ความหมาย ปวดกระดูก
ปวดกระดูก (Bone Pain) เป็นภาวะที่เกิดอาการปวด กดแล้วเจ็บอย่างรุนแรง หรือรู้สึกไม่สบายตัวบริเวณกระดูก ทั้งในขณะเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย อาจเกิดจากการบาดเจ็บ การขาดวิตามิินหรือแร่ธาตุบางชนิด รวมถึงป่วยด้วยลูคีเมียและมะเร็งชนิดอื่น ๆ การรักษาส่วนใหญ่จะใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการ และรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ตามสาเหตุ
อาการปวดกระดูก
อาการที่พบได้บ่อย คือ รู้สึกไม่สบายตัว หรือเจ็บปวดบริเวณกระดูก ไม่ว่าผู้ป่วยจะเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่ โดยอาการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ปวดกระดูก ได้แก่
- การบาดเจ็บ อาจทำให้เกิดอาการบวม กระดูกหัก กระดูกผิดรูป หรือมีเสียงกระดูกดังขึ้นขณะได้รับบาดเจ็บ
- การขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม และวิตามินดีอาจทำให้ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ ตะคริว อ่อนเพลีย และหมดแรง
- มะเร็งกระดูก อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้กระดูกแตก คลำพบก้อนใต้ผิวหนัง มีอาการชา หรือมีการกดเบียดเส้นประสาทร่วมด้วย
- มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูก อาการขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เป็นมะเร็งเริ่มแรก และบริเวณที่มีการแพร่กระจายด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก ดีซ่าน ท้องบวม กระดูกหัก ชัก เป็นต้น
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวลูคีเมีย (Leukemia) อาจทำให้อ่อนเพลีย ผิวซีด หายใจตื้น เหงื่อออกเวลากลางคืน น้ำหนักลดลงไม่ทราบสาเหตุ และมักมีอาการปวดกระดูกโดยเฉพาะบริเวณขา
- โรคที่ขัดขวางไม่ให้เลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงกระดูก อาจทำให้ปวดข้อ หรือร่างกายอ่อนแอ
- การติดเชื้อ อาจทำให้ผิวหนังบวมแดง เป็นรอย รู้สึกอุ่น ๆ บริเวณที่ติดเชื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และเคลื่อนไหวลำบาก
อย่างไรก็ตาม อาการปวดกระดูกอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้ หากผู้ป่วยปวดกระดูกโดยหาสาเหตุไม่ได้ และอาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านไป 2-3 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปวดกระดูกร่วมกับมีอาการอ่อนล้า ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
สาเหตุของปวดกระดูก
ปวดกระดูกอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
- การบาดเจ็บ เป็นสาเหตุทีี่พบบ่อย เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ หกล้ม หรือใช้งานกระดูกบริเวณนั้นหนักเกินไป ซึ่งแรงกระแทกอาจทำให้กระดูกแตกหรือหักได้
- การขาดแร่ธาตุบางชนิด โดยปกติกระดูกต้องการแร่ธาตุและวิตามินที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ได้แก่ แคลเซียม และวิตามิน ดี หากร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้ มักนำไปสู่โรคกระดูกพรุนซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการปวดกระดูกเกิดขึ้นได้
- มะเร็ง ทำให้ปวดกระดูกได้ หลังมะเร็งลุกลามเข้าทำลายโครงสร้างของกระดูก เช่น มะเร็งกระดูก มะเร็งเม็ดเลือดขาวลูคีเมียที่เกิดในไขกระดูก และมะเร็งในระยะลุกลามที่เกิดขึ้นในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย แล้วแพร่กระจายไปยังกระดูก
- โรคหรือภาวะที่ขัดขวางไม่ให้เลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงกระดูก เช่น โรคเลือดจางชนิด (Sickle Cell Anemia) หรือการใช้ยาสเตียรอยด์ อาจทำให้ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงกระดูกอย่างสม่ำเสมอ จนเนื้อเยื่อกระดูกเริ่มตาย ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง และเกิดอาการปวดกระดูก
- การติดเชื้อ ทั้งการติดเชื้อที่กระดูก หรือลุกลามมายังกระดูก อาจทำให้เกิดภาวะรุนแรง เช่น กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อที่ทำลายเซลล์กระดูก และทำให้เกิดอาการปวดกระดูก
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่จัด และการดื่มสุรา อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุน เมื่อกระดูกเกิดความเสียหาย อาจทำให้กระดูกเปราะ แตกหักง่าย และนำไปสู่อาการปวดกระดูกได้เช่นกัน
การวินิจฉัยปวดกระดูก
แพทย์จะวินิจฉัยจากการซักประวัติ สอบถามอาการ และตรวจร่างกาย จากนั้น แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการต่อไปนี้
- เอกซเรย์กระดูก เอ็มอาร์ไอ สแกน (Magnetic Resonance Imaging: MRI) และซีที สแกน (Computerized Tomography: CT-Scan) จะแสดงภาพอวัยวะภายใน ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินการบาดเจ็บ ตรวจหารอยโรคกระดูก และเนื้องอกภายในกระดูกได้
- ตรวจเลือด เพื่อตรวจหาภาวะขาดวิตามินหรือแร่ธาตุ ตรวจหาสัญญาณมะเร็ง ตรวจหาการติดเชื้อ และตรวจความผิดปกติของต่อมหมวกไตที่อาจเกี่ยวข้องกับกระดูก เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง (CBC) และตรวจนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาว (Blood Differential)
- ตรวจปัสสาวะ จะช่วยตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในไขกระดูก รวมไปถึงโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา (Multiple Myeloma) ซึ่งตรวจพบได้จากความผิดปกติของโปรตีนในปัสสาวะ
การรักษาปวดกระดูก
อาการปวดกระดูกจะรักษาตามสาเหตุ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยพักผ่อน หรือหยุดใช้อวัยวะบริเวณที่เกิดปัญหา รวมถึงอาจให้ยาบรรเทาปวด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดปานกลางไปจนถึงรุนแรง
- ปวดกระดูกจากการติดเชื้อ แพทย์อาจเริ่มต้นรักษาด้วยการให้ยาปฎิชีวนะ เช่น ยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) และยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) หรือให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ
- ปวดกระดูกจากโรคกระดูกพรุน อาจต้องได้รับแคลเซียมและวิตามิน ดี เพิ่ม แพทย์อาจให้อาหารเสริมเพื่อรักษาภาวะขาดวิตามินและแร่ธาตุ โดยอาหารเสริมจะมีทั้งรูปแบบ ของเหลว แบบเม็ด หรือแบบเคี้ยว
- ปวดกระดูกจากมะเร็ง แพทย์ต้องรักษามะเร็งที่เป็นสาเหตุก่อน จึงจะบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นได้ การรักษามะเร็งโดยทั่วไป ได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี และเคมีบำบัด ส่วนผู้ป่วยมะเร็งกระดูกระยะลุกลาม แพทย์อาจใช้กลุ่มยาบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) และกลุ่มยาโอปิแอต (Opiate) เพื่อช่วยไม่ให้กระดูกถูกทำลายและบรรเทาอาการปวดกระดูก
นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางรายที่กระดูกตายจากการติดเชื้อ อาจต้องรับการผ่าตัดนำกระดูกที่ตายออก แล้วจัดการกับกระดูกที่หัก หรือผ่าตัดเอาเนื้องอกมะเร็งออก และแพทย์อาจต้องผ่าตัดตกแต่งเสริมในผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรงและถูกจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างมาก โดยอาจให้ผู้ป่วยใช้ข้อเทียมแทน เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก
ภาวะแทรกซ้อนของปวดกระดูก
อาการปวดกระดูกมีภาวะแทรกซ้อนที่แตกต่างกันตามโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น
- ปวดกระดูกจากมะเร็งกระดูกอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น กระดูกแตก ระดับแคลเซียมในเลือดเพิ่มขึ้น กระดูกอักเสบ หรือมะเร็งแพร่กระจายลุกลามไปทั่วร่างกาย
- ปวดกระดูกจากโรคโลหิตจาง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อ่อนเพลียอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติหรือเต้นผิดจังหวะ หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
- ปวดกระดูกจากกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis) อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคข้ออักเสบติดเชื้อ (Septic Arthritis) ภาวะกระดูกตาย (Osteonecrosis) การเจริญเติบโตในเด็กบกพร่อง หรือเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง หากกระดูกอักเสบทำให้เกิดแผลมีหนองที่ผิวหนังด้วย
การป้องกันปวดกระดูก
การรักษาความแข็งแรงให้กระดูกมีสุขภาพดี อาจช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของอาการปวดกระดูกได้ เช่นก่
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณกระดูก ป้องกันการหกล้ม จัดเก็บสิ่งของที่เกะกะทางเดิน จัดการพรมที่อาจทำให้ลื่นล้ม หรือทำให้ทางเดินมีแสงสว่างเพียงพอ
- สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายให้เรียบร้อย หากต้องทำกิจกรรม ออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการกระแทก
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ และระมัดระวังไม่ให้กระดูกทำงานหนัก หรือรับแรงกระแทกมากเกินไป
- ให้ร่างกายได้รับแคลเซียมและวิตามิน ดีอย่างเพียงพอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูงในปริมาณที่เหมาะสม และให้ร่างกายได้รับแสงแดดอย่างพอดี
หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณในการดื่มตามคำแนะนำจากแพทย์