ความหมาย ปวดหัว (Headaches)
ปวดหัว (Headaches) หรือปวดศีรษะ เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะหรือลำคอส่วนบน ซึ่งอาการปวดอาจเกิดได้หลายแบบ เช่น ปวดตลอดเวลา ปวดเป็นพัก ๆ ปวดตุบ ๆ ปวดแปล๊บ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ โดยในการรักษา แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาที่เหมาะสมตามสาเหตุ
อาการปวดหัวเป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศทุกวัย โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นจากการที่เนื้อเยื่อ หรือโครงสร้างรอบกระโหลกศีรษะหรือสมอง ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นประสาทบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า ปาก และคอ กล้ามเนื้อของคอหรือไหล่ และหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ส่งผ่านเลือดไปเลี้ยงสมอง เกิดการอักเสบหรือระคายเคือง
อาการปวดหัว
อาการปวดหัวจะมีอยู่หลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น อาการปวดตุบ ๆ ที่ศีรษะข้างใดข้างหนึ่งหรือที่เรียกว่าปวดไมเกรน อาการปวดบริเวณเบ้าตาหรือด้านหลังตาหรือที่เรียกว่าอาการปวดคลัสเตอร์ หรืออาการปวดหัวบริเวณขมับและหน้าผากคล้ายโดนบีบรัดที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ
ทั้งนี้ ความถี่และความรุนแรงของอาการปวดหัวจะเป็นไปตามสาเหตุของอาการปวดหัวแต่ละประเภท และตำแหน่งที่ปวดอาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้า กะโหลก หรือทั้งศีรษะก็ได้
สาเหตุของอาการปวดหัว
อาการปวดหัวสามารเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่โดยหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามสาเหตุ ได้แก่
- อาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ เป็นอาการปวดที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและไม่ใช่อาการที่มาจากโรค เช่น ปวดไมเกรน ปวดศีรษะจากความเครียด ปวดคลัสเตอร์
- อาการปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ เป็นอาการปวดที่มีผลมาจากโรคหรือความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณคอหรือศีรษะ เช่น ปวดศีรษะจากไซนัสอักเสบ ปวดศีรษะจากเนื้องอก ปวดศีรษะเนื่องจากอาการเมาค้าง
- อาการปวดศีรษะจากเส้นประสาทและอื่น ๆ เป็นอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมอง ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและเป็นตัวส่งสัญญาณความรู้สึกระหว่างสมองกับศีรษะหรือคอ เช่น อาการปวดเส้นประสาทบนใบหน้า
การวินิจฉัยอาการปวดหัว
แพทย์จะตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ รายละเอียดของอาการปวดหัวที่พบ และการตรวจร่างกายทั่วไป จากนั้นจะพิจารณาการตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์และอาการของผู้ป่วย เช่น การตรวจเลือด การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณศีรษะ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณศีรษะ หรือการเจาะน้ำไขสันหลัง
การรักษาอาการปวดหัว
อาการปวดหัวมีทั้งแบบที่รักษาได้และไม่หายขาด โดยสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหัวที่ไม่รุนแรงและไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ร่วมด้วย อาจเริ่มจากการดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดหัวอาจรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วย เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แต่ไม่ควรซื้อยาแอสไพริน (Aspirin) รับประทานเองเพราะมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงสูง
หากมีอาการปวดรุนแรงหรือปวดในลักษณะอื่นจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง โดยในการรักษา แพทย์จะเลือกวิธีรักษาตามสาเหตุ และดูปัจจัยอื่นของผู้ป่วยประกอบด้วย เช่น อายุของผู้ป่วย สุขภาพโดยรวมและประวัติทางการแพทย์ ระยะเวลาและความรุนแรงของอาการปวดหัว การตอบสนองต่อการรักษา หรือความต้องการของผู้ป่วย
ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดหัว
อาการปวดหัวโดยทั่วไปมักไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ส่วนใหญ่จะเพียงรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่บางรายก็อาจมีแนวโน้มเกิดภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ หรือปัญหาด้านจิตใจ
ทั้งนี้ อาการปวดหัวบางประเภทที่มีผลมาจากโรคหรือภาวะความผิดปกติอื่น ๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ตามสาเหตุนั้น ๆ เช่นกัน
การป้องกันอาการปวดหัว
อาการปวดหัวเป็นอาการที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากมีหลายสาเหตุ แต่อาจลดความเสี่ยงได้หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น พักผ่อนให้ได้อย่างน้อย 7–8 ชั่วโมง/วัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัว โดยเฉพาะความเครียด ไม่ใช้ยาโดยไม่จำเป็นหรือใช้ยาเกินขนาด