ปวดเท้า (Foot Pain) เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นบริเวณเท้า สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายตำแหน่ง เช่น นิ้วเท้า ส้นเท้า อุ้งเท้าและหลังเท้า โดยอาจทำให้เกิดอาการปวด อักเสบ หรือเป็นอุปสรรคต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยปวดเท้าเป็นอาการที่มักพบได้บ่อย เนื่องจากเป็นอวัยวะส่วนที่รองรับน้ำหนักของร่างกายและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เดิน วิ่ง การออกกำลังกาย เป็นต้น
เท้าเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีความซับซ้อนที่สุดของร่างกาย ประกอบด้วยกระดูก 26 ชิ้น เชื่อมต่อกันด้วยข้อต่อ กล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อและเอ็นยึด โดยอาการปวดมีตั้งแต่ระดับปวดไม่มากไปจนถึงขั้นรุนแรง และอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือเรื้อรังก็ได้ การรักษาอาการปวดเท้าจึงจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ อาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น เบื้องต้นสามารถดูแลตนเองได้หากมีอาการไม่หนักมาก แต่ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้นอาจต้องเข้ารับการรักษาโดยแพทย์
อาการปวดเท้า
อาการปวดเท้าจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุและบริเวณที่ปวด ซึ่งความรุนแรงของอาการมีตั้งแต่ปวดไม่มากไปจนถึงขั้นรุนแรง และอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือเรื้อรังได้ โดยผู้ที่มีอาการปวดเท้ามักจะพบอาการต่อไปนี้
- รู้สึกเจ็บปวดบริเวณเท้าในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ข้อเท้า ฝ่าเท้า นิ้วเท้า ฯลฯ
- รู้สึกเจ็บแปลบหรือชา
- เท้าบวมแดงหรือช้ำ
- เท้าผิดรูปไปจากปกติ
อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกปวดเท้าหลังได้รับบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุ มีปัญหากับการยืน เดินหรือกิจกรรมที่ต้องใช้เท้า มีแผลที่เท้า มีไข้ อาการเจ็บปวดยังไม่ทุเลาลงหรือรุนแรงขึ้นหลังการดูแลตนเองที่บ้าน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ
สาเหตุของอาการปวดเท้า
อาการปวดเท้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แบ่งออกได้ ดังนี้
อาการปวดบริเวณข้อเท้า
สาเหตุของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- ข้อเท้าแพลง เกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณเอ็นยึดกระดูกเนื่องจากข้อเท้าพลิกที่มักเกิดจากการล้ม จึงทำให้เอ็นเกิดการพลิกหรือฉีกขาด
- เอ็นร้อยหวายอักเสบเป็นการบาดเจ็บบริเวณเอ็นที่เชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อน่องและกระดูกข้อเท้า มักเกิดจากการเล่นกีฬาหรือใช้งานเอ็นร้อยหวายหนัก
- โรคเก๊าท์ เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากการสะสมกรดยูริกในเลือดสูง ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อเท้าหรือโคนนิ้วหัวแม่เท้า
- กระดูกข้อเท้าหัก
อาการปวดบริเวณฝ่าเท้าและนิ้วเท้า
สาเหตุของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- เอ็นฝ่าเท้าอักเสบหรือโรครองช้ำ เป็นอาการบวมเจ็บของเอ็นฝ่าเท้าบริเวณที่เกาะกับกระดูกส้นเท้า ทำให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้า
- เท้าแบน มักพบในผู้ที่ไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้า อาจเกิดได้จากพันธุกรรมหรือการได้รับบาดเจ็บในภายหลัง โดยทั่วไปมักไม่มีอาการ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกปวดบริเวณอุ้งเท้า ส้นเท้าและเท้าด้านนอก โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนัก
- ปมประสาทนิ้วเท้าอักเสบ (Morton's Neuroma) มักเกิดจากการสวมรองเท้าคับหรือบีบหน้าเท้า ทำให้เกิดความเจ็บปวด มักเกิดที่บริเวณระหว่างนิ้วกลางและนิ้วนาง
อาการปวดบริเวณนิ้วเท้า
สาเหตุของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- เล็บขบ เป็นภาวะที่เล็บงอกหรือทิ่มเข้าไปที่บริเวณผิวหนังปลายเล็บ พบบ่อยบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือบางครั้งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้
- ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (Hallux Valgus หรือ Bunion) เกิดขึ้นเมื่อนิ้วโป้งเท้าเอียงเข้าหานิ้วชี้ ทำให้เกิดความเจ็บปวดและกระดูกนิ้วโป้งเท้านูนออกมา หากเป็นมากอาจทำให้นิ้วโป้งเบียดเกยกับนิ้วชี้ได้
- นิ้วเท้าผิดรูป (Hammer Toes) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการใส่รองเท้าที่ไม่พอดีหรือสวมรองเท้าส้นสูง ทำให้เกิดแรงดันระหว่างปลายนิ้วกับรองเท้าด้านใน ในบางกรณีอาจพบในผู้ป่วยข้ออักเสบเรื้อรังอย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ได้เช่นกัน
- กระดูกนิ้วเท้าหัก
สาเหตุอื่น ๆ
นอกเหนือจากความผิดปกติในข้างต้น อาการปวดเท้าอาจเกิดได้จากสาเหตุต่อไปนี้
- กระดูกหักล้า (Stress Fracture) คือ กระดูกที่ปริแตกออกจากกัน ซึ่งเกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ
- การสวมรองเท้าที่ไม่พอดีหรือการสวมรองเท้าส้นสูงที่บีบหน้าเท้า ทำให้เกิดการกดทับหรือเสียดสี ในบางครั้งอาจทำให้เกิดตาปลาขึ้นที่บริเวณเท้าได้
- การได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย เช่น การวิ่งหรือเต้นแอโรบิค เป็นต้น
- โรคประจำตัว เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น
- ภาวะตั้งครรภ์
การวินิจฉัยอาการปวดเท้า
แพทย์จะสอบถามอาการเบื้องต้นและซักประวัติการรักษาเพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดเท้า เช่น ตำแหน่งหรือบริเวณที่เกิดอาการปวดเท้า กิจกรรมที่ทำก่อนจะมีอาการ ลักษณะของอาการปวด และสังเกตอาการอื่นที่เกิดขึ้นร่วมด้วย
จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การเอกซเรย์ การสแกนกระดูก การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (EMG) การฉีดสารทึบสีเข้าไปในข้อเท้า (Arthrogram) ซึ่งจะช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพรายละเอียดความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณเท้าได้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการตรวจเลือดหรือของเหลวในข้อต่อเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดเท้าในกรณีที่อาจเกิดโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
การรักษาอาการปวดเท้า
การรักษาอาการปวดเท้าจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการปวดเท้า โดยอาจแบ่งวิธีการรักษาได้ดังนี้
การดูแลตนเองที่บ้าน
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง การดูแลตนเองที่บ้านอาจช่วยบรรเทาอาการปวดเท้าให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการใช้เท้าให้ได้มากที่สุดเพื่อเป็นการพักเท้าและบรรเทาอาการเจ็บปวด
- ประคบเย็นบริเวณที่ปวด
- ใช้ยาบรรเทาอาการปวดที่หาซื้อได้ทั่วไป อย่างพาราเซตามอล หรืออาจใช้ยาชนิดทาเพื่อบรรเทาอาการปวดบริเวณเท้า โดยก่อนใช้ยาชนิดใด ๆ ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ
- ใช้แผ่นรองเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสีในบริเวณที่มีอาการปวด
- ใช้อุปกรณ์เสริมและการปรับรองเท้า เพื่อลดและกระจายน้ำหนักและแรงกดทับจากบริเวณต่าง ๆ ของเท้าในส่วนที่มีปัญหา
- สำหรับผู้ที่มีความผิดรูปของเท้าค่อนข้างมากอาจจำเป็นต้องตัดรองเท้าพิเศษ เพื่อให้สามารถสวมใส่รองเท้าที่พอดีและยังสามารถเพิ่มความมั่นคงในการยืนและเดิน รวมทั้งช่วยทดแทนการเคลื่อนไหวของข้อได้อีกด้วย
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะรักษาอาการปวดเท้าได้หลายวิธีตามสาเหตุ โดยเบื้องต้นอาจสั่งจ่ายยาเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดหรืออักเสบ ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยาชนิดนี้กินเอง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดเท้าที่เกิดจากกระดูกหัก แพทย์อาจรักษาด้วยการใส่เฝือกเพื่อช่วยพยุงกระดูกและกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ หรือบางรายอาจต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวตามปกติได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการขั้นรุนแรงหรือรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจใช้วิธีการผ่าตัด โดยผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัดในการดูแลตนเองหลังการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดเท้า
เนื่องจากอาการปวดฝ่าเท้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงไม่สามารถระบุภาวะแทรกซ้อนที่แน่ชัดได้ แต่โดยทั่วไป อาการปวดฝ่าเท้าที่เกิดขึ้นชั่วคราวอาจนำไปสู่อาการปวดเรื้อรังที่ยากต่อการรักษา และอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ที่รุนแรงและส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เท้า เนื่องจากปลายประสาทเสื่อม เส้นเลือดส่วนปลายตีบตัน เกิดการติดเชื้อ ทำให้เกิดบาดแผลที่เท้าขึ้น หากปล่อยให้อาการรุนแรงขึ้นโดยไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสมก็อาจนำไปสู่การสูญเสียการทำงานของอวัยวะ และการถูกตัดนิ้วเท้าหรือเท้าได้
การป้องกันอาการปวดเท้า
อาการปวดเท้าสามารถป้องกันได้โดยการดูแลตนเองตามวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- เลือกรองเท้าที่สวมใส่สบายและมีพื้นรองรับการเดินอย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูงและรองเท้าหัวแหลมบีบหน้าเท้า
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- รักษาความสะอาดของเท้าอยู่เสมอ
- ควรมีการยืดเส้นและเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนออกกำลังกายเสมอ
- สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้อาการปวดเท้าจะเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่หากมีอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นและอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์หลังดูแลตนเองที่บ้าน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป