ความหมาย ปวดกราม
อาการปวดกรามนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะเกิดจากปัญหาในช่องปาก หู โพรงจมูกหรือความผิดปกติของขากรรไกร อาการปวดกรามมักส่งผลให้ผู้ป่วยพูดหรือกินลำบากเวลาที่ต้องขยับปากหรืออ้าปาก อาการปวดอาจเพิ่มมากขึ้นหรืออาจปวดไปถึงบริเวณหู หากมีอาการรุนแรง ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
อาการปวดกราม
อาการปวดกรามอาจปรากฏได้หลายลักษณะ ผู้ป่วยอาจปวดข้างเดียวหรือปวดทั้ง 2 ข้าง บางครั้งอาจแสดงอาการเมื่อเคี้ยวอาหาร หรืออาจมีเสียงดังคลิก (Clicking) เวลาอ้าปากหรือขยับขากรรไกร ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยเช่น
- ปวดศีรษะบ่อย ๆ หรือปวดใบหน้า
- ปวดกรามลามไปถึงบริเวณหู
- ทำให้ขยับหรืออ้าปากลำบาก
- รู้สึกตึงบริเวณกราม
- มีอาการกดเจ็บที่ขากรรไกร
- ปวดกรามรุนแรงทันทีเมื่อต้องเคี้ยวหรือกัด
สาเหตุของอาการปวดกราม
อาการปวดกรามอาจเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อ การนอนกัดฟัน หรือการบดฟัน เป็นต้น หากผู้ป่วยเคยได้รับบาดเจ็บหรือเคยได้รับความเสียหายบริเวณขากรรไกรมาก่อน เช่น กระดูกขากรรไกรหัก หรือขากรรไกรเคลื่อน ก็อาจทำให้ปวดกรามได้ หรือเกิดจากโรคต่าง ๆ ดังนี้
- ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint and Muscle Disorder: TMD) นับว่าเป็นสาเหตุหลัก ๆ ของอาการปวดกราม TMD เป็นความผิดปกติของกระดูกข้อต่อหรือกล้ามเนื้อขากรรไกร อาจเกิดได้จากการนอนกัดฟัน โดยมักสัมพันธ์กับความเครียด การบดเคี้ยวอาหารมากเกินไป และอาจเกิดจากการบาดเจ็บทางกีฬา หากมีความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร จะทำให้ปวดบริเวณหน้า หู กรามหรือขมับ อาการปวดที่พบมักเป็นการปวดแบบ ตื้อ ๆ ตุบ ๆ หรือแปลบ ๆ ในบางครั้ง อาจปวดร้าวไปที่คอ ไหล่ และหลัง และมักปวดเพิ่มขึ้นขณะขากรรไกรทำหน้าที่ เช่น การเคี้ยว การหาว การพูด รวมถึงเมื่อทำการกดที่บริเวณนั้น ๆ นอกจากนั้นยังทำให้มีเสียงเกิดขึ้นที่ข้อต่อขากรรไกรในขณะที่อ้าปากและหุบปาก ลักษณะเสียงที่ขากรรไกรที่พบได้บ่อยคือเสียงคลิกและเสียงกรอบแกรบ นอกจากนั้นยังทำให้อ้าปากได้จำกัด บางรายอาจมีอาการขากรรไกรค้างหรือมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวร่วมด้วย
- โรคหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดอาจมีอาการปวดในบริเวณอื่น ๆ รอบ ๆ หน้าอกได้เช่นคอ หลัง แขน หรือกราม หากมีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เจ็บบริเวณอกด้านซ้าย ก็จะมีอาการปวดกรามเกิดขึ้นด้วย หากเหงื่อออก คลื่นไส้ แน่นหน้าอกหรือเป็นลมร่วมด้วย ควรรีบโทรเรียกรถพยาบาลให้มารับโดยทันที
- ไซนัสอักเสบ ผู้ป่วยอาจมีน้ำมูกหรือหนองซึ่งไปสร้างแรงกดบริเวณขากรรไกรเพราะโพรงอากาศจมูกนั้นอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กัน จึงอาจทำให้ปวดกรามได้
- ปวดหัวคลัสเตอร์หรือปวดหัวเป็นชุด ๆ (Cluster Headaches) ผู้ป่วยมักปวดหัวข้างเดียวและปวดบริเวณรอบ ๆ ดวงตาทำให้อาการปวดอาจลามไปถึงกรามได้
- โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia) เป็นภาวะที่เกิดจากการบีบของเส้นประสาท ส่งผลให้มีอาการปวดบนใบหน้ารวมไปถึงกรามบนและกรามล่างด้วย
- ปวดฟัน ในบางกรณีที่อาการปวดฟันนั้นรุนแรงมากหรือฟันเป็นหนองได้รับการติดเชื้อ ความปวดจะลามมายังบริเวณกราม
- ได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดูกข้อต่อขากรรไกร เช่น กระดูกหัก หรือกระดูกขากรรไกรเคลื่อน
- ข้อต่อขากรรไกรคลายตัว ขณะที่ตั้งครรภ์ สารรีแลกซิน (Relaxin) จะหลั่งออกมา ทำให้ขากรรไกรคลายตัวลงและเป็นสาเหตุของอาการปวดกราม
การวินิจฉัยอาการปวดกราม
อาการปวดกรามเกิดได้จากหลายสาเหตุซึ่งอาจส่งผลให้แพทย์วินิจฉัยอาการได้ยาก ในเบื้องต้นแพทย์อาจซักถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เช่น ฟังเสียงคลิกหรือเสียงเป๊าะ (Popping) เวลาผู้ป่วยขยับปาก หรือตรวจการกัดเพื่อหาปัญหาของกล้ามเนื้อใบหน้า และอาจต้องมีการเอกซเรย์ใบหน้าเพื่อหาปัญหาอื่น ๆ รวมถึงอาจต้องส่งต่อให้ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้อต่อขากรรไกรเพื่อวินิจฉัยต่อไป
การรักษาอาการปวดกราม
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการที่ตรวจพบ หากอาการไม่รุนแรงมากและผู้ป่วยต้องการเพียงบรรเทาอาการปวด การรักษาด้วยตนเองอาจเป็นวิธีที่เหมาะสม แต่หากอาการปวดรุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ต่อไป
การรักษาด้วยตนเอง
อาการปวดกรามสามารถรักษาได้ด้วยตนเองในเบื้องต้นโดยการใช้ยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์เช่น ไอบูโพรเฟนหรืออะเซตามิโนเฟน
การประคบอุ่นสามารถช่วยลดอาการปวดได้ โดยนำผ้าชุบน้ำอุ่นมาประคบบริเวณกราม แต่อาจต้องชุบน้ำใหม่หลาย ๆ ครั้งเพื่อให้ผ้ายังคงความอุ่นไว้ ซึ่งจะช่วยให้กล้ามเนื้อกรามคลายและช่วยลดอาการปวด อีกวิธีหนึ่งคือการประคบเย็น นำน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติก ห่อด้วยผ้า แล้วนำมาประคบหน้าประมาณ 10 นาทีสลับกับพัก 10 นาทีทุกครั้ง แต่หากการประคบนั้นร้อนเกินไปหรือเย็นเกินไป ควรรีบนำออกเพราะผิวอาจจะไหม้ได้
การนวดหน้าก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดอาการปวดกรามได้ โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วกลางกดลงไปบริเวณที่หูและขากรรไกรบรรจบกัน ถูเป็นวงกลมประมาณ 5-10 ครั้งและค่อยอ้าปาก ทำอย่างนี้วนไปเรื่อย ๆ อาจจำเป็นต้องนวดบริเวณข้างคอเพื่อลดอาการตึงในบางครั้ง
การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์
สำหรับผู้ป่วยอาการปวดฟัน แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำวิธีการรักษาแบบไม่ทำให้เกิดแผล (Non-invasive Treatment) ก่อน แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องปรึกษาแพทย์ถึงการรักษาอื่น ๆ เช่น
- ฟันยาง เป็นอุปกรณ์ป้องกันฟันที่ใส่ไว้ทั้งฟันบนและฟันล่าง ทำจากพลาสติก ใช้ใส่เวลานอนเพื่อป้องกันการกัดฟัน ถึงจะหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่แพทย์อาจทำชิ้นใหม่ขึ้นมาเพื่อให้พอดีกับปากผู้ป่วยมากขึ้นและใส่ได้นานขึ้น
- ยาคลายกล้ามเนื้อ หากไม่สามารถรักษาด้วยฟันยางได้ แพทย์จะใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการตึงบริเวณกราม แต่การรักษานี้ใช้ไม่ได้กับผู้ป่วย TMD
- การฉีดโบทอกซ์ ซึ่งหลังจากฉีดอาจอยู่ได้หลายเดือนก่อนที่จะต้องกลับมาฉีดอีกครั้ง โบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum Toxin) ในโบทอกซ์ช่วยคลายกล้ามเนื้อกรามและลดอาการปวดกรามในผู้ป่วย TMD ได้
- การผ่าตัดกราม
แพทย์จะแนะนำการรักษานี้ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดกรามรุนแรงมากหรือโครงสร้างขากรรไกรผิดปกติเท่านั้น ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก
การป้องกันอาการปวดกราม
อาการปวดกรามอาจป้องกันได้ยาก แต่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีน การบริโภคกาแฟหรือชามีส่วนทำให้กล้ามเนื้อกรามตึงมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เคี้ยวยาก ได้แก่ อาหารกรอบ แข็ง และอาหารเหนียว ๆ เช่น เนื้อแดดเดียว หมากฝรั่ง และแอปเปิ้ล อาจทำให้ขากรรไกรใช้แรงในการเคี้ยวมากเกินไป ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการปวดกรามตามมา
- ลดความเครียด โดยสามารถทำกิจกรรม เช่น เขียนไดอารี่ เล่นโยคะ หรือทำสมาธิ เพื่อช่วยลดการขบเน้นของกรามได้