ความหมาย ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia)
Dysthymia หรือภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง เป็นภาวะซึมเศร้าชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมเศร้า สิ้นหวัง ไม่มั่นใจในตนเอง หรือขาดความสนใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยความรุนแรงของอาการอาจไม่เท่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แต่จะเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังเป็นระยะเวลาหลายปีจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเรียน การทำงาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
โดยส่วนใหญ่อาการของ Dysthymia มักเริ่มเกิดในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่น และบางคนอาจเป็นโรคทางอารมณ์ (Mood Disorder) หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างโรคซึมเศร้า (Major Depression) ซึ่งการรักษาผู้ป่วย Dysthymia ที่แพทย์มักใช้และได้ผลดีที่สุดคือการใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัด (Psychotherapy)
อาการของ Dysthymia
ผู้ที่ป่วยเป็น Dysthymia มักมีอาการหลัก คือ อารมณ์เศร้าหมองหรือรู้สึกหดหู่อยู่บ่อย ๆ โดยเป็นอย่างเรื้อรังนานเกิน 2 ปี ในผู้ใหญ่หรือ 1 ปี ในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งอาการแต่ละครั้งจะมีความรุนแรงต่างกันและไม่ทิ้งช่วงนานเกิน 2 เดือน ในบางกรณีอาจพบอาการซึมเศร้าชนิดรุนแรงร่วมด้วย
นอกจากนี้ผู้ที่ป่วยเป็น Dysthymia อาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยอาการอาจไม่รุนแรงแต่จะเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง เช่น
- ขาดความสนใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
- เบื่ออาหาร หรือรู้สึกอยากรับประทานอาหารมากกว่าปกติ
- พฤติกรรมการนอนหลับเปลี่ยนไป เช่น หลับ ๆ ตื่น ๆ นอนไม่หลับ ตื่นเช้า หรือหลับนานกว่าปกติ
- อ่อนเพลีย
- ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง โทษตัวเอง หรือรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ
- โกรธง่าย หรือมีอารมณ์โกรธรุนแรง
- ขาดสมาธิ และไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ
- รู้สึกสิ้นหวัง
- ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
- หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม
- รู้สึกผิด หรือเป็นกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต
- มีความคิดเกี่ยวกับความตาย เช่น วางแผนฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายบ่อย ๆ
ในกรณีที่ Dysthymia เกิดขึ้นในเด็กหรือวัยรุ่น อาจพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มักแสดงอาการฉุนเฉียวหรือโกรธง่ายมากกว่าอาการซึมเศร้า และอาจพบความผิดปกติในด้านต่าง ๆ เช่น มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม มีปัญหาในด้านการเรียน หรือเข้ากับเด็กคนอื่น ๆ ยาก เป็นต้น
เนื่องจากอาการต่าง ๆ มักเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ผู้ป่วยจึงอาจเข้าใจผิดว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น หากเกิดอาการซึมเศร้า หดหู่ หรืออาการในข้างต้นบ่อย ๆ ควรไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
แต่หากผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดสังเกตเห็นสัญญาณที่เป็นอันตราย อย่างการฆ่าตัวตาย ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที โดยอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น นำของใช้ส่วนตัวไปให้ผู้อื่น พยายามจัดการธุระส่วนตัว พูดเกี่ยวกับการหายตัวไป ความตาย หรือการฆ่าตัวตายอยู่บ่อย ๆ มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง หลีกเลี่ยงการพบปะเพื่อนฝูงหรือการเข้าสังคม หรือมีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป เป็นต้น
สาเหตุของ Dysthymia
ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิด Dysthymia แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น
- สารเคมีในสมอง โดยอาจจะเป็นสารเคมีในสมองไม่สมดุลกัน หรือสารสื่อประสาทบางชนิดที่ส่งผลต่ออารมณ์ทำงานผิดปกติ
- พันธุกรรม แม้จะยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด แต่ผู้ที่คนในครอบครัวหรือญาติโดยเฉพาะญาติสายตรงที่มีประวัติการเกิด Dysthymia มักเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น
- เหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดความเครียดอาจกระตุ้นให้เกิด Dysthymia ได้ เช่น ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ปัญหาในการทำงาน หรือการสูญเสียคนใกล้ชิด เป็นต้น
- โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน หรือโรคทางจิตเวช อย่างโรควิตกกังวล โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) หรือการติดยาเสพติด เป็นต้น
- ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การกระทบกระเทือนทางสมอง หรือสภาพแวดล้อมทางสังคม เป็นต้น
ในกรณีผู้สูงวัย การเกิด Dysthymia มักเป็นผลมาจากโรคบางชนิด กระบวนการรับรู้ลดลง การสูญเสียบุคคลใกล้ชิด ความพิการ หรือระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกายต่ำ
นอกจากนี้ Dysthymia อาจพบได้มากในผู้หญิง หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างเด็ก เด็กวัยรุ่น หรือคนวัยหนุ่มสาว เนื่องจากอาการส่วนใหญ่มักเริ่มเกิดในช่วงอายุดังกล่าว และอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยง หากมีปัจจัยบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น เช่น พ่อหรือแม่มีประวัติเป็น Dysthymia หรือภาวะซึมเศร้าชนิดอื่น เคยผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง มีประวัติการเกิดโรคทางจิตเวช หรือมีลักษณะนิสัยบางอย่าง อย่างขาดความมั่นใจในตนเอง ชอบตำหนิตนเอง หรือมองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น
การวินิจฉัย Dysthymia
ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้าเรื้อรังเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยเฉพาะประวัติการเกิดโรคทางจิตเวชของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว หากมีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง โดยในผู้ใหญ่มักพบว่ามีอาการซึมเศร้าบ่อย ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ปีขึ้นไป หรือเด็กมักจะมีอาการซึมเศร้าบ่อย ๆ ฉุนเฉียว หรือโกรธง่ายผิดปกตินานกว่า 1 ปีขึ้นไป แพทย์จะตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น
- ตรวจร่างกาย แพทย์จะตรวจร่างกายและสอบถามประวัติด้านสุขภาพของผู้ป่วยอย่างละเอียด เนื่องจากโรคซึมเศร้าเรื้อรังของผู้ป่วยอาจเกี่ยวข้องกับโรคทางกายบางชนิด
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab Tests) แพทย์จะใช้วิธีตรวจต่าง ๆ ทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่อาจส่งผลให้เกิดอาการคล้ายคลึงกัน เช่น แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือไม่
หากผู้ป่วยไม่มีโรคทางกายใด ๆ ที่เป็นสาเหตุ แพทย์อาจประเมินอาการทางจิตเพิ่มเติม โดยการพูดคุยเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมถึงอาจให้ทำแบบทดสอบบางอย่าง เพื่อวินิจฉัยแยกโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการใกล้เคียงกัน อย่างโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง โรคไบโพลาร์ หรือโรคซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ซึ่งหากผู้ป่วยมีแนวโน้มว่าเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์เฉพาะทางหรือจิตแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมหรือการรักษาที่เหมาะสม
การรักษา Dysthymia
ในการรักษาโรคซึมเศร้าเรื้อรัง แพทย์มักใช้วิธีการรักษาด้วยยา การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) หรืออาจใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สาเหตุและความรุนแรงของอาการ หรือความเหมาะสม เป็นต้น
การรักษาด้วยยา
ยาต้านเศร้าที่แพทย์มักใช้ในการรักษา เช่น
- ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) เช่น ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยาเซอร์ทราลีน (Sertraline)
- ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants) เช่น ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) ยาอะม็อกซาปีน (Amoxapine) หรือยาอิมิพรามีน (Imipramine)
- ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors) เช่น ยาเดสเวนลาแฟ็กซีน (Desvenlafaxine) หรือยาดูล็อกซีทีน (Duloxetine)
ในการรักษาโรคซึมเศร้าเรื้อรังด้วยยา ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนหายาที่เหมาะสม เนื่องจากยาบางชนิดอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือนานกว่านั้นในการออกฤทธิ์หรือการปรับตัวต่อผลข้างเคียงของยา และผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการหยุดยาอย่างกะทันหันอาจส่งผลให้ภาวะซึมเศร้าแย่ลง หรือเกิดอาการถอนยาได้
นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน เช่น
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร เนื่องจากยาต้านเศร้าบางชนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกเกิดโรคต่าง ๆ
- เด็กหรือวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 25 ปี อาจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหลังจากใช้ยา โดยเฉพาะในช่วง 2–3 สัปดาห์แรกหลังเริ่มใช้ยาหรือหลังจากการปรับปริมาณยา
อย่างไรก็ตาม บุคคลรอบข้างของผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วยหลังจากใช้ยาต้านเศร้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนชนิดของยา หรือช่วงที่แพทย์ปรับปริมาณยา หากเริ่มเห็นว่าผู้ป่วยมีสัญญาณอันตราย อย่างการฆ่าตัวตาย ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
จิตบำบัด
จิตบำบัดเป็นวิธีที่แพทย์จะพูดคุยและให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจและสามารถรับมือกับอาการต่าง ๆ อย่างเหมาะสม โดยแพทย์จะเลือกวิธีบำบัดตามความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น
- การบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยตระหนักรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ ทั้งอาการที่เกิดขึ้น ปัจจัยที่ส่งผลให้อาการแย่ลง และความคิดในเชิงลบต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการจัดการกับความเครียด วิธีการแก้ปัญหา และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
- การบำบัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับคนรอบข้าง โดยแพทย์จะช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในด้านความสัมพันธ์อย่างเหมาะสม เช่น การจัดการกับความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับคนรอบข้าง หรือการรับมือกับการสูญเสียบุคคลใกล้ชิด เป็นต้น
- การบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับปมปัญหาทางจิตใจต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดอาการ โดยเฉพาะปมที่เกิดจากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็ก
การรักษาโรคซึมเศร้าเรื้อรังเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และแม้ว่าโรคซึมเศร้าเรื้อรังจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ป่วยอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำงานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือการใช้สารเสพติด เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของ Dysthymia
ผู้ป่วย Dysthymia ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ เช่น
- เจ็บปวดตามร่างกายอย่างเรื้อรัง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคซึมเศร้าชนิดรุนแรง โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) โรคความผิดปกติทางบุคลิกภาพ (Personality Disorder) โรคทางจิตเวช หรือโรคทางอารมณ์อื่น ๆ (Mood Disorder) เป็นต้น
- ในกรณีผู้สูงวัย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) หรืออาการสมองเสื่อม (Dementia)
- มีความคิดเกี่ยวกับความตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
- เกิดพฤติกรรมการใช้สารเสพติด
นอกจากนี้ Dysthymia อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วย อย่างขาดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานหรือการเรียนลดลง
การป้องกัน Dysthymia
เนื่องจากทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการเกิด Dysthymia ที่แน่ชัด การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงในการเกิดอาการที่รุนแรงได้ เช่น หาวิธีที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ปรึกษาเพื่อน หรือคนในครอบครัวเมื่อเกิดปัญหา หมั่นสังเกตอาการตัวเองหรือคนใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อย่างเด็กหรือวัยรุ่น และควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากพบอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรค เป็นต้น