ความหมาย ประสาทหูเสื่อม
ประสาทหูเสื่อม (Sensorineural Hearing Loss: SNHL) เกิดขึ้นเมื่อโครงสร้างภายในหูชั้นในหรือเส้นประสาทรับเสียงถูกทำลาย ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินหรือมีปัญหาในการฟัง โดยเป็นผลมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การได้ยินเสียงที่ดังมาก การถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือหูเสื่อมสภาพไปตามอายุที่มากขึ้น เป็นต้น
ภาวะประสาทหูเสื่อมถือเป็นต้นเหตุของการสูญเสียการได้ยินหรือหูตึงอย่างถาวรที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในช่วงวัยผู้ใหญ่ แม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่อาจเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันหรือการสื่อสารได้ ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงและเข้ารับการรักษา รวมถึงขอคำแนะนำในการป้องกันและดูแลตนเองอย่างถูกวิธี
อาการของประสาทหูเสื่อม
ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นกับหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างขึ้นอยู่กับสาเหตุของแต่ละคน ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงหากอาการเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยบางรายมีอาการประสาทหูเสื่อมอย่างเฉียบพลันภายในไม่กี่วันหรืออาจรู้สึกถึงความผิดปกติได้ทันทีตอนตื่นนอน โดยอาการของประสาทหูเสื่อมที่มักพบได้ เช่น
- ได้ยินเสียงในหูข้างหนึ่งดังกว่าอีกข้าง
- มีปัญหาในการได้ยินเสียงหากอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง หรือในสถานการณ์ที่มีผู้พูดหลายคน
- เข้าใจเสียงของผู้ชายได้ง่ายกว่าเสียงของเด็กและผู้หญิง
- มีปัญหาในการได้ยินเสียงสูง
- ได้ยินเสียงไม่ชัดหรือได้ยินเป็นเสียงอู้อี้
- เวียนศีรษะหรือมีปัญหาในการทรงตัว
- หูอื้อ
อย่างไรก็ตาม การสูญเสียการได้ยินนั้นอาจมีอาการเล็กน้อยจนถึงรุนแรงมากจนหูตึงอย่างถาวร โดยแบ่งระดับความรุนแรงได้ดังนี้
- สูญเสียการได้ยินเล็กน้อยจะไม่ได้ยินเสียงที่ดังประมาณ 26-40 เดซิเบล หรือเทียบได้กับเสียงกระซิบของคน
- สูญเสียการได้ยินปานกลางจะไม่ได้ยินเสียงที่ดังประมาณ 41-55 เดซิเบล หรือเทียบได้กับเสียงคนพูดโดยทั่วไป
- สูญเสียการได้ยินรุนแรงจะได้ยินเสียงที่ดังเกิน 71 เดซิเบลขึ้นไปไม่ชัด หรือเทียบได้กับเสียงคนตะโกน
สาเหตุของประสาทหูเสื่อม
ปกติแล้วภายในอวัยวะรับเสียงอย่างหูชั้นในจะประกอบไปด้วยเซลล์ขนหรือปลายประสาท ซึ่งทำหน้าที่แปลงสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้า จากนั้นเส้นประสาทรับเสียงจะส่งสัญญาณดังกล่าวไปยังสมอง ทำให้ได้ยินเสียงที่เกิดขึ้น แต่หากเซลล์หรือเส้นประสาทเหล่านี้ถูกทำลายหรือเกิดความเสียหายก็อาจเกิดปัญหาในการได้ยินเสียงหรือสูญเสียการได้ยินได้
โดยผู้ป่วยอาจมีประสาทหูเสื่อมตั้งแต่กำเนิดจากโรคทางพันธุกรรมหรือการติดเชื้อขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา อย่างโรคทอกโซพลาสโมซิส หัดเยอรมัน หรือเริม นอกจากนี้ ประสาทหูเสื่อมยังสามารถเกิดขึ้นภายหลังจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การได้ยินเสื่อมลงตามอายุโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ โรคหลอดเลือด โรคระบบภูมิคุ้มกัน การติดเชื้ออย่างเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือคางทูม โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เนื้องอกประสาทหู การใช้ยาบางชนิด การบาดเจ็บที่หู การได้ยินเสียงดังเกินกว่า 85 เดซิเบล หรือทำงานในที่เสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน ในบางกรณีก็อาจไม่ทราบสาเหตุที่แน่ใจ หากประสาทหูเสื่อมอย่างเฉียบพลันหรือมีอาการเกิดขึ้นภายใน 2-3 วัน อาจทำให้หูหนวกได้ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพรุนแรงที่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
การวินิจฉัยประสาทหูเสื่อม
เบื้องต้นแพทย์จะตรวจหูผู้ป่วยให้แน่ใจว่าเป็นประสาทหูเสื่อมจริง ควบคู่กับการตรวจหาอาการอักเสบ การสะสมของขี้หูและน้ำในหู หรือความเสียหายต่อแก้วหู นอกจากนั้นยังอาจใช้วิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การส้อมเสียง (Tuning Fork) ซึ่งเป็นการเคาะส้อมเสียงหรืออุปกรณ์ที่มีสองขาพร้อมด้ามจับ เพื่อคัดกรองการได้ยินเสียงเบื้องต้นและแยกประเภทของภาวะการได้ยินเสียงที่ลดลง หรือการตรวจการได้ยิน (Audiogram) โดยให้ผู้ป่วยสวมหูฟัง จากนั้นจะเปิดโทนเสียงหรือคำที่มีระดับความดังและความถี่แตกต่างกันให้หูแต่ละข้างฟัง เพื่อหาระดับเสียงที่ต่ำที่สุดและความถี่ที่ได้ยิน เป็นต้น
การรักษาประสาทหูเสื่อม
ในปัจจุบัน ผู้ป่วยประสาทหูเสื่อมยังไม่สามารถรักษาให้หายดีด้วยการผ่าตัด แต่ทำได้เพียงการใส่เครื่องช่วยฟัง ซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงขนาดเล็กที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงชัดเจนขึ้น และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้โดยไม่ติดขัด และการผ่าตัดประสาทหูเทียม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยฟังที่ต้องผ่าตัดแล้วฝังไว้ในอวัยวะรับเสียง โดยจะมีส่วนที่เป็นไมโครโฟนติดไว้หลังใบหู และส่วนตัวรับสัญญาณภายในหูที่จะช่วยแปลงสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้าก่อนจะส่งไปยังเส้นประสาทรับเสียง
ภาวะแทรกซ้อนของประสาทหูเสื่อม
ภาวะแทรกซ้อนของประสาทหูเสื่อมจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุการเกิดโรค แต่โดยทั่วไปแล้วมักส่งผลให้ผู้ป่วยภาวะนี้สูญเสียการได้ยินหรือหูตึงอย่างถาวรในที่สุด
การป้องกันประสาทหูเสื่อม
โดยธรรมชาติแล้ว อายุที่มากขึ้นนั้นก่อให้เกิดปัญหาประสาทหูเสื่อมได้เป็นธรรมดา แต่เราสามารถลดความเสียหายต่อหูชั้นในหรือเส้นประสาทรับเสียงได้ด้วยการดูแลสุขภาพหูอยู่เสมอ เช่น ปรับระดับความดังของเสียงให้ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ขณะใส่หูฟัง สวมที่อุดหูหากต้องทำงานหรืออยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังมากหรือเกินระดับ 75 เดซิเบล ซึ่งเป็นระดับเสียงที่ปลอดภัยสำหรับการได้ยินของคนเรา ทดสอบสมรรถภาพทางการได้ยินเป็นประจำ หรือไปปรึกษาแพทย์หากพบความผิดปกติภายในหู เป็นต้น