ความหมาย ภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด (Hypoxemia)
Hypoxemia หรือภาวะพร่องออกซิเจนในเลือด เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติจนร่างกายไม่สามารถทำงานได้ และผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
นอกจากนี้ ภาวะ Hypoxemia ยังมีความคล้ายคลึงกับภาวะ Hypoxia หรือภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจนที่ผู้ป่วยจะมีเลือดในเนื้อเยื่อน้อยกว่าปกติ ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการของทั้ง 2 ภาวะนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันได้ แพทย์จึงจะเลือกวิธีการรักษาตามสาเหตุและอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก
อาการของ Hypoxemia
ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะ Hypoxemia มักจะมีอาการหายใจไม่อิ่มหรือหายใจเป็นเสียงหวีด ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ไอ รู้สึกสับสนหรือมึนงง เล็บ ริมฝีปากหรือผิวเป็นสีม่วงคล้ำ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากมีอาการหายใจไม่อิ่มหลังออกแรงเพียงเล็กน้อยหรือขณะพักผ่อน อาการหายใจไม่อิ่มรุนแรงขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง หรือมีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับอย่างการสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะหายใจไม่อิ่มหรือรู้สึกเหมือนสำลัก
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหายใจไม่อิ่มร่วมกับอาการไอ หัวใจเต้นเร็ว หรือมีอาการเหล่านี้ระหว่างเดินทางไปยังพื้นที่สูง ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นภาวะที่ปอดทำงานผิดปกติและอาจเป็นอาการของภาวะ High Altitude Pulmonary Edema (HAPE) ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สาเหตุของ Hypoxemia
ตามปกติแล้วเลือดจะทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อให้อวัยวะเหล่านั้นสามารถทำงานได้ตามปกติ หากปริมาณออกซิเจนในเลือดมีน้อยกว่าปกติจะทำให้เกิด Hypoxemia ตามมา โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- อากาศที่หายใจเข้าไปมีออกซิเจนไม่เพียงพอ เช่น เมื่อเดินทางขึ้นที่สูงหรือปีนเขา ทำให้ออกซิเจนลดลง เป็นต้น
- ปอดทำงานผิดปกติ อาทิ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบ โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) หรือภาวะปอดรั่ว (Pneumothorax)
- เป็นผลมาจากภาวะหรือโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการลำเลียงออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด เช่น ภาวะโลหิตจาง ภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือโรคหัวใจ เป็นต้น
- เป็นผลจากการใช้ยาชนิดต่าง ๆ อย่างยาเสพติดหรือยาชา
- การป่วยด้วยโรคโควิด-19 (COVID-19)
การวินิจฉัย Hypoxemia
แพทย์จะวินิจฉัย Hypoxemia ด้วยการตรวจร่างกายเพื่อฟังเสียงการทำงานของปอดและหัวใจ ตรวจดูริมฝีปาก นิ้วหรือผิวว่าเป็นสีม่วงคล้ำหรือไม่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ รวมทั้งตรวจการทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
นอกจากนี้ แพทย์อาจวัดระดับออกซิเจนในเลือดด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย เช่น การวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry) ด้วยการหนีบอุปกรณ์พิเศษไว้ที่ปลายนิ้ว การตรวจวิเคราะห์ก๊าซในเลือดแดง (Arterial Blood Gas Test) ด้วยการนำตัวอย่างเลือดจากหลอดเลือดแดงไปวัดระดับออกซิเจนในเลือด หรือการเป่าลมหายใจเข้าเครื่องที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ช่วยในการวิเคราะห์ เป็นต้น
การรักษา Hypoxemia
การรักษาภาวะ Hypoxemia จะเน้นไปที่การเพิ่มระดับออกซิเจนในเลือดของผู้ป่วยให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเป็นหลัก ในกรณีที่สงสัยว่าอาการป่วยเกิดจากปอดทำงานผิดปกติ แพทย์อาจรักษาภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุของ Hypoxemia ด้วยการใช้ยาพ่นเพื่อให้ยาเข้าสู่ปอดได้โดยตรง
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจใช้การบำบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen Therapy) โดยผู้ป่วยจะได้รับออกซิเจนผ่านทางท่อขนาดเล็กหรือหน้ากากช่วยหายใจ ซึ่งปริมาณและสถานที่ในการรับออกซิเจนเสริมจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน
ภาวะแทรกซ้อนของ Hypoxemia
Hypoxemia ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เนื่องจากการไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ โดยอาจทำให้เกิดอาการตัวเขียว (Cyanosis) ทำให้ผิวของผู้ป่วยเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำหรือม่วง โดยเฉพาะบริเวณริมฝีปาก มือ เล็บหรือเท้า มีเหงื่อออกมาก หายใจเป็นเสียงหวีด
นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะเนื้อเยื่อพร่องออกซิเจน (Hypoxia) เนื่องจากร่างกายไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอ ซึ่งหากผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากหัวใจและสมองมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ
การป้องกัน Hypoxemia
การลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Hypoxemia ทำได้โดยการเลิกสูบบุหรี่ และรับการฉีดวัคซีนที่ช่วยป้องกันภาวะปอดติดเชื้อ เช่น วัคซีนโควิด-19 วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่
นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรงด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลิกสูบบุหรี่ ฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ อย่างถูกวิธี และออกกำลังกายด้วยกิจกรรมที่ไม่หนักจนเกินไป อย่างการเดินหรือการเล่นโยคะ ซึ่งอาจช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในเลือดและลดความเสี่ยงที่เกิดภาวะ Hypoxemia