ปวดส้นเท้า

ความหมาย ปวดส้นเท้า

ปวดส้นเท้า (Plantar Fasciitis) หรือโรครองช้ำ มักเกิดจากการทำกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักบริเวณเอ็นฝ่าเท้าเป็นประจำ เช่น การวิ่ง การเดิน หรือการยืนเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการบวมและอักเสบที่บริเวณฝ่าเท้า อาจเกิดขึ้นได้กับเท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือเกิดขึ้นได้กับเท้าทั้ง 2 ข้าง โดยปกติแล้วถ้าได้พักเท้าจากการใช้งานก็อาจทำให้อาการดีขึ้นได้

Plantar Fasciitis

อาการปวดส้นเท้า

ผู้ป่วยจะมีอาการปวด ตึง เจ็บแปลบ หรือเจ็บเหมือนมีดแทง มักเป็นที่บริเวณส้นเท้า ซึ่งเป็นจุดลงน้ำหนักและเป็นส่วนที่บางที่สุดของเอ็นฝ่าเท้าหรือพังผืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar Fascia) หรือบางคนอาจรู้สึกปวดที่บริเวณกลางฝ่าเท้า โดยปกติแล้วอาการปวดจะเกิดขึ้นที่ส้นเท้าข้างใดข้างหนึ่ง แต่ก็อาจเกิดขึ้นกับส้นเท้าทั้ง 2 ข้างได้เช่นกัน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดส้นเท้ามากขึ้นหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า หรือหลังจากนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน และอาจไม่พบอาการปวดในระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการออกกำลังกาย แต่มักพบว่ามีอาการมากขึ้นหลังสิ้นสุดการทำกิจกรรม

สาเหตุของอาการปวดส้นเท้า

โดยปกติแล้วเอ็นฝ่าเท้าจะทำหน้าที่รองรับความโค้งของเท้า หากมีการยืดมากเกินไปหรือฉีกขาดซ้ำ ๆ อาจทำให้บวมหรืออักเสบได้ ในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าสาเหตุของอาการปวดส้นเท้าเกิดจากอะไร แต่มีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงและนำไปสู่อาการปวดส้นเท้า ได้แก่

  • อายุ ผู้ที่อายุในช่วง 40 และ 60 ปีจะมีความเสี่ยงสูง
  • การออกกำลังกายบางชนิด โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องลงน้ำหนักที่ส้นเท้า เช่น การวิ่งบนพื้นแข็ง ๆ การเต้นแอโรบิก บัลเลต์ บาสเก็ตบอล เทนนิส รวมถึงผู้ที่ออกกำลังกายอย่างหนักหลังจากที่ห่างหายไปเป็นเวลานาน
  • โครงสร้างของเท้า เช่น ผู้ที่มีเท้าแบน เท้าโค้งมาก หรือลักษณะการเดินที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลต่อการลงน้ำหนักที่ส้นเท้ามากกว่าเดิม
  • โรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกิน ก็จะลงน้ำหนักที่เอ็นฝ่าเท้าหรือพังผืดใต้ฝ่าเท้ามากยิ่งขึ้น รวมถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะนอกจากน้ำหนักที่มากขึ้นแล้ว ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอาจเป็นสาเหตุให้เอ็นคลายตัวและมีแนวโน้มที่จะทำให้เท้าแบนได้
  • อาชีพ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องยืนหรือเดินบนพื้นแข็งเป็นเวลานาน

การวินิจฉัยอาการปวดส้นเท้า

การวินิจฉัยโดยแพทย์นั้นมักเริ่มต้นจากการสอบถามอาการเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงและตรวจร่างกาย โดยแพทย์อาจกดที่ส้นเท้าในขณะผู้ป่วยเหยียดเท้า เพื่อสำรวจว่ามีอาการปวดหรือตึงที่ตำแหน่งใด และประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและสุขภาพของเส้นประสาท บางรายอาจต้องเอกซเรย์ หรือตรวจอย่างอื่นร่วมด้วยเพื่อตรวจสอบว่าอาการปวดส้นเท้าไม่ได้เป็นผลมาจากปัญหาอื่น ๆ เช่น กระดูกหัก เส้นประสาทถูกกด เป็นต้น

การรักษาอาการปวดส้นเท้า

สิ่งสำคัญของการรักษาอาการปวดส้นเท้าคือลดการอักเสบและบวม โดยทั่วไป เมื่อพักการใช้งานเท้าจากกิจกรรมต่าง ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการลงได้ หรือการประคบเย็นด้วยน้ำแข็งครั้งละประมาณ 15-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง แต่อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าอาการจะบรรเทาลง นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • การรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้
  • การทำกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะแนะนำท่าออกกำลังกายที่เน้นการยืดเอ็นฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวาย อีกทั้งยังเพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อขาส่วนล่าง ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงของเข่าและส้นเท้า นอกจากนี้ นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำให้ใช้แผ่นรองเสริมที่ส้นเท้า
  • การใช้อุปกรณ์เสริม เช่น อุปกรณ์ดามและลดการกระแทกส้นเท้าและฝ่าเท้าชนิดสำเร็จรูป แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดอาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้เพื่อยืดกล้ามเนื้อบริเวณน่องขาและความโค้งของฝ่าเท้าให้อยู่ในมุม 90 องศาและลดการตึงของเอ็นฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวายในขณะนอนหลับพักผ่อน
  • การฉีดสเตียรอยด์ ในบริเวณที่มีอาการปวดตึงเพื่อบรรเทาอาการชั่วคราวสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการขั้นรุนแรงหรือรักษาด้วยการรับประทานยา หรือวิธีข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • การรักษาด้วยเครื่องช็อกเวฟ โดยใช้คลื่นเสียงกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่มีอาการปวด มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดส้นเท้าชนิดเรื้อรังหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น ๆ การรักษาด้วยวิธีนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น รอบฟกช้ำ ปวด บวม ชา หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่ม เป็นต้น
  • การผ่าตัด เพื่อทำให้เอ็นฝ่าเท้าแยกออกจากกระดูกเท้า แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปวดขั้นรุนแรงหรือผู้ที่รักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ แล้วอาการไม่ดีขึ้น และการผ่าตัดอาจส่งผลข้างเคียงต่อความโค้งของฝ่าเท้าได้

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดส้นเท้า

อาการปวดส้นเท้าที่ไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่อาการปวดส้นเท้าชนิดเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้แก่ ขา หัวเข่า สะโพก และหลัง รวมถึงการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์อาจทำให้เอ็นฝ่าเท้าอ่อนตัวหรือเป็นสาเหตุทำให้เอ็นฝ่าเท้าฉีกขาดได้ อีกทั้งการรักษาด้วยการผ่าตัดอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือทำให้เส้นประสาทของเท้าเสียหายได้

การป้องกันอาการปวดส้นเท้า

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง อาจช่วยป้องกันอาการปวดส้นเท้าได้ ด้วยการปฏิบัติตามวิธีดังนี้

  • เลือกรองเท้าที่พื้นอ่อนนุ่ม และเหมาะสมกับรูปเท้า และช่วยลดแรงกระแทกที่บริเวณส้นเท้าได้
  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงและการเดินเท้าเปล่า
  • ลดน้ำหนัก โรคอ้วนหรือการมีน้ำหนักตัวเกินอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอาการปวดส้นเท้า
  • ยืดเอ็นฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวายเป็นประจำ รวมถึงก่อนการออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือการออกกำลังกายบนพื้นผิวที่แข็งเป็นเวลานาน ๆ โดยอาจลองกิจกรรมอื่น อย่างการว่ายน้ำหรือการปั่นจักรยานซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดแรงกระแทกบริเวณส้นเท้าน้อย