ปัสสาวะเป็นเลือด (Hematuria)

ความหมาย ปัสสาวะเป็นเลือด (Hematuria)

ปัสสาวะเป็นเลือด (Hematuria) เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการที่มีเลือดหรือเซลล์เม็ดเลือดแดงปนมาพร้อมกับปัสสาวะ บางครั้งมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าชัดเจนเป็นปัสสาวะสีชมพู สีแดงหรือสีน้ำตาลเข้ม ในขณะที่บางครั้งก็ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งจะทราบจากการตรวจพบโดยบังเอิญเท่านั้น 

ในบางครั้ง อาการปัสสาวะเป็นเลือดก็อาจไม่ได้บ่งบอกถึงโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายที่รุนแรง เช่น อาจจะเพียงเกิดหลังจากการออกกำลังที่ใช้แรงหนัก แต่บางกรณีก็อาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิดที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ได้เช่นกัน เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือโรคไต

ปัสสาวะเป็นเลือด

สาเหตุของอาการปัสสาวะเป็นเลือด

ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นอาการที่เกิดจากการที่เซลล์เม็ดเลือดรั่วผ่านไตหรือส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินปัสสาวะไปสู่ปัสสาวะ โดยตัวอย่างของโรค ความผิดปกติ และสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้ปัสสาวะเป็นเลือด ได้แก่

  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infections) มักจะเกิดจากแบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางท่อปัสสาวะและจะเริ่มแบ่งตัวในกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคไตบางชนิด เช่น ไตอักเสบ (Glomerulonephritis) ซึ่งเป็นหน่วยทำหน้าที่กรองของเสียและน้ำออกมาเป็นปัสสาวะ
  • นิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • โรคถุงน้ำในไต
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding Disorders) เช่น โรคเลือดออกไม่หยุดจากพันธุกรรม (Hemophilia) และโรคความผิดปกติในการแข็งตัวของเกล็ดเลือด วอน วิลแบรนด์ (Von Willebrand’s Disease)
  • โรคต่อมลูกหมากโต (Enlarged Prostate)
  • มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer)
  • เนื้องอกหรือมะเร็งที่ไตหรือกระเพาะปัสสาวะ
  • การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide) ยาเพนิซิลิน (Penicillin) ยาแอสไพริน (Aspirin) และยาเฮพาริน (Heparin)
  • อวัยวะในทางเดินปัสสาวะได้รับบาดเจ็บ เช่น เกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
  • การออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก แต่กรณีนี้มักเป็นกรณีที่ไม่เป็นอันตราย

อาการปัสสาวะเป็นเลือด

ผู้ที่มีอาการเป็นเลือดจะมีอาการคือ ปัสสาวะเปลี่ยนสี อาจเป็นสีชมพู สีแดง หรือสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งบางคนอาจมีอาการเจ็บขณะปัสสาวะร่วมด้วย หากเลือดมีการจับตัวกันเป็นลิ่ม

สัญญาณสำคัญของอาการปัสสาวะเป็นเลือดที่ควรไปพบแพทย์

ผู้ที่เห็นว่าตนเองมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะมีสีที่ผิดปกติไป ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากแม้ในบางครั้งอาการนี้จะไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่รุนแรง แต่อย่างที่ได้กล่าวไปในหัวข้อสาเหตุ อาการนี้ก็อาจบ่งบอกถึงโรคหรือภาวะผิดปกติทางร่างกายบางชนิดที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์เช่นกัน

การวินิจฉัยอาการปัสสาวะเป็นเลือด

ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะเป็นเลือด โดยเฉพาะประวัติการเป็นโรคไต กระเพาะปัสสาวะ หรือภาวะเลือดออกผิดปกติ จากนั้น แพทย์จะถามถึงประวัติการได้รับบาดเจ็บหรือการออกกำลังกายที่ใช้กำลังมาก รวมไปถึงอาการต่าง ๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย หรืออาการเจ็บที่สีข้าง

หลังจากการสอบถาม แพทย์จะทำการตรวจร่างกายในบริเวณที่สงสัย เช่น การตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam) ด้วยการใช้นิ้วตรวจผ่านทางรูทวาร หรือการตรวจภายใน (Pelvic Exam) ด้วยการตรวจทางช่องคลอดของผู้หญิงเพื่อหาต้นเหตุที่เป็นไปได้ของการปัสสาวะเป็นเลือด

นอกจากนั้น แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัด เช่น

  • ตรวจปัสสาวะ เป็นการนำตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วยมาวินิจฉัยด้วยการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูเม็ดเลือดแดงหรือตรวจดูการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แต่สำหรับผู้ป่วยเพศหญิงที่กำลังมีประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้เลือดปนมากับปัสสาวะ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยมาทำการตรวจซ้ำอีกครั้งในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
  • ตรวจเลือด เพื่อตรวจดูระดับครีอะตินีน (Creatinine) ในเลือด โดยหากมีระดับครีอะตินีนในเลือดสูงนั่นก็อาจหมายถึงการเป็นโรคไต นอกจากนี้ การตรวจเลือดยังอาจช่วยตรวจสอบโรคทางภูมิคุ้มกัน อย่างโรคลูปัส (Lupus) รวมไปถึงโรคอื่น ๆ เช่น สารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ตรวจชิ้นเนื้อไต (Kidney Biopsy) เป็นการนำเนื้อเยื่อไตตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยการวินิจฉัยปัสสาวะเป็นเลือดที่มีสาเหตุมาจากโรคไต
  • ตรวจวินิจฉัยด้วยการดูภาพอวัยวะภายใน เช่น อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เอกซเรย์ (X–ray) และตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • ใช้กล้องส่องดูกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) ช่วยให้แพทย์สามารถพิจารณาโรคที่เกิดขึ้นกับท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุของปัสสาวะเป็นเลือดได้ในการตรวจเบื้องต้น แพทย์อาจให้มีการนัดตรวจเป็นประจำ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องสัมผัสกับสารพิษ หรือมีประวัติเคยได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี 

การรักษาอาการปัสสาวะเป็นเลือด

การรักษาอาการปัสสาวะเป็นเลือดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น

  • การบาดเจ็บที่ไตหรือทางเดินปัสสาวะ การรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของอาการบาดเจ็บที่ได้รับ ถ้าได้รับบาดเจ็บที่รุนแรงมากก็อาจมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะหรือไต การรักษาจะต้องพิจารณาตามระยะของอาการและปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุ สุขภาพโดยรวม และความต้องการของผู้ป่วยเอง โดยมีประเภทของการรักษา ได้แก่ การผ่าตัด เคมีบำบัด (Chemotherapy) รักษาด้วยรังสี (Radiation Therapy) หรือภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
  • ไตอักเสบ (Glomerulonephritis) แพทย์อาจรักษาด้วยยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ยาควบคุมความดันโลหิต และปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารเพื่อไม่ให้ไตทำงานหนัก ส่วนเด็กที่เป็นไตอักเสบจากการติดเชื้อสเตรปโคคอคคัส (Streptococcal) อาจใช้เพียงแค่ยาปฏิชีวนะเท่านั้น หรือหากมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เช่น ลูปัส (Lupus) แพทย์ก็จะให้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ แพทย์จะรักษาไปตามประเภทของภาวะนี้ เช่น ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) ก็สามารถรักษาด้วยการฉีดยาที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด

สำหรับผู้ป่วยที่ปัสสาวะเป็นเลือดจากการออกกำลังกาย ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา แต่ควรระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักเกินไป และสำหรับปัสสาวะเป็นเลือดที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรค แพทย์ก็จะให้หยุดใช้ยาและให้ใช้ยาอื่นทดแทน ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปัสสาวะเป็นเลือด

ภาวะแทรกซ้อนของปัสสาวะเป็นเลือด จะขึ้นอยู่กับโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุ เช่น

  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infections) อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การกลับมาติดเชื้อซ้ำ หรือท่อปัสสาวะตีบ
  • ต่อมลูกหมากโต (Enlarged Prostate) อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปัสสาวะไม่ออก ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หรือเกิดความเสียหายกับกระเพาะปัสสาวะ
  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Stones) อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดความผิดปกติเรื้อรังของกระเพาะปัสสาวะ

การป้องกันอาการปัสสาวะเป็นเลือด

โดยปกติจะไม่สามารถป้องกันปัสสาวะเป็นเลือดได้โดยตรง แต่มีวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เป็นสาเหตุได้ เช่น

  • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ สามารถทำได้โดยดื่มน้ำให้มาก ปัสสาวะทันทีที่รู้สึกปวดหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ และสำหรับผู้หญิง ควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณท่อปัสสาวะจากหน้าไปหลัง หรือหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะเพศและท่อปัสสาวะที่อยู่ใกล้เคียงกัน
  • นิ่วในไต ควรดื่มน้ำให้มาก จำกัดการบริโภคเกลือ โปรตีน หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของออกซาเลต (Oxalate) เช่น ผักโขม
  • มะเร็งไต ควรรักษาน้ำหนักตัว รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลี่ยงการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย
  • มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ควรเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มน้ำให้มาก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย