พยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)

ความหมาย พยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)

พยาธิเส้นด้าย (Enterobius Vermicularis) หรือที่หลายคนเรียกว่าพยาธิเข็มหมุด เป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งที่มีสีขาว ลักษณะคล้ายเส้นด้าย มีขนาดตั้งแต่ 2-13 มิลลิเมตร อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์และวางไข่บริเวณรูทวารหนัก พยาธิชนิดนี้พบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากที่สุดในเด็ก หากติดเชื้อไม่ถือว่าเป็นอันตรายและรักษาได้ด้วยการใช้ยาถ่ายพยาธิ

Enterobius Vermicularis

อาการของการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)

การติดเชื้อพยาธิเส้นด้ายมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่บางคนอาจมีอาการปวดท้องแบบไม่รุนแรง และอาจมีอาการคันบริเวณรูทวารหนักในระยะที่พยาธิออกมาวางไข่ ซึ่งมักเกิดขึ้นในเวลากลางคืนหรือขณะนอนหลับ ส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท หากผู้ป่วยเกาแรง ๆ อาจทำให้ระคายเคืองหรือเกิดแผลบริเวณรอบทวารหนักได้

สาเหตุของการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)

พยาธิเข็มหมุดเข้าสู่ร่างกายได้ทางปากและการหายใจ โดยไข่ของพยาธิชนิดนี้มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและอาศัยอยู่ในฝุ่นละอองได้นานถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งอาจปนเปื้อนอยูตามเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน หรือผ้าห่ม ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายในอากาศและหายใจเข้าไปได้โดยไม่รู้ตัว รวมถึงการกินอาหารหรือนำมือที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก

ไข่พยาธิเข็มหมุดจะฟักตัวกลายเป็นพยาธิเมื่อเข้าสู่ร่างกายและมีชีวิตอยู่ภายในกระเพาะอาหารได้ประมาณ 5-6 สัปดาห์ ก่อนตาย พยาธิตัวเมียจะออกมาวางไข่ที่บริเวณรอบรูทวารหนักในเวลากลางคืน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีสภาพแวดล้อมและอากาศเอื้ออำนวย ระหว่างนี้ผู้ติดเชื้อจะเกิดอาการคันบริเวณดังกล่าว เมื่อเกาไข่พยาธิก็จะติดตามนิ้วมือและซอกเล็บ ซึ่งหากนำมือเข้าปากหรือหยิบจับของกินโดยไม่ล้างมือก่อนอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อพยาธิซ้ำได้ โดยเฉพาะในเด็กที่ยังมีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเท่าผู้ใหญ่

พยาธิเข็มหมุดนั้นพบในเด็กมากที่สุด เพราะเด็กยังดูแลสุขอนามัยด้วยตนเองได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น ลืมล้างมือ หรือมีพฤติกรรมดูดนิ้ว และเสี่ยงสัมผัสสิ่งของหรืออาหารที่ปนเปื้อนไข่พยาธิจากเด็กคนอื่นที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ ผู้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อพยาธิก็มีความเสี่ยงติดเชื้อได้สูงเช่นเดียวกัน รวมไปถึงการอยู่ในสถานที่ที่พบการติดเชื้อพยาธิได้บ่อยอย่างโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก และชุมชนแออัด ทั้งนี้ พยาธิเข็มหมุดไม่สามารถติดต่อจากสัตว์เลี้ยงสู่คนได้ เนื่องจากพยาธิชนิดนี้ไม่อาศัยอยู่ในร่างกายสัตว์

การวินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)

ในเบื้องต้นผู้ป่วยสามารถสังเกตถึงการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดได้จากลักษณะของอุจจาระ หากในอุจจาระมีเส้นสีขาวลักษณะคล้ายเส้นด้ายอาจสันนิษฐานได้ว่ามีพยาธิเข็มหมุดอยู่ในร่างกาย แต่ในกรณีที่ไม่แน่ใจหรือไม่เห็นตัวพยาธิในอุจจาระ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจให้แน่ชัด โดยแพทย์อาจใช้วิธีตรวจหาพยาธิเข็มหมุด ดังนี้

  • การเก็บตัวอย่างด้วยเทปกาว แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจเก็บตัวอย่างพยาธิด้วยการใช้เทปใสแปะบริเวณรอบรูทวารหนักทันทีหลังจากตื่นนอน จากนั้นเก็บเทปกาวใส่ภาชนะที่ปิดสนิท แล้วนำมาส่งตรวจในห้องปฏิบัติการต่อไป
  • การเก็บตัวอย่างด้วยสำลีก้าน แพทย์หรือพยาบาลจะใช้สำลีก้านเช็ดรอบรูทวารหนักเพื่อเก็บตัวอย่างของไข่พยาธิ
  • การตรวจอุจจาระ แพทย์จะให้ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างอุจจาระในปริมาณเล็กน้อยใส่ภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อนำไปตรวจหาพยาธิโดยวิธีทางห้องปฏิบัติการ

การรักษาการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิเส้นด้ายควรรีบรักษาโดยการใช้ยามีเบดาโซล และควรให้ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกับผู้ป่วยรักษาด้วยเช่นกัน ระหว่างนี้ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียนหรือหยุดงาน เพราะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย แต่ควรดูแลเอาใจใส่เรื่องความสะอาดและสุขอนามัยให้มากขึ้น ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ควรอาบน้ำทุกเช้าเพื่อชำระล้างไข่พยาธิตรงทวารหนักและบริเวณที่อาจปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำหรือก่อนหยิบจับอาหาร
  • เปลี่ยนกางเกงในทุกวัน
  • ทำความสะอาดบ้านให้สะอาด โดยเฉพาะห้องนอน เพื่อกำจัดฝุ่นละอองที่เป็นแหล่งสะสมของพยาธิหรือไข่พยาธิ
  • หมั่นซักและเปลี่ยนผ้าปูที่นอน โดยเฉพาะในช่วง 7-10 วันหลังจากการรักษา
  • ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอเพื่อป้องกันการสะสมของไข่พยาธิ
  • ควรให้เด็กที่ติดเชื้อพยาธิสวมถุงมือขณะนอนหลับเพื่อลดการระคายเคืองจากการเกา
  • ไม่รับประทานอาหารบนที่นอน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล ควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งจะกระทบต่อการถ่ายพยาธิออกมาจากร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)

โรคติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่พยาธิเข็มหมุดอาจเข้าสู่ช่องคลอดจนก่อให้เกิดการอักเสบภายในช่องคลอด และอาจส่งผลกระทบต่อมดลูก ท่อรังไข่ หรืออวัยวะอื่น ๆ ในบริเวณอุ้งเชิงกราน  นอกจากนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายไม่เพียงพอ เนื่องจากพยาธิแย่งดูดซึมอาหาร ส่งผลให้น้ำหนักลดหรือเกิดโรคขาดสารอาหารตามมา

การป้องกันการติดเชื้อพยาธิเส้นด้าย (พยาธิเข็มหมุด)

วิธีป้องกันการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดที่ดีที่สุดคือการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของตัวเองและคนในครอบครัว ซึ่งทำได้ดังนี้

  • ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังจากใช้ห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ก่อนเตรียมอาหาร และก่อนรับประทานอาหาร
  • ดูแลเล็บให้สั้นและสะอาดอยู่เสมอ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงนิสัยการกัดเล็บหรือการเกา เพราะอาจทำให้เสี่ยงได้รับไข่พยาธิเข้าสู่ร่างกายหรือเกิดการแพร่กระจายของไข่พยาธิได้
  • อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนชุดชั้นในทุกวันในตอนเช้าเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของพยาธิเข็มหมุด
  • หมั่นซักเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว และเครื่องนอนด้วยน้ำร้อน เพื่อกำจัดไข่พยาธิเข็มหมุดที่อาจปนเปื้อนติดมาโดยไม่รู้ตัว
  • เก็บกวาดห้องให้สะอาดและเปิดหน้าต่างให้แสงแดดส่องเข้ามาภายในห้อง เนื่องจากไข่ของพยาธิไม่สามารถทนต่อแสงแดดได้