ความหมาย ปวดข้อมือ
ปวดข้อมือ คือ ภาวะที่รู้สึกปวดและไม่สบายข้อมือ อาจเกิดจากข้อมือแพลง การใช้งานข้อมือซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน กระดูกหักจากอุบัติเหตุ โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ หรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ เช่น โรคเก๊าท์ เป็นต้น ซึ่งอาการปวดข้อมืออาจรักษาได้โดยการประคบเย็น ทำกายภาพบำบัด หรือผ่าตัด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์และระดับความรุนแรงของอาการ
อาการปวดข้อมือ
อาการปวดข้อมืออาจเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบตามแต่สาเหตุ เช่น อาจปวดตื้อ ๆ คล้ายอาการปวดฟันหากเกิดจากโรคข้ออักเสบ หรือปวดเหมือนเข็มทิ่มหากเกิดจากภาวะกลุ่มอาการประสาทมือชาเพราะเส้นประสาทกดทับบริเวณข้อมือ เป็นต้น
ในบางครั้ง อาการปวดข้อมืออาจปรากฏร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วย ดังนี้
- มีอาการปวด ชา และมือชา โดยเฉพาะตอนกลางคืน
- กำมือ หรือหยิบจับสิ่งของลำบาก
- เจ็บแปลบที่มือ
- นิ้วบวม ข้อมือบวมและแดง
- รู้สึกอุ่นบริเวณข้อต่อใกล้กับข้อมือ
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากปรากฏอาการ ดังต่อไปนี้
- มีอาการที่เป็นสัญญาณของข้ออักเสบติดเชื้อ ข้อมืออุ่น แดง และมีไข้
- ขยับข้อมือไม่ได้
- ข้อมือมีลักษณะผิดรูป
สาเหตุของอาการปวดข้อมือ
อาการปวดข้อมืออาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- การได้รับบาดเจ็บที่ข้อมือ เช่น ใช้ข้อมืออย่างต่อเนื่องโดยไม่พักอย่างการขับรถทางไกล ใช้มือค้ำตอนหกล้ม หรือกระดูกข้อมือหักจากอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งอาการปวดข้อมือจากการบาดเจ็บอาจปรากฏร่วมกับอาการบวมและช้ำ
- โรคข้ออักเสบ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น ซึ่งอาการปวดข้อมือจากโรคข้ออักเสบอาจปรากฏร่วมกับอาการปวด บวม และข้อต่อติดแข็ง
- อาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้มีอาการปวดข้อมือ เช่น กลุ่มอาการประสาทมือชา โรคเคียนบอค (Kienbock's Disease) หรือภาวะกระดูกข้อมือขาดเลือด โรคเก๊าท์ โรคเก๊าท์เทียม และภาวะถุงน้ำที่ข้อมือ เป็นต้น
นอกจากนี้ อาการปวดข้อมืออาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้
- ผู้ที่เล่นกีฬาซึ่งใช้งานข้อมืออย่างหนัก เช่น เทนนิส โบว์ลิ่ง หรือกอล์ฟ เป็นต้น
- ผู้ที่ต้องทำกิจกรรมหรือทำงานที่ต้องใช้ข้อมืออย่างหนัก หรือใช้งานข้อมือติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น งานถักสาน หรืองานตัดผม เป็นต้น
- ผู้ที่เจ็บป่วยหรืออยู่ในภาวะอื่น ๆ ที่เสี่ยงเป็นกลุ่มอาการประสาทมือชา เช่น ตั้งครรภ์ มีน้ำหนักตัวมาก เป็นโรคเบาหวาน เป็นต้น
การวินิจฉัยอาการปวดข้อมือ
การวินิจฉัยอาการปวดข้อมืออาจแตกต่างกันไปตามดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
การตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายเป็นวิธีวินิจฉัยอาการปวดข้อมือในเบื้องต้น ซึ่งแพทย์อาจใช้วิธีที่แตกต่างกันไปตามกรณี เช่น
- สังเกตอาการบวม หรืออาการผิดรูปของข้อมือ
- เคาะบริเวณเหนือเส้นประสาทมีเดียนที่ข้อมือ เพื่อดูว่าปรากฏอาการปวดหรือไม่
- งอมือผู้ป่วยไปด้านหน้าเป็นเวลา 60 วินาที เพื่อตรวจหาอาการเหน็บชา
- ให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวข้อมือ เพื่อสังเกตว่ามีการเคลื่อนไหวที่จำกัดหรือไม่
- ประเมินความสามารถในการหยิบจับและการถือสิ่งของ
การฉายภาพประกอบการวินิจฉัย
แพทย์อาจใช้วิธีนี้ร่วมกับการตรวจด้วยวิธีอื่นเพื่อหาสาเหตุของอาการปวดข้อมือ
- การถ่ายภาพเอกซเรย์ (X-Ray) เพื่อสังเกตความผิดปกติของกระดูกและข้อต่อ
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อหาการแตกหักของกระดูกและข้อต่อที่อาจไม่ปรากฏจากการเอกซเรย์
- การใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI Scan) เพื่อถ่ายภาพเนื้อเยื่อและกระดูกข้อมือ
- การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) เพื่อหาความผิดปกติของเส้นเอ็น กล้ามเนื้อเอ็น หรือก้อนซีสต์
วิธีอื่น ๆ
แพทย์อาจใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อวินิจฉัยอาการปวดข้อมือด้วยเช่นเดียวกัน
- การผ่าตัดส่องกล้องตรวจภายในข้อ (Arthroscopy) เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดข้อมือเรื้อรัง
- การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) ใช้เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นภาวะกลุ่มอาการประสาทมือชา เพื่อตรวจหาการตอบสนองของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท
- การตรวจความเร็วการนำสัญญาณประสาท (Nerve Conduction Velocity: NCV) เพื่อหาความเสียหายของเส้นประสาท
- การตรวจปัสสาวะและตรวจเลือด เพื่อหาโรคหรือภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดข้อมือ
การรักษาอาการปวดข้อมือ
หากอาการปวดข้อมือที่ปรากฏไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจรักษาตนเองในเบื้องต้นได้โดยประคบเย็นหรือพยุงข้อมือไว้ด้วยผ้าพันแผลชนิดยืดได้ แต่หากอาการค่อนข้างรุนแรงหรือเรื้อรัง ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันมีวิธีการรักษาอาการปวดข้อมือที่หลากหลาย ซึ่งแตกต่างกันไปตามอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย สาเหตุ ระดับความรุนแรง ชนิด และตำแหน่งของอาการปวดข้อมือด้วย
โดยวิธีการรักษาอาการปวดข้อมือ มีดังนี้
- ใส่อุปกรณ์พยุงข้อมือ เพื่อช่วยพยุงข้อมือและป้องกันการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติม
- ประคบเย็น โดยการนำแผ่นเจลเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งมาวางบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ 2-3 นาที เพื่อลดอาการปวดและบวม
- รักษาด้วยยา ยาบางชนิดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อมือได้ ทั้งยาไอบูโพรเฟน ยาพาราเซตามอลที่หาซื้อได้เอง หรือยาอื่น ๆ ตามใบสั่งแพทย์
- ทำกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดอาจช่วยประเมินปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อมือขึ้น รวมถึงแนะนำวิธีรักษาและการออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อฟื้นฟูร่างกายหลังจากการผ่าตัดข้อมือ หรือเพื่อบรรเทาอาการบาดเจ็บบริเวณข้อมือและเส้นเอ็นอื่น ๆ
- เข้ารับการผ่าตัด ภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุของอาการปวดข้อมือบางชนิด อาจต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อให้อาการปวดข้อมือดีขึ้น เช่น ผ่าตัดเพื่อใช้โลหะยึดกระดูก ผ่าตัดพังผืดบางส่วนเพื่อลดแรงกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ผ่าตัดเพื่อซ่อมแซมเส้นเอ็นที่ได้รับความเสียหายหรือแตก เป็นต้น
การป้องกันอาการปวดข้อมือ
แม้ในบางครั้ง อาการปวดข้อมืออาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุที่ไม่สามารถคาดการณ์และป้องกันได้ แต่การดูแลตนเองในด้านต่าง ๆ ก็อาจช่วยป้องกันอาการปวดข้อมือได้บ้าง โดยอาจปฏิบัติได้ตามวิธี ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมืออย่างหนักเกินไป เช่น เมื่อต้องพิมพ์งานเป็นระยะเวลานาน ควรพักข้อมือหรือขยับข้อมือให้อยู่ในท่าทางอื่นบ้าง ซึ่งอาจใช้โฟมหรือเจลช่วยรองข้อมือขณะพิมพ์งาน เพื่อช่วยลดแรงกดที่ข้อมือ
- สวมรองเท้าที่พอดีและเหมาะกับเท้า รวมถึงรองเท้าที่สวมใส่แล้วเดินได้สะดวกสบาย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเสียการทรงตัว หรือหกล้มจนข้อมือได้รับบาดเจ็บ
- สวมอุปกรณ์ป้องกันข้อมือ เมื่อเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อมือมาก ๆ ควรเลือกใส่สนับอ่อนกันเคล็ดชนิดผ้า หรือสนับข้อมือชนิดแข็ง
- ติดตั้งราวจับ ราวจับตามบันไดหรือห้องน้ำอาจช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากการพลัดตกบันไดหรือลื่นล้มจนข้อมือบาดเจ็บได้
- เสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก เพื่อป้องกันกระดูกแตกหัก โดยผู้ใหญ่ควรบริโภคแคลเซียมประมาณ 1 กรัม/วัน ส่วนผู้หญิงที่อายุเกิน 50 ปี ควรบริโภคแคลเซียมอย่างน้อย 1.2 กรัม/วัน ซึ่งควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงในปริมาณที่เหมาะสม หรือหากต้องการรับประทานอาหารเสริมแคลเซียม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
- ดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้ปวดข้อมือ เช่น ดื่มน้ำปริมาณมาก ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และรับประทานโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสม เป็นต้น