ปาน (Birthmarks)

ความหมาย ปาน (Birthmarks)

ปาน (Birthmarks) คือร่องรอยของจุดสีบนผิวหนังที่มักปรากฏขึ้นเมื่อแรกคลอดหรือหลังคลอดได้ไม่นาน โดยลักษณะของปานจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ตั้งแต่ลักษณะเรียบและนูน ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ไปจนถึงสีที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ บางคนอาจพบว่ารอยปานค่อย ๆ หายไปเองเมื่อโตขึ้น ในขณะที่บางคนอาจมีรอยปานไปตลอด

ลักษณะของปานจะสามารถแบ่งออกได้คร่าว ๆ เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ปานแดง และปานดำ โดยสาเหตุของการเกิดปานแดง หรือบางคนอาจเป็นสีออกชมพู หรือม่วง มักจะเกี่ยวข้องกับลักษณะของหลอดเลือดที่ผิดปกติ ส่วนปานดำ หรือในบางคนที่เป็นสีออกน้ำตาล น้ำเงิน หรือน้ำเงินเทา สาเหตุของปานกลุ่มนี้มักจะเกี่ยวข้องกับเม็ดสีเมลานินที่อยู่ในชั้นผิวที่มากเกินไป

ปาน

อาการของปาน

อาการของปานแดงและปานดำนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของปาน ดังนี้

ปานแดง 

ลักษณะของปานแดง มักเกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดหรือหลังจากคลอดออกมาแล้วไม่นาน ซึ่งรอยปานจะมีลักษณะคล้ายหลอดเลือด โดยผู้ที่มีปานแดงจะไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือเกิดอาการใด ๆ นอกเหนือไปจากสีผิวที่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ในบางคน ปานแดงที่ปรากฏบนบางส่วนของร่างกายก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้เช่นกัน เช่น ปานแดงที่มีลักษณะเป็นก้อนเล็ก ๆ ที่ขึ้นบริเวณคออาจไปบีบหลอดลมจนส่งผลให้หายใจไม่สะดวก หรือปานแดงที่ขึ้นบริเวณตาหรือหู อาจส่งผลให้ความสามารถทางการมองเห็นและได้ยินลดลง

นอกจากนี้ ปานแดงในบางลักษณะยังอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติอื่น ๆ ของร่างกายได้ เช่น เด็กบางคนที่มีปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอย (Port–Wine Stain) บริเวณรอบเปลือกตา มักจะป่วยด้วยกลุ่มอาการสเตอร์จเวเบอร์ (Sturge–Weber Syndrome) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับการเกิดต้อหิน อาการชัก และปัญหาสุขภาพบางอย่าง

ปานดำ 

ผู้ที่มีปานดำ น้ำตาล หรือน้ำเงินเทา เป็นกลุ่มปานที่อาจขยายใหญ่ขึ้น สีเปลี่ยน เกิดอาการระคายเคือง และมีเลือดออกบ้างในบางครั้ง

ทั้งนี้ ทั้งปานแดงและปานดำล้วนเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก โดยเด็กที่มีปานแต่แรกเกิดควรได้รับการตรวจจากกุมารแพทย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจและระบุว่าเป็นปานชนิดใด รวมถึงพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม หากแพทย์วินิจฉัยว่าปานนั้นเกี่ยวข้องกับอาการของโรค

นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีปานแดง หากพบว่ามีเลือดออก เจ็บ ระคายเคือง หรือติดเชื้อ ควรรีบไปพบแพทย์ และหากได้รับบาดเจ็บบริเวณปาน ควรทำความสะอาดแผลด้วยสบู่และน้ำเปล่า วางผ้าพันแผลบนแผลและกดห้ามเลือด หากเลือดไหลไม่หยุด ควรพบแพทย์ทันที ส่วนผู้ที่มีปานดำควรหมั่นตรวจดูเรื่อย ๆ ว่าปานมีขนาด สี หรือพื้นผิวที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

สาเหตุของปาน

ปานแต่ละชนิดจะมีกลไกการเกิดที่แตกต่างกันไป โดยปานแดงมักจะเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ผิดปกติของหลอดเลือดใต้ผิวหนัง ส่วนปานดำมักจะเกี่ยวข้องกับการผลิตจำนวนเม็ดสีมากเกินไป ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่นำไปสู่การเกิดปานอย่างที่กล่าวไป

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า ปานส่วนใหญ่อาจเกิดจากการที่เซลล์เคลื่อนตัวผิดปกติระหว่างที่ตัวอ่อนกำลังเจริญเติบโต ซึ่งโดยปกติเซลล์จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิตเนื้อเยื่อตามลักษณะของเซลล์ขึ้นมา แต่กรณีนี้เซลล์อาจผลิตเนื้อเยื่อมากเกินไป รวมทั้งไม่เคลื่อนตัวไปยังตำแหน่งของเนื้อเยื่อนั้น ๆ จนส่งผลให้เกิดปานขึ้นมา

การวินิจฉัยปาน

โดยส่วนใหญ่ การวินิจฉัยปานมักสามารถทำได้เพียงจากการดูจากลักษณะของปานที่ปรากฏบนผิวหนัง แต่ในบางกรณีที่แพทย์เห็นว่าผุ้ที่มีปานอาจมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แพทย์อาจแนะนำให้รับการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ซีที สแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan)

สำหรับการวินิจฉัยปานดำในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีปานเข้ารับการตรวจด้วยวิธีตัดชิ้นเนื้อตัวอย่างไปตรวจร่วมด้วย เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้

การรักษาปาน

ปานบางชนิดเป็นปานที่เกิดขึ้นชั่วคราวและหายไปเองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ส่วนในกรณีปานชนิดถาวร หากผู้ที่มีปานต้องการรักษาให้ปานหายไป แพทย์จะต้องตรวจดูก่อนว่า รอยปานดังกล่าวเป็นเนื้อเยื่อบริเวณใด เพื่อใช้ในการพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งก็มีทั้งการผ่าตัดศัลยกรรม การเลเซอร์ และการใช้รังสี

ทั้งนี้ ปานบางชนิดอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษา โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับลักษณะของปาน เช่น

ปานแดง

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปานแดงที่มีลักษณะเป็นจุดสีแดงนูน เล็ก นุ่ม หรือที่เรียกว่า ปานแดงสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma) แพทย์จะรักษาด้วยวิธีการศัลยกรรมตกแต่ง หรืออาจใช้ยาโพรพาโนลอล (Propanolol) เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงที่ปานลดลงจนค่อย ๆ มีขนาดที่เล็กและมีสีอ่อนลง

หรือในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีปานแดงชนิดเส้นเลือดฝอย หรือที่เรียกว่า Port–Wine Stain แพทย์ก็มักจะใช้วิธีการรักษาด้วยการเลเซอร์ที่หลอดเลือดที่อยู่ใต้ผิวหนัง เพื่อให้ความร้อนทำลายหลอดเลือด

ปานดำ

หากผู้ป่วยมีปานดำชนิดที่มีแต่กำเนิด หรือที่เรียกว่า Congenital Melanocytic Naevi แพทย์มักจะใช้วิธีการผ่าตัดตกแต่งเพื่อการรักษา โดยแพทย์จะผ่าตัดนำปานดำออกไปและเย็บผิวหนังเข้ามาติดกันเหมือนเดิมให้เรียบร้อย หรือหากบริเวณที่ผ่าตัดมีขนาดใหญ่ แพทย์ก็อาจนำผิวหนังส่วนอื่นมาปะผิวหนังบริเวณดังกล่าว

ภาวะแทรกซ้อนของปาน

โดยส่วนใหญ่ ปานที่เกิดขึ้นมักไม่เป็นอันตรายใด ๆ แต่ปานบางชนิดก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต้องได้รับการรักษาได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนแบ่งได้ตามชนิดของปาน ดังนี้

ปานแดงสตรอว์เบอร์รี่ (Strawberry Hemangioma)

ผู้ที่มีปานแดงสตรอว์เบอร์รี่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากปานแดงส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหาร การหายใจ หรือการมองเห็น หรือเด็กที่มีปานบริเวณตา จมูก ปาก หรือก้น ก็อาจมีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อ 

นอกจากนี้ หากปานขึ้นภายในร่างกายก็อาจส่งผลให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก หรือเลือดออกปนมากับอุจจาระได้อีกด้วย

ปานแดงเส้นเลือดฝอย (Port–Wine Stain)

ผู้ที่มีปานแดงชนิดนี้สามารถเกิดปัญหาสุขภาพซึ่งต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนี้

  • ต้อหิน ปานแดงที่ปรากฏบริเวณด้านบนและด้านล่างของเปลือกตาข้างเดียวกัน อาจนำไปสู่การเกิดต้อหินได้
  • กลุ่มอาการสเตอร์จเวเบอร์ (Sturge–Weber Syndrome) ปานแดงเส้นเลือดฝอยที่ขึ้นทั่วหน้าผากหรือหนังศีรษะและมีขนาดใหญ่มาก มักส่งผลให้มีอาการป่วยตามกลุ่มอาการนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและสมอง
  • การขยายตัวของเนื้อเยื่ออ่อน สำหรับเนื้อเยื่ออ่อนซึ่งอยู่ใต้ผิวหนังที่เกิดปานแดงเส้นเลือดฝอยมักขยายตัวใหญ่ขึ้นผิดปกติ
  • กลุ่มอาการเกี่ยวกับหลอดเลือดฝอยผิดรูป (Klippel–Trenaunay Syndrome) ผู้ที่มีปานแดงเส้นเลือดฝอยขนาดใหญ่บริเวณแขนขา อาจมีอาการป่วยแบบเดียวกับกลุ่มอาการที่หลอดเลือดฝอยผิดรูปได้

ปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi)

ผู้ที่มีปานดำชนิดปานดำแต่กำเนิด (Congenital Melanocytic Naevi) อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนังได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปานขนาดใหญ่ ผู้ที่มีปานดำชนิดนี้จึงควรหมั่นสังเกตว่าปานมีขนาด รูปร่าง หรือสีเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากปานดำมีเลือดออก บวมอักเสบ ระคายเคือง แผลเปิด รู้สึกเจ็บ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจชิ้นเนื้อและวินิจฉัยโรค

การป้องกันปาน

วิธีป้องกันปานแดงและปานดำยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจน แต่ผู้ที่มีปานสามารถดูแลและรับมือกับปานบนร่างกายของตนเองได้ ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือมากกว่านั้นเมื่อต้องโดนแสงแดด