ความหมาย ผดร้อน
ผดร้อน เป็นตุ่มคันขนาดเล็ก เกิดจากต่อมเหงื่อที่อุดตันใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อเหงื่อออก หรืออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น ซึ่งผดร้อนอาจปรากฏขึ้นได้ทั่วร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้า คอ หลัง อก และต้นขา เป็นต้น แม้ผดร้อนเป็นภาวะทางผิวหนังที่ไม่อันตราย และอาจหายได้เองเมื่ออากาศเย็นลง แต่คนทั่วไปควรศึกษาข้อมูลเพื่อป้องกันหรือรับมือหากเกิดผดร้อนขึ้นกับตนเอง
อาการของผดร้อน
อาการคันและมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามร่างกาย เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปของผดร้อน โดยมักปรากฏขึ้นบริเวณใต้ร่มผ้า หรือบริเวณใบหน้า คอ หลัง อก และต้นขา ส่วนเด็กเล็กมักเกิดผดร้อนบริเวณคอ หัวไหล่ และหน้าอก และบางครั้งอาจปรากฏอาการบริเวณรักแร้ ข้อพับแขน และขาหนีบได้ ซึ่งผดร้อนอาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ เช่น
- ตุ่มน้ำใสขนาด 1-2 มิลลิเมตร ไม่แสดงอาการเจ็บหรือคัน แต่อาจแตกเป็นสะเก็ดได้ง่าย มักเกิดจากการอุดตันในผิวหนังชั้นที่ตื้นที่สุด ทำให้เหงื่อที่รั่วออกมาจากท่อเหงื่อสะสมอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณนั้นซึ่งถูกปกคลุมด้วยผิวหนังบาง ๆ โดยมักเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยสัมผัสอากาศร้อนไม่กี่วัน และพบได้ทั่วตัวในทารก หรือบริเวณลำตัวในผู้ใหญ่
- ผดแดง ซึ่งทำให้รู้สึกคัน เจ็บแสบ หรือระคายเคือง และมักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังที่มีการเสียดสี เช่น อก คอ หลัง และข้อพับ
- ตุ่มสีเนื้อขนาด 1-3 มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายผิวห่าน และไม่แสดงอาการอื่น ๆ เกิดจากการรั่วของต่อมเหงื่อชั้นหนังแท้ ซึ่งมักเกิดในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังสัมผัสความร้อน
- ตุ่มเป็นหนองจากการอักเสบติดเชื้อ
แม้อาการมักหายไปเองเมื่ออากาศเย็นลง แต่ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ หากปรากฏอาการดังต่อไปนี้
- ผดไม่ยอมหาย ยังคันและเจ็บปวดอย่างต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน
- ผดมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น ผดมีสีแดงสว่าง หรือเป็นริ้วลาย และผดเกิดขึ้นหลังจากใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาตัวใหม่ที่ไม่เคยใช้มาก่อน
- เจ็บปวดเพิ่มขึ้น อาจเกิดร่วมกับอาการบวม แดง หรือ รู้สึกอุ่น ๆ บริเวณที่เป็นผด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- ต่อมน้ำเหลืองบวม ซึ่งอาจเกิดขึ้นบริเวณรักแร้ คอ และขาหนีบ
- ติดเชื้อ เมื่อผดร้อนที่เกิดขึ้นเริ่มมีหนองหรืออาการติดเชื้ออื่น ๆ
- มีไข้ หรือมีสัญญาณของภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ
สาเหตุของผดร้อน
สาเหตุหลักของผดร้อน คือ เหงื่อโดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น เพราะเหงื่อปริมาณมากจะทำให้ต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังอุดตัน และไม่สามารถระเหยออกมาได้ และเมื่อท่อส่งเหงื่ออุดตัน อาจทำให้เกิดการรั่วของเหงื่อสะสมอยู่ในชั้นผิวหนัง เกิดเป็นตุ่มน้ำจนกลายเป็นผดร้อนหรือเกิดการอักเสบตามมาได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่อาจระบุสาเหตุที่ทำให้ต่อมเหงื่ออุดตันได้ชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ภูมิอากาศเขตร้อน ร่างกายสัมผัสแสงแดด หรือสภาพอากาศที่ร้อนและชื้นจนมีเหงื่อออกมาก
- ต่อมเหงื่อพัฒนาไม่สมบูรณ์ อาจเกิดขึ้นได้กับทารกแรกเกิดที่มีอายุเพียง 1 สัปดาห์ เพราะต่อมเหงื่ออาจยังเจริญไม่เต็มที่ จึงอาจทำให้เหงื่อติดอยู่ใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในตู้อบเด็กหรือเป็นไข้
- การปกปิดร่างกาย เช่น การปิดผิวหนังด้วยพลาสเตอร์ การใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่นและหนาเกินไป หรือการนอนใต้ผ้าห่มไฟฟ้าที่ทำให้เกิดความร้อน
- การทำกิจกรรมที่ใช้แรง เช่น การออกกำลังกายหนัก ๆ หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้มีเหงื่อออกมาก
- ภาวะที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ เมื่อเกิดอาการป่วยต่าง ๆ ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีไข้ อาจทำให้ตัวร้อนและมีเหงื่อออกขณะนอนพักรักษาตัว หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ทำให้ต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน
- น้ำหนักมาก หรือภาวะอ้วน อาจทำให้มีเหงื่อออกมากเป็นพิเศษ
การวินิจฉัยผดร้อน
เนื่องจากผดร้อนเป็นภาวะทางผิวหนังที่พบได้ทั่วไป แพทย์อาจวินิจฉัยผดร้อนเพียงการสังเกตลักษณะภายนอกของผดเท่านั้น ผู้ป่วยอาจไม่ต้องรับการทดสอบใด ๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
การรักษาผดร้อน
การรักษาด้วยตนเอง
เมื่อพบว่ามีผดร้อนเกิดขึ้น อาจบรรเทาอาการคัน หรือป้องกันอาการกำเริบลุกลามได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น
- อยู่ในบริเวณที่มีอากาศเย็น หรือมีเครื่องปรับอากาศ และประคบผ้าเย็นบริเวณผิวหนัง เพื่อช่วยลดความร้อน
- หลีกเลี่ยงการใช้พลาสเตอร์ปิดทับผิวหนัง หรือไม่สวมใส่เสื้อผ้ารัดรูป เพื่อป้องกันการอุดตันของต่อมเหงื่อ
- หลีกเลี่ยงการทำงานหรือออกกำลังกลางแจ้งที่อาจทำให้เกิดเหงื่อออกมาก
- อาบน้ำด้วยน้ำเย็นและสบู่ที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง และปล่อยให้ผิวแห้งเองหลังอาบน้ำเสร็จ ไม่ใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัวเพื่อลดการเสียดสีจนเกิดผดร้อนอักเสบเพิ่มขึ้น
ส่วนทารกหรือเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ดีพอ อาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ถอดเสื้อผ้าเด็กออก หรือให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ที่ระบายอากาศได้ดี
- พาเด็กเข้าที่ร่ม หรือบริเวณที่มีเครื่องปรับอากาศ
- อาบน้ำเย็น โดยให้น้ำไหลผ่านผิวหนังเรื่อย ๆ เพื่อชำระล้างเหงื่อและไขมันตามร่างกายออกไป และอาจใช้ผ้าเปียกหรือผ้าเย็นวางบนบริเวณที่เกิดผดร้อนเพื่อลดอุณหภูมิให้เย็นลง
- ใช้พัดลมเป่าตัวเด็กให้แห้งหลังจากอาบน้ำแทนการใช้ผ้าขนหนูเช็ดตัว เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหนัง
- ตัดเล็บเด็กให้สั้นอยู่เสมอ หรือสวมถุงมือให้เด็กเพื่อป้องกันการเกาผิวหนังจนทำให้อาการรุนแรงขึ้น
การรักษาด้วยยา
โดยส่วนใหญ่ หากหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้น ดูแลให้บริเวณที่เกิดผดเย็นและแห้งอยู่เสมอ ผดร้อนและอาการต่าง ๆ ที่ไม่รุนแรงมากนักอาจหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่หากผดร้อนและอาการอื่น ๆ ที่ปรากฏมีความรุนแรง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยารักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาแก้แพ้ถ้ามีอาการคัน และใช้ยาขี้ผึ้งหรือผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ รวมทั้งลดความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงจากผดร้อน เช่น โลชั่นคาลาไมน์ สารให้ความชุ่มชื้นแอนไฮดรัส ลาโนอิน (Anhydrous Lanolin) ป้องกันการเกิดผดร้อนเพิ่มขึ้น และยาทาสเตียรอยด์ สำหรับรักษาผดร้อนที่มีอาการรุนแรง
ทั้งนี้ หากยังไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ห้ามใช้ยาทาขี้ผึ้งหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอื่น ๆ เพื่อรักษาผดร้อนในเด็ก และหากผดร้อนกลายเป็นตุ่มหนอง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หรือแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม เพราะผดร้อนที่ติดเชื้อแบคทีเรียอาจต้องรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของผดร้อน
โดยปกติ ผดร้อนอาจไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้ผดอักเสบ เป็นตุ่มหนอง คัน และมีอาการอื่น ๆ ตามมาได้
การป้องกันผดร้อน
วิธีป้องการเกิดผดร้อน มีดังนี้
- เลือกสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสม ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดเกินไปจนทำให้เกิดการระคายเคืองได้ และเลือกสวมเสื้อผ้าให้เหมาะตามฤดูกาล เช่น ใส่เสื้อผ้าที่นุ่ม เบา ทำจากผ้าฝ้าย ระบายอากาศได้ดีในฤดูร้อน และเลือกสวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายในฤดูหนาว แต่ไม่ควรสวมเสื้อผ้าหนาเกินไปจนทำให้รู้สึกร้อน
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ ครีม หรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเจลลี่ หรือน้ำมันแร่ที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน
- ใช้สบู่ที่ไม่ทำให้ผิวแห้ง ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือไม่มีการเจือสี
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น อาจนำพัดลมขนาดพกพาติดตัวไว้หากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากในสภาพอากาศที่ร้อนและชื้น
- หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผิวหนังส่วนเกินทับซ้อนกัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน และป้องกันได้ด้วยการลดน้ำหนัก
- ทำให้ผิวเย็นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันเหงื่อออกมาก เช่น อาบน้ำเย็น อยู่ในที่ร่มหรือห้องปรับอากาศ และอาจแเพื่อลดอุณหภูมิผิวหนังร่วมด้วย แต่ไม่ควรประคบผิวหนังนานเกิน 20 นาที
- เปิดเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมเวลานอน เพื่อป้องกันความร้อนหรือความชื้นที่อาจเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ แต่ควรปรับความเย็นให้เหมาะสม ระวังไม่ให้เย็นจนเกินไป โดยเฉพาะหากมีเด็กเล็กอาศัยอยู่ด้วย
สำหรับเด็กเล็ก ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากผู้ปกครอง โดยควรสังเกตอยู่เสมอว่าผิวของเด็กร้อนหรือชื้นเกินไปหรือไม่ โดยเฉพาะบริเวณลำคอ หว่างขา และบริเวณอื่น ๆ ที่อาจกักเหงื่อไว้ หากพบผิวหนังบริเวณที่ร้อนชื้น ผู้ปกครองควรล้างบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำเย็น และพยายามให้ผิวหนังบริเวณนั้นแห้งอยู่เสมอ โดยห้ามใช้แป้งเด็ก เพราะแป้งอาจไปอุดตันรูขุมขนจนทำให้ผิวหนังเกิดความร้อน และห้ามใช้ผ้าอ้อมที่ทำจากพลาสติก เพราะอาจทำให้เด็กร้อนและระคายเคืองได้