ความหมาย ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetes)
ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetes) เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ แต่ไม่สูงถึงเกณฑ์ของผู้ป่วยเบาหวาน หรือสูง 100–125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร โดยภาวะนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยหลายคนเป็นโรคเบาหวาน และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ ตามมา
ภาวะก่อนเป็นเบาหวานสามารถรักษาและควบคุมได้ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง หรืออาจรับประทานยาบางชนิดร่วมด้วย แต่ผู้ที่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวานส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้อยู่ เนื่องจากภาวะนี้มักไม่ส่งสัญญาณผิดปกติใด ๆ ทางร่างกาย
อาการของภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
โดยส่วนใหญ่ ภาวะก่อนเป็นเบาหวานมักไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ หรือในบางกรณีอาจพบเพียงสัญญาณบางอย่าง เช่น ผิวหนังบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ด้านหลังและด้านข้างลำคอมีสีคล้ำหนาขึ้นผิดปกติ
ผู้ที่พบอาการในลักษณะข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการผิดปกติบางอย่างร่วมด้วย เช่น รู้สึกกระหายน้ำผิดปกติ หิวบ่อย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย รู้สึกชาหรือเหมือนมีเข็มทิ่มบริเวณเท้าหรือมือ มองเห็นไม่ชัด น้ำหนักลดผิดปกติ ติดเชื้อบ่อย หรือบาดแผลหายช้า
สาเหตุของภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
โดยปกติ ตับอ่อนจะมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะก่อนเป็นเบาหวานจะพบว่า ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือกระบวนการตอบสนองของเซลล์ต่ออินซูลินน้อยลงหรือช้าผิดปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำดาลในเลือดของผู้ป่วยสูงขึ้นตามมา
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าว แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำหนักเกินและการไม่ค่อยออกกำลังกาย
นอกจากนี้ ภาวะก่อนเป็นเบาหวานยังพบได้มากในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น
- อายุ 45 ปีขึ้นไป
- มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ตั้งแต่ 23 ขึ้นไป
- มีขนาดรอบเอวกว้าง โดยสำหรับผู้ชายจะอยู่ที่ประมาณ 90 เซนติเมตรขึ้นไป ส่วนผู้หญิงจะอยู่ที่ประมาณ 80 เซนติเมตรขึ้นไป
- รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิดมากเกินไป เช่น เนื้อแดง เนื้อแปรรูป เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง
- คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes)
- มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes)
- มีปัญหาทางด้านสุขภาพบางชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ไตรกลีเซอไรด์สูง อ้วนลงพุง กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) หรือภาวะอะโครเมกาลี (Acromegaly)
- ใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ (Steroids) ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotics) บางชนิด หรือยาต้านเชื้อเอชไอวีบางชนิด เป็นต้น
- สูบบุหรี่
การวินิจฉัยภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
ในการวินิจฉัยภาวะก่อนเป็นเบาหวาน แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์จะใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- วิธี Fasting Blood Sugar โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยงดรับประทานอาหารเป็นเวลา 8 ชั่วโมง แล้วค่อยตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี หรือ HbA1c เป็นวิธีที่จะช่วยให้แพทย์เห็นค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยในช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมา
- วิธี Oral Glucose Tolerance Test (OGTT) วิธีนี้เป็นวิธีที่แพทย์มักใช้กับผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์เท่านั้น โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยงดอาหาร 1 คืน เพื่อตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือด จากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยดื่มน้ำที่มีน้ำตาลผสมอยู่ และแพทย์จะตรวจเลือดซ้ำอีกครั้งหลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมง
การรักษาภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
ในการรักษาภาวะก่อนเป็นเบาหวาน แพทย์มักจะเน้นให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเป็นหลัก เช่น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยแพทย์จะเน้นให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ ให้พลังงานต่ำ และมีไฟเบอร์สูง
- ออกกำลังกายให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดหรือควบคุมน้ำหนัก และช่วยให้ร่างกายใช้อินซูลินได้ดีขึ้น โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยออกกำลังกายให้ได้สัปดาห์ละประมาณ 75–150 นาที ขึ้นอยู่กับความหนักของการออกกำลังกายและความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
- เข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านสุขภาพบางอย่างร่วมด้วย เช่น คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง นอนไม่หลับ หรือเครียด แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์
นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาบางชนิดร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ยาควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ยาควบคุมความดันโลหิต หรือแพทย์อาจให้ยารักษาเบาหวาน อย่างยาเมทฟอร์มิน (Metformin) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะเบาหวาน
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
ผู้ป่วยภาวะก่อนเป็นเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดเกิดความเสียหาย เกิดผลกระทบบางอย่างต่อหัวใจ ไตมีปัญหา รวมถึงอาการอาจมีความรุนแรงขึ้นจนเกิดเป็นโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างตามมา เช่น
- โรคหัวใจ
- โรคไต
- ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease)
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease)
- ภาวะแทรกซ้อนที่ดวงตา เช่น ตามัว ต้อหิน
- ภาวะแทรกซ้อนที่เท้า เช่น ชา แผลที่เท้า
- เส้นประสาทเกิดความเสียหาย
- มีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน
- ผิวหนังเกิดการติดเชื้อ
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- คอเลสเตอรอลในเลือดสูง
การป้องกันภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
ในการป้องกันภาวะก่อนเป็นเบาหวานในเบื้องต้นอาจทำได้ตามวิธีดังต่อไปนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล ไขมัน และเกลือสูง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและคอยควบคุมน้ำหนัก
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หมั่นไปตรวจสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะก่อนเป็นเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวาน อาจหาเวลาไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ได้รับการวัดระดับน้ำตาลในเลือดและรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม