ฝีที่ก้น

ความหมาย ฝีที่ก้น

ฝีที่ก้น (Anorectal Abscess) เป็นกลุ่มฝีหนองที่เกิดจากการติดเชื้อของต่อมบริเวณทวารหนัก (Anal Glands) และไส้ตรงจนเกิดการอักเสบ ส่วนมากสังเกตได้ด้วยตาเปล่า แต่ฝีบางประเภทอาจเกิดลึกเข้าไปในทวารหนักจนยากที่จะมองเห็น แต่พบได้น้อย ซึ่งการรักษาส่วนใหญ่ทำโดยการระบายหนองออก เพราะหากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะทำให้เกิดการติดเชื้อจนลุกลามได้

595 Anorectal AbscessRe

อาการของฝีที่ก้น

หากเกิดฝีที่ก้นจะปวดตุบ ๆ บริเวณทวารตลอดเวลา มีอาการบวมแดง กดแล้วรู้สึกเจ็บ และปวดมากขึ้นเมื่อมีการถ่ายอุจจาระ ไอ หรือนั่งลง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย และยังพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น

  • ท้องผูก 
  • มีเลือด น้ำหนอง หรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ ไหลออกจากทวารหนัก
  • เหนื่อยง่าย
  • มีก้อนเนื้อหรือตุ่มเล็ก ๆ ที่อักเสบจนบวมแดงบริเวณขอบทวารหนัก  
  • มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ถ่ายปัสสาวะลำบาก
  • บางรายอาจพบว่าฝีอยู่ลึกเข้าไปในลำไส้ตรง โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (Inflammatory Bowel Disease: IBD) ทำให้รู้สึกปวดหรืออึดอัดบริเวณช่องท้อง ไข้ขึ้น หนาวสั่น เหงื่อออกกลางคืน
  • ในเด็กเล็กไม่ค่อยพบอาการใด ๆ ยกเว้นอาการปวดหรือเจ็บทวารหนัก ทำให้เด็กหงุดหงิดง่ายและอาจมองเห็นตุ่มหรือก้อนเล็ก ๆ รอบทวารหนัก

เมื่อผู้ป่วยรู้สึกปวดมากอย่างต่อเนื่อง มีอาการบวมแดง มีเลือด น้ำเหลือง หรือของเหลวที่มีกลิ่นเหม็นไหลออกทางทวารหนักหรืออวัยวะเพศ อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน ไข้ขึ้น หนาวสั่น หรือบางรายที่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ได้ ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีและป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา

สาเหตุของฝีที่ก้น

ฝีที่ก้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การเกิดทางทะลุบริเวณแก้มก้น (Anal Fistula) ซึ่งเป็นรูเล็ก ๆ ที่เชื่อมถึงกันระหว่างช่องทวารหนักด้านในและผิวหนังด้านนอก โดยทั่วไปมักเรียกกันว่า ฝีคัณฑสูตร
  • การติดเชื้อผ่านทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infections: STI)
  • การอุดตันของต่อมทวารหนัก ซึ่งมีหน้าที่ผลิตเมือกช่วยหล่อลื่นเวลาถ่ายอุจจาระ ต่อมเหล่านี้อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างทวารหนักและลำไส้ตรง มีทั้งชนิดที่อยู่ในชั้นใต้เยื่อเมือกบุผิวและชั้นของกล้ามเนื้อหูรูด

นอกจากนี้ ยังพบโรคและปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเกิดฝีที่ก้น ดังนี้

  • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)
  • กลุ่มโรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (Inflammatory Bowel Disease: IBD) เช่น โรคโครห์น (Crohn's Disease) ลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis)
  • โรคเบาหวาน
  • โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulitis)
  • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease)
  • การร่วมเพศทางทวารหนัก
  • การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์ (AIDS) ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) หรือยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) อื่น ๆ
  • อยู่ในช่วงการรักษาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือเคยเข้ารับการรักษา
  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • เกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักในเด็กวัยหัดเดินหรือเด็กเล็ก รวมไปถึงมีอาการท้องผูกบ่อย ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดฝีที่ก้นในผู้ใหญ่ได้มากกว่า

การวินิจฉัยฝีที่ก้น

แพทย์จะวินิจฉัยฝีที่ก้นได้ทันทีจากการสอบถามอาการเบื้องต้น ตรวจดูลักษณะความผิดปกติบริเวณทวารหนัก เช่น พบก้อนหรือติ่งขนาดเล็กหรือไม่ มีอาการบวมแดงบริเวณทวารหนัก เจ็บเมื่อสัมผัสโดน รวมไปถึงการตรวจร่างกาย แต่ในรายที่ไม่สามารถสังเกตความผิดปกติบริเวณนอกผิวบริเวณทวารหนัก แพทย์จะตรวจหาสิ่งผิดปกติภายในช่องทวารหนัก โดยสวมถุงมือแล้วใช้นิ้วเข้าไปตรวจ เพื่อคลำหาเนื้อเยื่อที่เกิดความผิดปกติ

นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจาณาการตรวจด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น

  • Fistulotomy เป็นการตรวจเอกซเรย์ในผู้ป่วยที่มีรูหรือช่องทะลุตามอวัยวะต่าง ๆ เพื่อดูความลึกของช่องทะลุ (Fistula) บริเวณทวารหนักและหาจุดเริ่มต้นของรู โดยสอดท่อขนาดเล็กผ่านทางผิวหนังที่เป็นช่องเปิดลงไปในรูจนทะลุไปถึงช่องทวารหนักด้านใน บางรายอาจมีการฉีดสีเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้แพทย์มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นขณะเอกซเรย์
  • Anoscopy เป็นการส่องกล้องดูช่องทวารหนั​​กและลำไส้ตรง โดยสวนสารทึบรังสีผ่านเข้าไปทางทวารหนักก่อนการตรวจ แพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างอุจจาระบางส่วนออกมาตรวจในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
  • Sigmoidoscopy เป็นการส่องกล้องเข้าไปภายในลำไส้ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหรือภาวะผิดปกติ เช่น อาการปวด เลือดออก โดยแพทย์จะสอดตัวกล้องที่มีลักษณะเป็นท่อเล็ก ๆ ผ่านทางทวารหนักไปยังลำไส้ อาจมีการตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
  • การอัลตราซาวด์ผ่านทวารหนัก (Transanal Ultrasound) เป็นวิธีการตรวจที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงช่วยในการสร้างเป็นภาพอวัยวะภายใน โดยแพทย์จะสอดอุปกรณ์เข้าไปทางทวารหนัก ซึ่งจะปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงไปกระทบกับอวัยวะและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ก่อนแสดงบนหน้าจอแสดงผล
  • การสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging: MRI) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าเอ็มอาร์ไอ เป็นเครื่องที่ใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าในการตรวจวินิจฉัยอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย โดยผู้ป่วยซึ่งเป็นฝีที่ก้นจะตรวจเอ็มอาร์ไอบริเวณลำไส้ แต่มีข้อห้ามของการตรวจประเภทนี้สำหรับผู้ที่สวมใส่อุปกรณ์ที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ เพราะอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรง

การรักษาฝีที่ก้น

ฝีที่ก้นมักไม่หายได้เองและส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษาทั่วไปจะเป็นการกรีดเอาหนองออกควบคู่กับการใช้ยา

การรักษาทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 แบบ

  • การกรีดเอาหนองออก แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดให้น้อยลง จากนั้นจึงเจาะที่ฝีโดยตรงหรืออาจเป็นบริเวณใกล้เคียง เพื่อระบายเอาหนองออกก่อนที่ฝีจะแตกหรือพัฒนากลายเป็นฝีประเภทอื่น  
  • การผ่าตัด ใช้สำหรับฝีที่มีขนาดใหญ่หรืออยู่ลึกเข้าไปในทวารหนัก รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีรูทะลุในบริเวณทวารหนัก ผู้ป่วยจะต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อผ่าตัดภายใต้การดมยาสลบ โดยแพทย์จะผ่าเอาหนองออกและทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เกิดฝีหรือรูทะลุ หลังจากนั้นจะเปิดแผลไว้และรอจนกว่าผิวหนังจะสมานเชื่อมกันได้เอง หลังการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้มีการนั่งแช่น้ำอุ่น 3-4 ครั้งต่อวัน เพื่อช่วยลดอาการบวมของฝี

การรักษาด้วยยา

หลังการผ่าหรือเจาะฝี แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดบรรเทาอาการและยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน แต่ในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงอาจรับประทานเฉพาะยาแก้ปวด นอกจากนี้ ยังมียาที่ช่วยให้อุจจาระนิ่ม (Stool Softener) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกถ่ายได้ง่ายขึ้น หรือป้องกันอาการท้องผูก

ภาวะแทรกซ้อนของฝีที่ก้น

ในระหว่างการรักษาตัวอาจเกิดการอักเสบของฝี ทำให้มีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง เมื่อรักษาไม่หายขาดหรือเชื้อยังคงไม่หมดไป ฝีหนองอาจทำให้เชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดได้ ผู้ป่วยจึงมีโอกาสเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) ตามมา เกิดทางทะลุถึงก้นของช่องทวารหนักภายในกับผิวหนังภายนอก (Anal Fistula) หรือกลับมาเป็นฝีที่ก้นได้ใหม่ นอกจากนี้ การผ่าตัดอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกมาก เกิดการติดเชื้อในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และรอยแผลเป็น

การป้องกันฝีที่ก้น

ฝีที่ก้นเกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย แนวทางการป้องกันนั้นทำได้บางส่วน เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นฝีที่ก้นให้น้อยที่สุด เช่น

  • สวมถุงยาง ทุกครั้งก่อนการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการร่วมเพศทางทวารหนัก ซึ่งสามารถลดโอกาสการได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ให้น้อยลง
  • รักษาความสะอาดและสุขอนามัยบริเวณทวารหนัก
  • ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือมีความผิดปกติบริเวณทวารหนักควรรักษาให้หายขาด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้เกิดฝีตามมา