุมดลูกออกมา เพื่อช่วยให้เลือดรอบเดือนลดลงเมื่อประจำเดือนมา ทั้งนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องขูดมดลูกซ้ำในกรณีที่เกิดประจำเดือนมามากซ้ำอีกครั้ง
- Uterine Artery Embolization วิธีนี้ใช้รักษาผู้ที่ประจำเดือนมามากอันเกิดจากเนื้องอก โดยแพทย์จะสอดท่อผ่านหลอดเลือดใหญ่ตรงต้นขาไปยังหลอดเลือดมดลูก เพื่อลดขนาดเนื้องอกให้เล็กลงด้วยการอุดหลอดเลือดในมดลูกและยับยั้งเลือดไม่ให้ไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าว
- Focused Ultrasound Ablation วิธีนี้จะใช้รักษาผู้ที่ประจำเดือนมามากอันเกิดจากเนื้องอก โดยแพทย์จะใช้คลื่นอัลตราซาวด์ทำลายเนื้อเยื่อของเนื้องอก เพื่อให้เนื้องอกลดลง
- ผ่าตัดก้อนเนื้องอก วิธีนี้ใช้ผ่าตัดนำเนื้องอกในมดลูกออกไป โดยแพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดแตกต่างกันไปตามขนาด จำนวน และบริเวณที่เกิดเนื้องอก เช่น ผ่าตัดเปิดท้อง ผ่าตัดส่องกล้องโดยเปิดแผลขนาดเล็ก หรือผ่าตัดผ่านช่องคลอดและปากมดลูก
-
การรักษาด้วยยา ส่วนใหญ่แล้ว แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาสำหรับรักษาภาวะประจำเดือนมามากเป็นอันดับแรก ก่อนรักษาด้วยกระบวนการทางการแพทย์ โดยจะสั่งจ่ายยาให้เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพผู้ป่วย ดังนี้
-
วิธีดูแลรักษาด้วยตนเอง ผู้ที่มีประจำเดือนมามากสามารถดูแลอาการด้วยตนเองได้ ดังนี้
ประจำเดือนมามากส่งผลเสียต่อสุขภาพได้อย่างไร ?
ประจำเดือนมามากอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ โดยผู้ที่มีเลือดรอบเดือนมากเกินไปหรือมีประจำเดือนในแต่ละรอบเดือนนานหลายวันจะเกิดปัญหาสุขภาพ ดังนี้
- ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ผู้ที่ประจำเดือนมามากเสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้ โดยจะมีระดับฮีโมโกลบินในเลือดต่ำ เนื่องจากธาตุเหล็กในร่างกายมีน้อย ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยจะเกิดอาการของโรคระดับอ่อน ได้แก่ ผิวซีด อ่อนเพลีย และเมื่อยล้า ส่วนผู้ป่วยที่เกิดอาการค่อนข้างรุนแรงหรือรุนแรงจะหายใจได้สั้น ๆ หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ และปวดศีรษะ
- ปวดท้องรุนแรง ผู้ที่ประจำเดือนมามากจะเกิดอาการปวดท้องร่วมด้วย โดยจะรู้สึกปวดบีบที่ท้องอย่างรุนแรง บางรายจำเป็นต้องใช้ยาหรือเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการดังกล่าว