ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft Lip, Cleft Palate)

ความหมาย ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft Lip, Cleft Palate)

ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft Lip หรือ Cleft Palate) เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดที่เกิดจากความผิดปกติในการพัฒนาปากและเพดานปากของทารกในครรภ์ โดยทารกอาจมีรอยแยกที่บริเวณริมฝีปาก หรือมีรอยโหว่ที่บริเวณเพดานปาก ซึ่งสามารถเกิดขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดขึ้นร่วมกันทั้งปากแหว่งและเพดานโหว่ได้

ปากแหว่งเพดานโหว่เป็นโรคที่อาจตรวจพบได้ตั้งแต่ในครรภ์หรือหลังคลอด โดยมักส่งผลกระทบต่อลักษณะทางกายภาพ การรับประทานอาหาร การกลืน การพูด และสุขภาพในช่องปากได้ ซึ่งแนวทางการรักษาโรคปากแหว่งเพดานโหว่อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อายุ และความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมกับปากแหว่งเพดานโหว่

Cleft Lip

 

อาการปากแหว่งเพดานโหว่

ทารกสามารถเกิดมาพร้อมลักษณะของปากแหว่งหรือเพดานโหว่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างร่วมกันได้ โดยลักษณะของปากแหว่งเพดานโหว่สามารถพบได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

  • รอยแหว่งบริเวณริมฝีปากบน และรอยโหว่ที่เพดานปาก ซึ่งอาจเกิดขึ้นบริเวณริมฝีปากข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
  • รอยแหว่งเล็ก ๆ คล้ายรอยบากที่เกิดขึ้นเฉพาะบนริมฝีปากบน หรืออาจยาวไปถึงเหงือกบน เพดานปาก และบริเวณใต้จมูก 
  • รอยโหว่เฉพาะที่เพดานอ่อนในปาก ซึ่งไม่ส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพของใบหน้า

สาเหตุของปากแหว่งเพดานโหว่

ปากแหว่งเพดานโหว่สามารถเกิดได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ โดยปกติแล้ว ในช่วง 2–3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์เป็นช่วงที่ร่างกายของทารกเริ่มพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงปากและเพดานปาก หากร่างกายเกิดความผิดพลาดในการสร้างอวัยวะ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดปากแหว่งเพดานโหว่ได้  

ทั้งนี้ ในปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค และเชื่อว่าอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นการสืบทอดกรรมพันธุ์ในผู้ที่มีประวัติการเกิดโรคปากแหว่งเพดานโหว่จากสมาชิกในครอบครัว
  • ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์
  • โรคอ้วนในระหว่างตั้งครรภ์
  • การขาดกรดโฟลิกในระหว่างตั้งครรภ์
  • การสัมผัสไวรัสหรือสารเคมีระหว่างตั้งครรภ์
  • การใช้ยาบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ยากันชัก สเตียรอยด์ ยารักษาสิวที่มีส่วนประกอบของ  Accutane ยาเคมีบำบัดเมโธเทรกเซท (Methotrexate) รวมถึงยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ และโรคสะเก็ดเงิน 
  • ข้อบกพร่องอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการดิจอร์จ (DiGeorge Syndrome) ซึ่งเกิดจากส่วนหนึ่งของโครโมโซมคู่ที่ 22 หายไป ทำให้เกิดความผิดปกติ ได้แก่ รับประทานอาหารลำบาก สูญเสียการได้ยิน ใบหน้าผิดปกติ รวมไปถึงปัญหาของระบบภูมิกันของร่างกาย ปัญหาต่อมไทรอยด์

การวินิจฉัยปากแหว่งเพดานโหว่

ปากแหว่งเพดานโหว่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาหรือเกิดขึ้นหลังการคลอด โดยการวินิจฉัยปากแหว่งเพดานโหว่สามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้

  • การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) แพทย์อาจใช้อัลตราซาวด์เพื่อดูโครงสร้างใบหน้าของทารกเพื่อหาความผิดปกติ ซึ่งการตรวจสามารถทำได้ในการตั้งครรภ์ช่วงสัปดาห์ที่ 13 โดยอาการปากแหว่งอาจตรวจพบได้ง่ายกว่าอาการเพดานโหว่ที่เกิดขึ้นในเพดานปากเพียงอาการเดียว
  • การตรวจร่างกายทารกแรกเกิด คือการตรวจลักษณะทางกายภาพของทารกหลังคลอดในช่วงแรกเกิด โดยแพทย์อาจตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ บนร่างกาย เช่น ใบหน้าและช่องปาก ซึ่งอาจช่วยในการวินิจฉัยปากแหว่งเพดานโหว่อีกด้วย

การรักษาปากแหว่งเพดานโหว่

การรักษามีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับประทานอาหาร การพูด การได้ยิน รวมไปถึงลักษณะทางกายภาพให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ การรักษาสามารถทำได้ด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งรูปแบบของการผ่าตัดอาจขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยวิธีการรักษาโดยการผ่าตัดอาจมีดังนี้

  • การผ่าตัดรักษาอาการปากแหว่ง จะทำภายในช่วง 12 เดือนหลังคลอด แพทย์อาจทำการเย็บเพื่อเชื่อมรอยแยกที่บริเวณริมฝีปากรวมถึงรอยแยกบริเวณใต้จมูกเข้าด้วยกัน 
  • การผ่าตัดรักษาอาการเพดานโหว่จะทำเมื่อผู้ป่วยมีอายุ 18 เดือนหรือก่อนหน้านั้น แพทย์จะทำการเย็บเพื่อปิดรอยแยกที่บริเวณเพดานอ่อนหรือเพดานแข็งในปาก

นอกจากนี้ อาจมีการผ่าตัดเพิ่มเติมเพื่อรักษาอาการอื่น ๆ เช่น

  • การผ่าตัดใส่ท่อในหู โดยการผ่าตัดนี้อาจทำในผู้ที่มีอาการเพดานโหว่ แพทย์อาจผ่าตัดเพื่อระบายของเหลวในหูชั้นกลาง และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน
  • การผ่าตัดซ่อมแซมรอยแหว่งที่เหงือกโดยใช้กระดูก การผ่าตัดนี้มักทำเมื่อผู้ป่วยมีอายุ 8–12 ปี ซึ่งอาจช่วยปิดรอยแหว่งที่เหงือก ช่วยให้ฟันขึ้นและเรียงตัวเป็นปกติ 
  • การผ่าตัดเพื่อปรับปรุงลักษณะและการทำงานของริมฝีปากและเพดานปาก อาจมีการผ่าตัดในรูปแบบนี้ร่วมด้วยหากการผ่าตัดอาการปากแหว่งหรือเพดานโหว่ไม่สามารถทำให้ประสิทธิภาพในการพูดใช้งานได้เหมือนปกติ
  • การผ่าตัดกรามหรือขากรรไกรล่าง แพทย์อาจแนะนำการผ่าตัดนี้ในผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ที่มีกรามหรือขากรรไกรล่างที่ผิดรูปไปจากปกติ

การดูแลรักษาจำเป็นต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางหลายสาขาร่วมดูแลเป็นทีม เช่น กุมารแพทย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง ทันตแพทย์ นักฝึกพูด โดยจะมีการวางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยและให้คำแนะนำการผ่าตัดผู้ป่วยแต่ละขั้นตอนอย่างเป็นระบบตามความจำเป็นและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด

ภาวะแทรกซ้อนของปากแหว่งเพดานโหว่

ปากแหว่งเพดานโหว่สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยอาจเกิดขึ้นในบริเวณที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับอาการปากแหว่งหรือเพดานโหว่ ดังนี้

ปัญหาในการรับประทานอาหาร 

ผู้ป่วยที่มีอาการปากแหว่งเพดานโหว่อาจมีปัญหาในการรับประทานอาหารหรือดูดนมแม่ เนื่องจากมีรูโหว่ที่เพดานปากหรือไม่สามารถปิดปากได้สนิท ซึ่งอาจทำให้อาหารและของเหลวไหลขึ้นจมูกได้ แต่ในปัจจุบันมีการออกแบบจุกนมหรือเพดานเทียมสำเร็จรูปสำหรับผู้ที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ อาจทำให้สามารถดูดนมหรือรับประทานอาหารได้เหมือนเด็กทั่วไป จนกว่าจะถึงเวลาเข้ารับการผ่าตัด

ปัญหาทางการพูด 

ปากและเพดานเป็นส่วนสำคัญในการออกเสียงที่ถูกต้องและชัดเจน ผู้ป่วยที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่แล้วไม่ได้รับการผ่าตัด อาจทำให้ผู้ป่วยพูดไม่ชัด มีเสียงขึ้นจมูก และฟังยาก การผ่าตัดสามารถช่วยแก้ไขให้ปัญหานี้ในผู้ป่วยบางราย แต่บางรายอาจต้องเข้ารับการรักษาต่อด้วยวิธีอรรถบำบัด เพื่อพัฒนาการพูดและการออกเสียง

ปัญหาทางทันตกรรม 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่มีแนวโน้มที่ทำจะทำให้ฟันผุ ฟันขึ้นผิดตำแหน่ง ฟันซ้อน ฟันเรียงตัวไม่สวย จำเป็นต้องสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดีในช่องปาก และหมั่นเข้ารับการตรวจหรือรักษาโดยทันตแพทย์เป็นประจำ หรืออาจต้องมีการจัดฟันร่วมด้วย

การติดเชื้อที่หูและปัญหาการได้ยิน 

ผู้ป่วยที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่หูชั้นกลางหรือหูน้ำหนวกได้มากกว่า หากไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลต่อการได้ยินหรือสูญเสียการได้ยินได้ ในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ควรเข้ารับการตรวจการได้ยินเป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการปากแหว่งเพดานโหว่อาจมีปัญหาในด้านอารมณ์ พฤติกรรม และการเข้าสังคม เนื่องจากขาดความมั่นใจและเกิดความเครียดจากการเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้ง ผู้ปกครองควรปรึกษาจิตแพทย์เพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางการรับมือที่เหมาะสมต่อผู้ป่วย

การป้องกันปากแหว่งเพดานโหว่

ปากแหว่งเพดานโหว่เป็นโรคที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ จึงอาจไม่มีการป้องกันโดยตรง อย่างไรก็ตาม  อาจลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในบุตรคนต่อไป โดยสามารถปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • เข้ารับการปรึกษาด้านพันธุกรรม หากพบว่าเคยมีประวัติโรคปากแหว่งเพดานโหว่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวแล้ว ให้ปรึกษาแพทย์และวางแผนการตั้งครรภ์เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
  • รับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ เช่น กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม วิตามินดี วิตามินซี เพื่อให้มารดาที่ตั้งครรภ์ได้รับสารอาหารและวิตามินที่ครบถ้วน ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เรื่องขนาดและปริมาณของสารอาหารที่ควรได้รับ
  • งดการสูบบุหรี่และงดการดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดข้อบกพร่องต่อบุตรในครรภ์