ความหมาย พยาธิตัวจี๊ด
พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma Spinigerum) จัดเป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง มักเข้าสู่ร่างกายคนในขณะที่เป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 ผ่านการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อน หรืออาจชอนไชผ่านผิวหนังเข้าไป การติดเชื้อพยาธิชนิดนี้รักษาได้ด้วยการรับประทานยาถ่ายพยาธิ และควรรักษาแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันพยาธิชอนไชเข้าสู่อวัยวะสำคัญ มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการของพยาธิตัวจี๊ด
เมื่อตัวอ่อนของพยาธิตัวจี๊ดเข้าสู่ร่างกาย มันจะชอนไชไปตามส่วนต่าง ๆ จนผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการให้เห็นภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยอาการป่วยที่เกิดขึ้นตามมาและพบได้ทั่วไป มีดังนี้
- มีไข้ รู้สึกไม่สบายตัว
- ลมพิษ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- ปวดบริเวณลิ้นปี่ หรือปวดท้องด้านขวาบน
- เบื่ออาหาร
ทั้งนี้ อาการข้างต้นอาจเกิดขึ้นติดต่อกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พยาธิจะค่อย ๆ เคลื่อนที่ผ่านผนังช่องท้อง ลำไส้ใหญ่ หรือตับ หากพยาธิชอนไชไปบริเวณผิวหนังส่วนอื่น ๆ อาจทำให้เกิดอาการบวมที่มีบริเวณเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามการเคลื่อนที่ของพยาธิ บางรายอาจมีอาการปวดหรือคันร่วมด้วย และหากพยาธิไชเข้าไปยังอวัยวะสำคัญก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ เช่น พยาธิไชเข้าไปที่สมองอาจทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบ พยาธิที่ไชเข้าไปในดวงตาอาจทำให้ตาบอด เป็นต้น
สาเหตุของพยาธิตัวจี๊ด
ตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ดสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ดิบหรือปรุงไม่สุก เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมู เป็นต้น แต่ในเนื้อปลาทะเลน้ำลึกจะไม่พบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้
อย่างไรก็ตาม ตัวอ่อนของพยาธิตัวจี๊ดไม่สามารถเจริญเติบโตและวางไข่ภายในร่างกายคนได้ พยาธิชนิดนี้จึงชอนไชไปทั่วร่างกาย และหากไม่ได้รับการรักษา ตัวอ่อนเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในร่างกายได้นานถึง 12 ปี นอกจากนี้ พยาธิตัวจี๊ดยังสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้ โดยจะชอนไชเข้าไปผ่านทางรก
การวินิจฉัยพยาธิตัวจี๊ด
หากมีอาการบวมใต้ผิวหนังที่เปลี่ยนบริเวณไปเรื่อย ๆ อย่างผิดปกติ หรือสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อพยาธิตัวจี๊ด ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด ในเบื้องต้น แพทย์จะซักถามอาการและสอบถามว่าได้รับประทานอาหารที่ปรุงไม่สุกในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่
หากสันนิษฐานว่าผู้ป่วยมีพยาธิตัวจี๊ดในร่างกาย แพทย์อาจให้เข้ารับการตรวจด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การเจาะเลือดและน้ำไขสันหลังไปตรวจหาร่องรอยการติดเชื้อ โดยอาจดูได้จากระดับเม็ดเลือดขาวอีโอซีโนฟิล หรือตรวจด้วยวิธีภูมิคุ้มกันวิทยา เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจบริเวณอวัยวะอื่น ๆ ที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากพยาธิ เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณสมองหรือไขสันหลัง เป็นต้น
การรักษาพยาธิตัวจี๊ด
ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะที่ช่วยรักษาโรคติดเชื้อพยาธิตัวจี๊ดให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาทันทีที่เริ่มมีอาการ เพื่อป้องกันพยาธิเคลื่อนที่ไปยังอวัยวะสำคัญจนเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยแพทย์มักให้รับประทานยาถ่ายพยาธิอย่างยาไอเวอร์เมคติน หรือยาอัลเบนดาโซล วันละ 1-2 ครั้ง เป็นเวลาติดต่อกัน 21 วันเพื่อกำจัดพยาธิ และอาจให้ใช้ยาบรรเทาอาการคันหรือบวมร่วมด้วย เช่น ยาเพรดนิโซโลน ยาไดเอทธิลคาบามาไซน์ เป็นต้น แต่หากมีพยาธิตัวจี้ดไชอยู่ใต้ผิวหนัง แพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อนำตัวพยาธิออกจากร่างกายด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของพยาธิตัวจี๊ด
การติดเชื้อพยาธิตัวจี๊ดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น การติดเชื้อที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ปอดบวม เป็นอัมพาต รวมทั้งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะผิดปกติทางระบบประสาทชนิดอื่น ๆ ในระยะยาวได้ เป็นต้น
การป้องกันพยาธิตัวจี๊ด
การป้องกันพยาธิตัวจี๊ดทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการรับตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ เช่น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ
- ไม่ดื่มน้ำที่อาจมีการปนเปื้อน
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเนื้อสัตว์สด ๆ หากมีบาดแผลที่มือ เพราะอาจทำให้ตัวอ่อนพยาธิชอนไชเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผลดังกล่าว กรณีที่เลี่ยงไม่ได้ ควรสวมใส่ถุงมือป้องกันเสมอ
นอกจากนี้ หน่วยงานสาธารณสุขไทยก็ได้สนับสนุนให้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับพยาธิตัวจี๊ดแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและรู้จักป้องกันการติดเชื้อพยาธิชนิดนี้กันมากยิ่งขึ้น