ผื่นแดงคล้ายตาข่าย (Livedo Reticularis)

ความหมาย ผื่นแดงคล้ายตาข่าย (Livedo Reticularis)

Livedo Reticularis คืออาการทางผิวหนังที่มีลักษณะเป็นรอยสีม่วงแดงรูปร่างคล้ายตาข่ายหรือตัวลาย เนื่องมาจากการไหลเวียนเลือดกลับเข้าสู่หัวใจของเลือดดำลดลงหรือมีปริมาณเลือดดำสะสมมากกว่าปกติ โดยอาจเป็นผลมาจากการขยายตัวหรือการอุดตันในหลอดเลือดดำ และจะยิ่งสังเกตเห็นได้ชัดเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น

โดยทั่วไป Livedo Reticularis มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการอื่น ๆ และจะค่อย ๆ ดีขึ้นหรือหายได้เอง แต่ในบางกรณี อาการดังกล่าวอาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคหรือภาวะอื่น ดังนั้นหากผู้ที่มีอาการดังกล่าวพบการเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

Livedo Reticularis

อาการของ Livedo Reticularis

โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีอาการทางผิวหนังแบบ Livedo Reticularis มักมีเพียงรอยสีม่วงแดงรูปร่างคล้ายตาข่ายบนผิวหนัง ซึ่งไม่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดหรือเกิดอาการอื่น ๆ โดยจะพบได้บ่อยบริเวณขา แต่ก็อาจพบที่บริเวณอื่นได้ อย่างใบหน้า ก้น มือ หรือเท้า และอาการจะยิ่งเห็นได้ชัดหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็นซึ่งอาการดังกล่าวมักหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา

อย่างไรก็ตาม รอยสีม่วงแดงดังกล่าวอาจเป็นอาการจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ ได้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้นแม้ร่างกายจะอยู่ในสภาวะอุณหภูมิปกติ กำลังป่วยเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (Peripheral Vascular Disease) หรือพบการเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีตุ่มขึ้นบริเวณที่เกิดอาการและรู้สึกเจ็บ หรือผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการเริ่มเปื่อยมีแผล เป็นต้น

สาเหตุของ Livedo Reticularis

รอยสีม่วงแดงบริเวณผิวหนังหรือ Livedo Reticularis เกิดจากการไหลเวียนเลือดกลับเข้าสู่หัวใจลดลงของเลือดที่มีออกซิเจนต่ำหรือเลือดดำ หรือมีปริมาณเลือดดำสะสมมากกว่าปกติ โดยอาจมีสาเหตุมาจากการขยายตัวของหลอดเลือดหรือตีบตันของหลอดเลือดดำ ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

ชนิด Primary Livedo Reticularis

เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุและอาจเป็นเพียงชั่วคราว มักพบในเด็กทารกและเพศหญิงวัย 20–50 ปี โดยมีปัจจัยอย่างความหนาวเย็น ยาสูบ และความเครียดเป็นตัวกระตุ้น 

ชนิด Secondary Livedo Reticularis หรือ Livedo Racemosa

เป็นชนิดที่พบได้ทั่วร่างกาย ซึ่งอาจเป็นโดยกำเนิดหรือเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • โรคที่ส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดหรือภาวะเลือดแข็งตัว เช่น กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid Syndrome) มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอิโลมา (Multiple Myeloma) ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (Disseminated Intravascular Coagulation) และกลุ่มอาการฮีโมไลติกยูรีเมีย (Hemolytic Uremic Syndrome) เป็นต้น
  • โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน การอักเสบของหลอดเลือด หรือโรคที่เกี่ยวกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic Lupus Erythematosus) โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) โรครูมาตอยด์ โรคแพน (Polyarteritis Nodosa) และกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren's Syndrome)
  • โรคทางระบบประสาท อย่างโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) และโรคพาร์กินสัน
  • การติดเชื้อ เช่น วัณโรค โรคซิฟิลิส โรคปอดอักเสบจากไมโคพลาสม่า (Mycoplasma Pneumonia) การติดเชื้อไวรัสพาร์โวไวรัส (Parvovirus) โรคไวรัสตับอักเสบ ซี ไข้กาฬหลังแอ่น 
  • มะเร็งบางชนิด อย่างมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) และมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมโฟไซต์ (Acute Lymphocytic Leukemia)
  • ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาอะแมนตาดีน (Amantadine) ยาไมโนไซคลีน (Minocycline) ยาเจมไซตาบีน (Gemcitabine) และกลุ่มยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เป็นต้น
  • ภาวะหรือโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะคอเลสเตอรอลอุดตันในหลอดเลือด ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง โรคเบอร์เกอร์ (Buerger's Disease) ตับอ่อนอักเสบ และอัมพาต เป็นต้น

การวินิจฉัย Livedo Reticularis

ในการวินิจฉัย Livedo Reticularis แพทย์จะตรวจดูผิวหนังบริเวณที่เกิดอาการและสอบถามอาการความผิดปกติอื่น ๆ ของผู้ป่วย ในกรณีที่มีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยมีโรคที่อาจเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตัดเนื้อเยื่อตัวอย่างไปตรวจ (Biopsy) หรือการตรวจหาความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดที่เกี่ยวข้องกับโรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นต้น

การรักษา Livedo Reticularis

การรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของ Livedo Reticularis หากเป็นชนิด Primary Livedo Reticularis ที่ไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย อาการดังกล่าวอาจค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง โดยแพทย์อาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้อาการแย่ลง อย่างความหนาวเย็น ยาสูบ และความเครียด  

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นชนิด Secondary Livedo Reticularis แพทย์จะรักษาจากโรคหรือภาวะที่เป็นต้นเหตุ เช่น ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหลอดเลือดอุดตัน แพทย์อาจใช้ยาแอสไพรินในปริมาณต่ำ ยาเพนท็อกซิฟิลลีน (Pentoxifylline) หรือยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Livedo Reticularis

โดยปกติแล้ว Livedo Reticularis เป็นอาการที่ไม่รุนแรงและไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่ผู้ที่มีโรคหรือภาวะต่าง ๆ เป็นสาเหตุอาจพบอาการแทรกซ้อนจากโรคนั้น ๆ ได้ เช่น ผู้ป่วยในกลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid Syndrome) อาจเกิดอาการทางหลอดเลือดที่รุนแรงและอาจส่งผลให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

การป้องกัน Livedo Reticularis

การป้องกันการเกิด Livedo Reticularis สามารถทำได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หนาวเย็น แต่หากเลี่ยงไม่ได้ควรรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อุ่นอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเครียด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรืออาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการอุดตัน