ความหมาย ผึ้งต่อย (Bee Sting)
ผึ้งต่อย (Bee Sting) คืออาการที่ผู้ป่วยถูกผึ้ง ซึ่งเป็นแมลงที่มีเหล็กในต่อย หรืออาจฝังเหล็กในลงบนผิวหนังด้วย จนทำให้เกิดความรู้สึกคล้ายถูกเข็มแทง รู้สึกปวด ร้อน หรือคันบริเวณที่เกิดเป็นตุ่มบวมขึ้นมา ซึ่งมีจุดสีแดงอยู่ตรงกลางและมีผิวหนังสีขาวอยู่โดยรอบ
โดยทั่วไป ความเจ็บปวดและตุ่มบวมจากการโดนผึ้งต่อยจะค่อย ๆ ดีขึ้น และหายไปภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงโดยไม่ต้องไปพบแพทย์ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการยาวนานเป็นสัปดาห์ เนื่องจากผึ้งต่อยหลายจุด หรือมีอาการแพ้พิษผึ้งที่รุนแรงจนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จึงควรปฐมพยาบาลเมื่อถูกผึ้งต่อยด้วยวิธีที่เหมาะสม พร้อมทั้งสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญของอาการแพ้ที่ควรรีบไปพบแพทย์
สาเหตุของอาการผึ้งต่อย
ผึ้งมักใช้เหล็กในต่อยเพื่อป้องกันตัวจากการรบกวนของมนุษย์ หากผึ้งต่อยและปล่อยเหล็กในฝังอยู่ในผิวหนังของมนุษย์ ผึ้งบางชนิดอาจตายเพราะต่อมพิษของผึ้ง (Venom) และอวัยวะภายในของผึ้งถูกดึงติดออกมากับเหล็กใน ส่วนร่างกายของคนที่ถูกผึ้งต่อยจะได้รับพิษผึ้งจากเหล็กใน ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ในบริเวณที่ถูกผึ้งต่อย
คนที่มีโอกาสที่จะถูกผึ้งต่อยได้ง่ายคือคนที่อยู่อาศัยในบริเวณที่มีผึ้งทำรังอยู่ หรือไปอยู่ใกล้ ๆ รังผึ้ง คนที่ใส่เสื้อผ้าสีฉูดฉาด ฉีดน้ำหอม หรือพยายามทำลายรังผึ้งโดยไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและไม่ได้สวมชุดป้องกันที่เหมาะสม
กรณีที่ถูกผึ้งต่อยหลาย ๆ จุดในร่างกาย หรือมีโรคภูมิแพ้ชนิดแพ้เหล็กในของผึ้ง จะเสี่ยงต่อเกิดอาการรุนแรงจากการถูกผึ้งต่อย เนื่องจากพิษผึ้งจากเหล็กในจะยิ่งส่งผลให้เกิดอาการที่รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
อาการผึ้งต่อย
หลังโดนผึ้งต่อย อาการที่พบได้ทั่วไป คือ
- รู้สึกคล้ายถูกเข็มแทง รู้สึกปวด แสบร้อน หรือคันบริเวณที่โดนต่อย
- เกิดเป็นตุ่มบวมขึ้นมา ซึ่งมีจุดสีแดงอยู่ตรงกลางและมีผิวหนังสีขาวอยู่โดยรอบ
โดยทั่วไป ความเจ็บปวดและตุ่มบวมจากการโดนผึ้งต่อยจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่บางคนอาจมีผิวแดงมากบริเวณที่โดนผึ้งต่อย ตุ่มบวมใหญ่ขึ้นมากในวันถัดไป ซึ่งอาจมีอาการยาวนานเป็นสัปดาห์หรือเกินกว่านั้น
อาการผึ้งต่อยที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หากอาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการเรื้อรังยาวนานและอาการไม่หายไป รวมถึงผู้ที่มีอาการแพ้ที่เป็นปฏิกิริยารุนแรง (Anaphylaxis) หลังถูกผึ้งต่อย ควรไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ด้รับการรักษาทันเวลา ซึ่งสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้
- มีผื่นลมพิษสีแดงหรือสีซีดขาวที่ทำให้คัน
- อ่อนเพลีย หมดแรง
- แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงหวีด
- เสียงแหบ พูดจาติดขัด
- ลิ้นบวม คอบวม
- คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง
- วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม
- หัวใจเต้นเร็ว
- กระวนกระวาย ไม่รู้สึกตัว หมดสติ
กรณีที่ถูกผึ้งต่อยมากกว่า 1 จุด อาจเกิดการสะสมของพิษจนทำให้มีอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือมีปัญหาการหายใจ หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะเหมือนบ้านหมุน มีไข้ ชัก หน้ามืด เป็นลม ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
การวินิจฉัยอาการผึ้งต่อย
เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์หลังถูกผึ้งต่อย นอกจากการตรวจร่างกายเพื่อดูอาการที่เกิดขึ้นตามบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยแล้ว หากแพทย์มีข้อสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีอาการแพ้พิษจากเหล็กใน แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ทดสอบการแพ้ทางผิวหนัง แพทย์อาจใช้ชุดทดสอบภูมิแพ้ ด้วยการฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสารพิษจากผึ้งไปบนผิวหนังบริเวณแขนหรือแผ่นหลังด้านบนเพียงเล็กน้อย แล้วรอดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นบนผิวหนังบริเวณนั้น วิธีการนี้จะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรง แต่ผู้ที่แพ้ต่อสารจะปรากฏเป็นตุ่มนูนขึ้นมา
- ตรวจเลือด แพทย์อาจนำตัวอย่างเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในเลือดที่เพิ่มขึ้นในการต้านพิษจากเหล็กในผึ้ง
การรักษาอาการผึ้งต่อย
การรักษาผึ้งต่อย มีดังนี้
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สำหรับผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยหลังถูกผึ้งต่อย ควรปฐมพยาบาลตามขั้นตอนดังนี้
1. หากเหล็กในอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัด ควรใช้เล็บมือ ขอบบัตรเครดิต หรือผ้าก๊อซดันเหล็กในออกมาให้เร็วที่สุด ไม่ควรใช้แหนบหนีบผิวหนังบริเวณที่ถูกผึ้งต่อย เพราะอาจทำให้พิษผึ้งเข้าสู่ผิวหนังมากขึ้น
2. กรณีที่มองไม่เห็นเหล็กในบนผิวหนัง ไม่ควรพยายามเอาเหล็กในออก เหล็กในจะหลุดออกมาได้เองเมื่อเวลาผ่านไปจากกระบวนการผลัดเซลล์ผิวหนังเก่าออก หรือบางครั้งอาจไม่มีเหล็กในฝังอยู่ในผิวหนังก็ได้ หากสัตว์ที่ต่อยคือตัวต่อ เพราะตัวต่อจะไม่ทิ้งเหล็กในไว้ในผิวหนังของคนเหมือนผึ้ง
3. ล้างทำความสะอาดผิวบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยด้วยสบู่และน้ำสะอาด
4. ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือเจลเย็นวางประคบในบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยประมาณ 20 นาที ทุก 1 ชั่วโมง
5. หากถูกผึ้งต่อยบริเวณแขนหรือขา ให้ยกแขนหรือขาขึ้น ในระดับที่สูงกว่าปกติ เพื่อลดอาการบวมและอักเสบ
การดูแลตัวเองที่บ้าน
หลังจากนำเหล็กในออกแล้ว ไม่ควรเกาบริเวณที่ถูกผึ้งต่อย เพราะจะยิ่งทำให้อาการแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ หากสวมใส่เครื่องประดับบริเวณที่ถูกผึ้งต่อย ให้ถอดเครื่องประดับออก เพราะอาจเกิดอาการบวมจนยากต่อการถอดเครื่องประดับในภายหลัง
ผู้ที่ถูกผึ้งต่อย สามารถใช้ยาต่าง ๆ ที่หาซื้อได้เองเพื่อบรรเทาอาการปวด บวม และคัน ดังนี้
- ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน
- ยาแก้คันผิวหนัง เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) และคาลาไมน์โลชั่น
- ยาแก้แพ้ (Antihistamine) เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) หรือคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ซึ่งช่วยบรรเทาอาการบวมและคันผิวหนัง
การรักษาโดยแพทย์
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอาการ ดังนี้
- ให้ยาหรือฉีดยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) และคอร์ติโซน (Cortisone) เพื่อลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้น และอาการอักเสบภายในทางเดินหายใจ ลดภาวะหลอดลมตีบ หรือมีเสมหะในทางเดินหายใจจากฮีสตามีน
- ฉีดอิพิเนฟริน (Epinephrine) โดยเฉพาะในรายที่มีปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) เพื่อรักษาและลดการเกิดอาการแพ้ที่เป็นอันตราย
- พ่นยาขยายหลอดลม (Beta Agonist) เช่น อัลบูเทอรอล (Albuterol) เพื่อบรรเทาอาการหลอดลมตีบจากปัญหาการหายใจ
- ให้ออกซิเจน เพื่อช่วยในการหายใจแก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาการหายใจอย่างรุนแรงจากอาการแพ้
- ทำซีพีอาร์ หรือปฏิบัติการช่วยชีวิต (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR) ในผู้ป่วยที่หยุดหายใจ
- แพทย์อาจฉีดสารภูมิคุ้มกันบำบัดให้ ซึ่งผู้ป่วยต้องมาฉีดเรื่อย ๆ ทุก 2–3 ปี เพื่อรักษาและลดปฏิกิริยาตอบสนองต่อพิษจากเหล็กในผึ้ง
ภาวะแทรกซ้อนจากการถูกผึ้งต่อย
โดยทั่วไป ผึ้งต่อยมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อาการปวดและบวมจากการถูกผึ้งต่อยจะหายดีได้ในเวลาไม่นาน แต่ผู้ที่มีอาการแพ้พิษผึ้งอาจเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการลมพิษ ใบหน้าและลำคอบวม หายใจลำบาก แน่นหน้าอก และหมดสติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา
การป้องกันการถูกผึ้งต่อย
การป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกผึ้งต่อย มีหลายวิธี เช่น
- เก็บอาหารและเครื่องดื่มไว้ในภาชนะที่มิดชิด ระมัดระวังในขณะดื่มน้ำหวานหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ตรวจดูบริเวณหลอด ภายในกระป๋องและภาชนะที่มองไม่เห็นด้านในอย่างชัดเจนก่อนรับประทานเสมอ
- ทำความสะอาดพื้นที่อยู่อาศัยโดยรอบ กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งที่อาจล่อผึ้งหรือแมลงต่าง ๆ เข้ามาได้
- สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และรองเท้าที่ปิดมิดชิดเมื่อเดินในสวนหรือสถานที่ที่มีต้นไม้ใหญ่ หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ ซึ่งจะมีพื้นที่ว่างให้แมลงเข้าไปภายในได้ ไม่สวมใส่เสื้อผ้าลายดอกไม้หรือที่มีสีสันสดใส และไม่ใช้น้ำหอมหรือครีมทาผิวที่มีกลิ่นดอกไม้หอมหวานดึงดูดผึ้งได้
- ไม่เปิดกระจกในขณะขับรถ และระมัดระวังในขณะทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น การตัดหญ้าหรือทำสวน เพราะอาจไปรบกวนรังที่อยู่ของผึ้งและแมลงมีพิษโดยไม่ตั้งใจ
- ให้ผู้ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ช่วยกำจัดรังผึ้งและแมลงอันตรายอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้บริเวณที่พักอาศัย
- หากมีผึ้งบินอยู่ใกล้ ๆ ตัว ให้อยู่ในความสงบและเดินออกมาอย่างช้า ๆ หลีกเลี่ยงการใช้มือปัดหรือตี เพราะจะทำให้ถูกผึ้งต่อยได้ง่าย
- หากถูกผึ้งต่อยและยังมีผึ้งตัวอื่น ๆ บินอยู่ในบริเวณนั้น ให้รีบออกจากบริเวณนั้นและเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มิดชิด เนื่องจากเมื่อผึ้งต่อยจะเป็นการปล่อยสารเคมีดึงดูดผึ้งตัวอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มด้วย ทำให้เสี่ยงต่อการถูกผึ้งต่อยเพิ่ม และอาจเกิดอาการแพ้รุนแรงจากการถูกผึ้งต่อยในหลาย ๆ จุดตามมา