ความหมาย ปีกมดลูกอักเสบ
ปีกมดลูกอักเสบ คือ การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณท่อนำไข่และรังไข่จนเกิดการอักเสบ สามารถเกิดได้กับปีกมดลูกทั้ง 2 ข้างหรือข้างใดข้างหนึ่ง โดยปีกมดลูกอักเสบเป็นส่วนหนึ่งของโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ ซึ่งการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อหนองในแท้หรือหนองในเทียม เป็นต้น หากไม่รักษาก็อาจทำให้เชื้อแพร่กระจายไปบริเวณอื่นในระบบสืบพันธุ์ หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
อาการของปีกมดลูกอักเสบ
ปีกมดลูกอักเสบแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
- ปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน อาการจะเกิดแบบทันทีทันใดและค่อนข้างรุนแรง ปีกมดลูกอาจบวมแดง และมีตกขาวผิดปกติด้วย
- ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่เป็นอย่างต่อเนื่องและไม่ยอมหายขาด
โดยอาการที่พบได้บ่อยของภาวะปีกมดลูกอักเสบ ได้แก่
- ปวดท้องหรือปวดท้องน้อย ซึ่งอาจเป็นข้างใดข้างหนึ่งหรือเป็นทั้ง 2 ข้าง โดยเฉพาะเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมา หรือช่วงไข่ตก
- ปวดแบบเสียด ๆ บริเวณหลังช่วงล่าง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริดกะปรอย หรือมีประจำเดือนผิดปกติ
- มีตกขาวมากขึ้น โดยมีสีและกลิ่นผิดปกติ เช่น ตกขาวเป็นสีเหลืองและมีกลิ่นเหม็น เป็นต้น
- ปัสสาวะบ่อย
- หากเชื้อโรคลุกลามอย่างรุนแรง และเกิดก้อนหนองในท่อนำไข่หรือรังไข่ ผู้ป่วยอาจมีไข้ด้วย
ทั้งนี้ ภาวะปีกมดลูกอักเสบมักเกิดในช่วงหลังมีประจำเดือน บางรายอาจไม่พบอาการผิดปกติ หรือมีอาการในช่วงสั้น ๆ แล้วหายไปเองโดยไม่ได้รับการรักษาแต่ยังคงเกิดการติดเชื้ออยู่ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว ดังนั้น หากพบอาการข้างต้น ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์
สาเหตุของปีกมดลูกอักเสบ
ปีกมดลูกอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ปีกมดลูกผ่านทางช่องคลอดและมดลูก ซึ่งมักเป็นเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อหนองใน เชื้อคลาไมเดีย เชื้อมัยโคพลาสมา เชื้อสตาฟิโลคอคคัส เชื้อสเตรปโทคอกคัส เป็นต้น ดังนั้น ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยางอนามัยหรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่ก่อนแล้ว มักมีความเสี่ยงในการเกิดปีกมดลูกอักเสบมากกว่าผู้หญิงกลุ่มอื่น
นอกจากนี้ การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นและลุกลามไปยังปีกมดลูกจนทำให้ปีกมดลูกอักเสบได้ เช่น
- คลอดบุตร
- ทำแท้ง หรือเกิดภาวะแท้งบุตร
- เข้ารับการผ่าตัดทางนรีเวช
- ใส่ห่วงคุมกำเนิด
- ไส้ติ่งอักเสบ
- คู่นอนมีการอักเสบติดเชื้อหรือมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ
- มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น
- สวนล้างช่องคลอดเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
การวินิจฉัยปีกมดลูกอักเสบ
แพทย์จะวินิจฉัยปีกมดลูกอักเสบด้วยการสอบถามรายละเอียดของอาการที่เกิดขึ้น ซักประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อดูอาการบ่งชี้ของปีกมดลูกอักเสบ เช่น อาการปวด กดแล้วเจ็บที่ปีกมดลูกข้างเดียวหรือ 2 ข้าง หรือกดแล้วเจ็บบริเวณมดลูกร่วมด้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ อาการของปีกมดลูกอักเสบอาจคล้ายคลึงกับโรคหรือภาวะอื่น ๆ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ไตติดเชื้อ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือซีสต์รังไข่ เป็นต้น จึงต้องมีการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ดังนี้
- การตรวจเลือด แพทย์จะตรวจนับเม็ดเลือดขาวและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ
- การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจหาเชื้อโรคหรือสัญญาณการติดเชื้ออื่น ๆ จากน้ำปัสสาวะ
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง เป็นการตรวจวินิจฉัยโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงแสดงภาพบริเวณปีกมดลูกและอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เพื่อตรวจหาความผิดปกติ ซึ่งการตรวจอัลตราซาวด์ท้องน้อยอาจทำให้พบก้อนฝีหนองที่ปีกมดลูก และหากมีการอักเสบเรื้อรังก็อาจตรวจพบอาการบวมบริเวณท่อนำไข่ด้วย
- การตรวจภายใน เพื่อดูความผิดปกติของตกขาว และอาการบวมที่กดเจ็บบริเวณปีกมดลูก
- การเก็บตัวอย่างจากเยื่อบุมดลูก แพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านและถ่างช่องคลอด จากนั้นจะป้ายเซลล์จากมดลูก เพื่อนำตัวอย่างเซลล์มาเพาะเชื้อและตรวจหาชนิดของแบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ
- การตรวจพิเศษทางรังสี เป็นการฉีดสีแล้วเอกซเรย์ดูโพรงมดลูกและท่อนำไข่ โดยแพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่โพรงมดลูกและท่อนำไข่ จากนั้นจึงถ่ายภาพทางรังสีเพื่อดูว่าเกิดการอุดตันของท่อนำไข่หรือไม่
- การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช บางกรณีอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเล็กด้วยกล้องพิเศษที่มีลักษณะเป็นท่อยาว เพื่อตรวจหาความผิดปกติของปีกมดลูกและอวัยวะอื่น ๆ ในอุ้งเชิงกราน โดยแพทย์จะผ่าตัดและสอดกล้องผ่านทางหน้าท้องของผู้ป่วย อีกทั้งยังต้องมีการติดตามผลอย่างสม่ำเสมอหลังการส่องกล้องด้วย
การรักษาปีกมดลูกอักเสบ
การรักษาปีกมดลูกอักเสบแบ่งออกได้หลายวิธี ดังนี้
- การรักษาด้วยยา แพทย์จะจ่ายยาเพื่อช่วยให้อาการทุเลาลงและผู้ป่วยมักมีโอกาสหายขาดค่อนข้างสูง โดยเบื้องต้นแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือฉีดยาให้กับผู้ป่วย เพื่อรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียแบบผู้ป่วยนอก แต่ในบางกรณีแพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำหากพบอาการรุนแรง เช่น มีไข้ มีก้อนหนองที่ปีกมดลูก มีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างหนัก ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่มีคู่นอน แพทย์มักแนะนำให้คู่นอนเข้ารับการตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นเดียวกัน และหากพบว่าเกิดการติดเชื้อด้วยก็ควรรักษาให้หายขาด เพื่อป้องกันผู้ป่วยได้รับเชื้อและกลับมาเป็นซ้ำอีก ซึ่งบางรายอาจต้องรับประทานยาแก้ปวดหรือให้ยาด้วยวิธีหยดเข้าหลอดเลือดด้วย
- การผ่าตัด แพทย์อาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องในกรณีที่ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น ผู้ป่วยที่เกิดหนองบริเวณปีกมดลูกจำเป็นต้องผ่าตัดระบายหนองออก เพื่อป้องกันการเกิดฝี รวมทั้งรักษาท่อรังไข่ที่เกิดพังผืดหรือแผล และตัดท่อนำไข่บางส่วนสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตรในอนาคต เป็นต้น
- การรักษาอื่น ๆ เป็นการรักษาเพื่อประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวดหรือยาลดไข้ และประคบหน้าท้องด้วยน้ำอุ่น เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง เป็นต้น
ทั้งนี้ ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยควรดูแลความสะอาดของตนเอง งดมีเพศสัมพันธ์ คุมกำเนิด หลีกเลี่ยงการใช้ห่วงอนามัย และหากพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบแจ้งแพทย์ทันที
ภาวะแทรกซ้อนของปีกมดลูกอักเสบ
หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ มักจะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการตั้งครรภ์ แต่หากปล่อยให้อาการเรื้อรังหรือรับการรักษาล่าช้า ก็อาจทำให้ท่อนำไข่อุดตัน ตีบ หรือเกิดพังผืด ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือนำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้หลายประการ เช่น ปวดท้องหรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง ติดเชื้อจนเกิดหนองและกลายเป็นฝีในท่อนำไข่ รวมทั้งเชื้ออาจลุกลามไปอวัยวะใกล้เคียงอื่น ๆ โดยเฉพาะมดลูกและรังไข่ เป็นต้น
การป้องกันปีกมดลูกอักเสบ
สาเหตุหลักของปีกมดลูกอักเสบ คือ การได้รับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การป้องกันที่มีประสิทธิภาพจึงทำได้ ดังนี้
- งดมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ
- หากสงสัยว่าตนเองหรือคู่นอนอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในขณะที่ยังไม่มีอาการ เพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
- ผู้ที่มีสัญญาณบ่งบอกถึงอาการปีกมดลูกอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค