ฟันคุด (Wisdom Teeth)

ความหมาย ฟันคุด (Wisdom Teeth)

ฟันคุด (Wisdom Teeth) เป็นฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาทางช่องปากได้ตามปกติ เนื่องจากเหงือกไม่มีพื้นที่พอให้ฟันโผล่ขึ้นหรือมีสิ่งที่ขัดขวางการขึ้นของฟัน ฟันจึงขึ้นในองศาที่ผิดปกติหรือไม่โผล่พ้นเหงือกขึ้นมา ส่งผลให้ฟันซี่อื่นได้รับความเสียหาย ฟันผุ และเกิดปัญหาอื่น ๆ ในช่องปาก 

ฟันคุดมักจะเกิดกับฟันกรามซี่ในสุด โดยบางรายอาจมีอาการเจ็บในช่องปาก แต่หากบริเวณเหงือกมีพื้นที่มากพอและฟันมีการโผล่พ้นในองศาที่เหมาะสมอาจจะไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการรักษาโดยการผ่าฟันคุดออกแม้จะไม่มีอาการผิดปกติ เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Wisdom teeth

อาการของฟันคุด

ฟันคุดมักเกิดกับฟันกรามซี่สุดท้ายที่จะขึ้นมาให้ช่วงวัยรุ่นหรือในช่วงอายุ 20 ตอนต้น หากฟันซี่นั้นขึ้นมาในมุมที่เหมาะสมอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ จึงไม่จำเป็นต้องถอนหรือผ่าตัดออก แต่ในกรณีที่ฟันคุดขึ้นจากเหงือกในมุมที่ผิดปกติก็อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อการเรียงตัวของฟัน กระดูกขากรรไกร หรือเส้นประสาทฟันได้ เช่น ฟันคุดเบียดเข้าหาหรือเบียดออกจากฟันกรามซี่ข้างเคียง ฟันคุดขึ้นในแนวนอน เป็นต้น

เนื่องจากฟันคุดอยู่ในตำแหน่งที่ทำความสะอาดได้ยาก จึงอาจมีเศษอาหารเข้าไปสะสมอยู่ในระหว่างซี่ฟันและเกิดปัญหาต่าง ๆ อย่างฟันผุ โรคเหงือก หรือการติดเชื้อ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • เหงือกบวมแดง ปวดเจ็บบริเวณเหงือกและมีเลือดออก
  • เจ็บกรามและมีอาการบวมในบริเวณโดยรอบ
  • มีกลิ่นปาก
  • มีรสชาติแปลกในปาก
  • อ้าปากไม่สะดวก

หากมีอาการข้างต้นควรไปพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุก่อนการรักษา เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคอื่นได้เช่นกัน จึงจะต้องมีการตรวจดูความผิดปกติและเอกซเรย์ภายในช่องปากก่อนจะถอนฟันหรือผ่าตัดฟันคุดออกไป

สาเหตุของฟันคุด

สาเหตุที่ทำให้เกิดฟันคุดเนื่องมาจากพื้นที่ของขากรรไกรหรือบริเวณช่องปากไม่เพียงพอที่จะให้ฟันขึ้นได้ตามปกติ โดยฟันอาจจะโผล่พ้นเหงือกและไม่โผล่พ้นเหงือกก็ได้ หรืออาจเกิดจากการขึ้นที่ผิดองศาของฟัน เช่น ฟันทำมุมไปยังด้านหน้าเข้าหาฟันกรามซี่ที่สอง ฟันขึ้นตั้งตรงแต่ไม่พ้นขอบเหงือก ฟันขึ้นโดยทำมุมไปทางด้านหลังของปาก หรือขึ้นเป็นแนวนอนติดอยู่ภายในเหงือก เป็นต้น

การวินิจฉัยฟันคุด

ทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปากจะสอบถามอาการและสุขภาพโดยรวม จากนั้นจะตรวจดูภายในช่องปากบริเวณฟันและเหงือกที่มีอาการ เพื่อประเมินฟันคุดที่ขึ้นอย่างผิดปกติหรือตรวจดูอาการอื่นที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาในช่องปาก นอกจากนี้ จะมีการเอกซเรย์ในช่องปากเพื่อตรวจดูฟันคุดและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับกระดูกและฟัน

การรักษาฟันคุด

หากฟันคุดไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือความผิดปกติ แพทย์จะตรวจหาฟันผุ โรคเหงือก ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ และมักจะแนะนำให้ผ่าตัดฟันคุดออกเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากบริเวณที่เกิดฟันคุดเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก และหากเกิดในผู้สูงอายุอาจรักษาได้ลำบากและมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง โดยทั่วไป ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดฟันคุดออกในช่วยอายุประมาณ 18-25 ปี เนื่องจากรากฟันจะยังไม่ยาวจนชิดกับเส้นประสาทข้างเคียง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน

ในกรณีที่ฟันคุดส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดหรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เกิดการติดเชื้อ เป็นโรคเหงือก มีฟันผุ มีซีสต์หรือเนื้องอก ฟันในบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหายจากฟันคุด เป็นต้น ศัลยแพทย์ช่องปากจะให้ผู้ป่วยผ่าฟันคุดออก โดยก่อนการผ่าตัดต้องฉีดยาชาเพื่อทำให้เกิดอาการชาบริเวณโดยรอบฟันซี่ที่เกิดฟันคุด หากผู้ป่วยเครียด แพทย์จะฉีดยากล่อมประสาทเข้าทางแขนของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้เกิดความผ่อนคลายมากขึ้น

ทั้งนี้ หากฟันของผู้ป่วยไม่ขึ้นมาพ้นเหงือก แพทย์จะทำการผ่าตัดเป็นรอยเล็ก ๆ บริเวณเหงือกและผ่าฟันออกเป็นหลายชิ้นส่วน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถนำฟันคุดออกมาได้ง่ายขึ้น ในระหว่างการผ่าตัดผู้ป่วยอาจรู้สึกตึงหรือรู้สึกถึงแรงกดบริเวณที่ทำการผ่าตัดเนื่องจากฟันคุดจะกระทบกับเบ้าฟันข้างเคียง โดยจะใช้เวลาในการนำฟันคุดออกไม่เท่ากันในแต่ละราย หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บขณะทำการรักษาควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อรับยาชาเพิ่ม

หลังการนำฟันคุดออกแล้ว แพทย์จะเย็บแผลด้วยไหมละลายเพื่อปิดบาดแผลบริเวณเหงือก และวางผ้าก๊อซไว้ที่บริเวณปากแผลโดยให้ผู้ป่วยกัดผ้าก๊อตไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อให้เลือดหยุดไหลและแข็งตัวกลายเป็นลิ่มเลือดเข้ามาอยู่ในเบ้าฟันที่เพิ่งนำฟันคุดออก ผู้ป่วยไม่ควรใช้ลิ้นดุนบริเวณที่ผ่าตัดเนื่องจากอาจทำให้เกิดเลือดออกอีกรอบ หากแพทย์ประเมินว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหลังการผ่าตัด แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะภายใน 24 ชั่วโมงหลังการนำฟันคุดออกนั้น

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มร้อนอย่างชาหรือน้ำซุป การออกกำลังกายอย่างหนัก รักษาสุขอนามัยภายในช่องปากด้วยการบ้วนปากหลังมื้ออาหารและก่อนเข้านอน หากแพทย์ไม่ได้จ่ายน้ำยาบ้วนปากมาให้ สามารถบ้วนด้วยน้ำเกลือ โดยผสมเกลือครึ่งช้อนชากับน้ำอุ่น 1 แก้ว

ภาวะแทรกซ้อนของฟันคุด

ฟันคุดอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น

  • ฟันซี่ข้างเคียง ได้รับความเสียหายหากไม่ได้รับการรักษา
  • เกิดถุงน้ำผิดปกติภายในกระดูกกราม ซึ่งอาจส่งผลต่อฟันและเส้นประสาทข้างเคียง
  • อาการฟันผุในฟันคุดและฟันซี่ข้างเคียง
  • โรคเหงือก เนื่องจากในบริเวณฟันคุดเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดได้ยาก จึงอาจเกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น ๆ
  • เกิดการติดเชื้อหรือภาวะเบ้าฟันแห้งหลังการนำฟันคุดออก
  • ภาวะชาบริเวณริมฝีปากล่างหรือคางหลังทำการผ่าตัด เนื่องจากการบาดเจ็บขณะรับการฉีดยาชา โดยอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชาติดต่อกันหลายวัน

การป้องกันฟันคุด

การลดความเสี่ยงของฟันคุดทำได้โดยการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน โดยแพทย์จะช่วยทำความสะอาดและตรวจช่องปาก บางรายอาจมีการเอกซเรย์ช่องปากหากพบสิ่งผิดปกติ ซึ่งจะช่วยให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงของฟันคุดได้ก่อนจะเกิดอาการต่าง ๆ