ความหมาย ผื่นชนิดผิวหนังแดงลอกเป็นขุย (Exfoliative Dermatitis)
Exfoliative Dermatitis เป็นผื่นผิวหนังรุนแรงชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผื่นแดงหลุดลอกเป็นขุยหรือแผ่นทั่วร่างกายกว่า 90% ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บและคันอย่างรุนแรงร่วมด้วย โดยคาดว่าอาจเกิดจากการแพ้ยาหรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคผิวหนังชนิดอื่น
แม้ว่า Exfoliative Dermatitis จะเป็นความผิดปกติที่พบได้ไม่บ่อย แต่อาการที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงจนส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยที่มีอาการของผื่นชนิดดังกล่าวจึงควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการวินิจฉัยรักษาอย่างเหมาะสม
อาการของ Exfoliative Dermatitis
ผู้ที่ป่วยด้วย Exfoliative Dermatitis จะเกิดผื่นแดงอักเสบเป็นวงกว้างเกือบทั้งตัว ผิวหนังอาจเปลี่ยนเป็นสีชมพูหรือม่วง ร่วมกับมีสะเก็ดหลุดเป็นขุยหรือแผ่น และอาจสะสมจนเป็นแผ่นหนา สภาพผิวแห้งสาก มีอาการเจ็บบริเวณผื่นและคันอย่างรุนแรง ร่วมกับอาการอื่น ๆ ดังนี้
- ผิวเล็บหนา เป็นคลื่นหรือด้าน
- มีไข้ รู้สึกไม่สบาย หนาวสั่น
- เกิดภาวะขาดน้ำ สารอาหาร หรือวิตามินชนิดต่าง ๆ
- ต่อมน้ำเหลือง แขน หรือขาบวม
- เกิดการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียทางผิวหนัง
- อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงผิดปกติ
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่เข้าข่าย Exfoliative Dermatitis เพื่อที่จะได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดและป้องกันการเสียชีวิต
สาเหตุของ Exfoliative Dermatitis
Exfoliative Dermatitis มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คาดกันว่าเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยอาจเป็นผลจากอาการแพ้ยาหรือสารบางชนิด เช่น ยากันชักหรือยาปฏิชีวนะ หรืออาจเป็นผลมาจากโรคมะเร็งบางชนิดชนิด อย่างโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ในบางรายอาจเป็นผลมาจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคผิวหนังที่เป็นอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคผิวหนังแพ้แดดเรื้อรัง (Chronic Actinic Dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน โรคต่อมไขมันอักเสบหรือเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) หรือโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Pityriasis Rubra Pilaris: PRP)
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายที่เกิดผื่นแบบ Exfoliative Dermatitis ก็ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
การวินิจฉัย Exfoliative Dermatitis
แพทย์จะวินิจฉัย Exfoliative Dermatitis ด้วยการสอบถามประวัติทางการแพทย์ ประวัติการใช้ยา และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น จากนั้นจะมีการส่องกล้องตรวจผิวหนัง (Dermatoscopy) และตรวจวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย
โดยแพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกาย ตรวจหาภาวะโลหิตจาง ภาวะอัลบูมินในเลือดต่ำ (Hypoalbuminemia) ตรวจความผิดปกติของตับ ทดสอบภูมิแพ้ (Allergy Testing) และอาจตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อ (Biopsy) บริเวณที่มีอาการไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมด้วย
การรักษา Exfoliative Dermatitis
แพทย์จะค้นหาสาเหตุที่อาจทำให้เกิด Exfoliative Dermatitis และวางแผนการรักษาโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย ทั้งสาเหตุ อายุ สุขภาพร่างกายโดยรวม ประวัติทางการแพทย์ ระยะเวลาที่เกิดอาการ และความรุนแรงของอาการ
ผู้ป่วยที่มีอาการของ Exfoliative Dermatitis เนื่องจากการแพ้ยา แพทย์จะแจ้งให้ผู้ป่วยหยุดการใช้ยาดังกล่าวและเปลี่ยนชนิดของยาทันทีควบคู่ไปกับการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้นภายใน 2–3 สัปดาห์ แต่หากสาเหตุของ Exfoliative Dermatitis มาจากโรคผิวหนังหรือโรคอื่น แพทย์จะรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุ
ในกรณีเกิดอาการที่รุนแรงจาก Exfoliative Dermatitis จนทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ การควบคุมอุณหภูมิของร่างกายผิดปกติ การสูญเสียโปรตีน หรือภาวะอันตรายอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
โดยแพทย์จะตรวจดูระบบหมุนเวียนเลือดในร่างกาย การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย และภาวะอันตรายอื่น ก่อนจะช่วยเหลือผู้ป่วยตามอาการ เช่น การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเพื่อบรรเทาภาวะขาดน้ำหรือขาดสารอาหาร การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย การใช้ยาต้านฮีสตามีน บรรเทาอาการคัน การใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาการอักเสบของผิวหนัง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรดูแลตนเองร่วมด้วย เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ทายาหรือสารที่ให้ความชุ่มชื้นผิวเพื่อช่วยให้ผิวไม่แห้งจนเกินไป รับประทานยาแก้แพ้หรือยาบรรเทาอาการคัน ปิดบาดแผลเปิดด้วยผ้าก๊อซ รักษาความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และทำความสะอาดแผลแบบเปียก
ภาวะแทรกซ้อนของ Exfoliative Dermatitis
อาการของ Exfoliative Dermatitis อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ผมร่วง สีผิวในบริเวณที่มีอาการเปลี่ยนแปลงถาวร ภาวะอัลบูมินในเลือดต่ำ ภาวะขาดสารอาหาร ภาวะหัวใจล้มเหลว (Cardiac Failure) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) หรือปอดอักเสบร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในภายหลัง
การป้องกัน Exfoliative Dermatitis
Exfoliative Dermatitis ไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ทั้งหมด แต่สามารถลดความเสี่ยงต่ออาการแพ้ดังกล่าวได้ด้วยการระมัดระวังในการใช้ยาหากเคยมีประวัติการแพ้ยา แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการแพ้ยาหลังเริ่มใช้ยาใหม่ รักษาโรคผิวหนังอย่างเหมาะสม และในกรณีที่ป่วยด้วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่อ่อนโยนเพื่อป้องกันการกำเริบของ Exfoliative Dermatitis ในอนาคต