ความหมาย ภาวะรกเสื่อม (Placental Insufficiency)
Placental Insufficiency หรือ ภาวะรกเสื่อม เป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของการตั้งครรภ์ เกิดจากรกเจริญเติบโตผิดปกติหรือได้รับความเสียหาย ซึ่งรกเป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อระหว่างมารดากับทารก มีหน้าที่หลักในการนำออกซิเจนและสารอาหารเข้าสู่กระแสเลือดของทารกและกำจัดของเสียออกไปผ่านร่างกายมารดา หากเกิดภาวะรกเสื่อม ทารกในครรภ์จะได้รับออกซิเจนและสารอาหารที่ถูกส่งผ่านมาทางรกน้อยลง จนอาจทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อยขณะคลอด หรืออาจทำให้คลอดยากขึ้นได้ โดยหากตรวจพบภาวะนี้เร็วและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็จะเป็นผลดีต่อทั้งสุขภาพของมารดาและทารก
อาการของ Placental Insufficiency
โดยส่วนใหญ่แล้ว Placental Insufficiency มักไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติใด ๆ ต่อมารดา แต่บางกรณีผู้ป่วยอาจพบว่าทารกในครรภ์เคลื่อนไหวน้อย หรือมดลูกอาจมีขนาดเล็กกว่าปกติเมื่อเทียบกับการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ซึ่งหากทารกในครรภ์ไม่เจริญเติบโตอย่างสมวัย มารดาจะรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกน้อยกว่าปกติ และครรภ์จะมีขนาดเล็กอีกด้วย นอกจากนี้ ภาวะรกเสื่อมอาจทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด หรืออาจมีอาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดร่วมกับภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดได้
สาเหตุของ Placental Insufficiency
Placental Insufficiency เป็นภาวะที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการไหลเวียนเลือด ซึ่งความผิดปกติที่เกี่ยวกับเลือด หลอดเลือด ยาบางชนิด รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง ความดันโลหิตสูงแบบเรื้อรัง ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด รกยึดติดกับผนังมดลูกไม่แน่นพอ ยาบางชนิดโดยเฉพาะยาเจือจางเลือด การสูบบุหรี่ การใช้สารเสพติด เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวไปอาจทำให้รกมีความผิดปกติอย่างอื่นได้อีก เช่น รกมีรูปร่างผิดปกติ รกมีขนาดเล็กเกินไป เป็นต้น
การวินิจฉัย Placental Insufficiency
ในเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถตรวจความผิดปกติได้ด้วยตนเอง โดยอาจใช้วิธีจดบันทึกเมื่อทารกในครรภ์ดิ้นหรือขยับตัวในแต่ละวัน หากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ
ทั้งนี้ แพทย์สามารถวินิจฉัย Placental Insufficiency ได้หลายวิธี เช่น
- อัลตราซาวด์เพื่อดูขนาดของรกหรือทารกในครรภ์มารดา
- ตรวจเลือดของมารดาเพื่อวัดระดับแอลฟาฟีโตโปรตีนที่สร้างจากตับของทารก
- ตรวจสุขภาพทารกแบบ Fetal NST (Non-Stress Test) ซึ่งเป็นการสวมเข็มขัด 2 เส้นไว้ที่หน้าท้องของมารดาเพื่อวัดการบีบตัวและอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์
การรักษา Placental Insufficiency
การรักษา Placental Insufficiency ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ผลการวินิจฉัย กำหนดคลอด หรือปัญหาอื่น ๆ อย่างโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น หากมารดามีครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์และผลตรวจทารกในครรภ์ไม่พบสัญญาณความผิดปกติชัดเจน แพทย์อาจแนะนำให้พักผ่อนมากขึ้นโดยยังไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ และควรไปตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ หรือแพทย์อาจฉีดสเตียรอยด์ให้มารดาหากแพทย์กังวลว่าทารกอาจคลอดก่อนกำหนด ซึ่งสเตียรอยด์จะซึมผ่านรกไปสู่ตัวเด็กและทำให้ปอดแข็งแรงขึ้น รวมทั้งหากมารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคเบาหวาน การรักษาโรคดังกล่าวก็อาจช่วยให้ทารกเจริญเติบโตดีขึ้น
ส่วนกรณีที่มารดามีครรภ์มากกว่า 37 สัปดาห์หรือตรวจพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์ แพทย์อาจแนะนำให้คลอดเด็กด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การใช้ยากระตุ้นให้เกิดการคลอด หรือใช้วิธีผ่าคลอดเป็นต้น นอกจากนี้ หากมารดามีภาวะครรภ์เป็นพิษหรือภาวะทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า (IUGR) ที่เป็นอยู่มีความรุนแรงขึ้น แพทย์อาจต้องดูแลอาการของมารดาอย่างใกล้ชิดร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของ Placental Insufficiency
ผู้ที่เผชิญภาวะ Placental Insufficiency อาจมีความเสี่ยงเกิดความผิดปกติต่าง ๆ ระหว่างคลอดได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ รกลอกตัวก่อนกำหนด เจ็บคลอดหรือคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น หากมารดาเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคเบาหวาน จะทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น
นอกจากนี้ ภาวะแทรกซ้อนจาก Placental Insufficiency อาจส่งผลกระทบต่อทารกได้อีกด้วย เช่น เกิดการขาดออกซิเจนขณะคลอด ภาวะตัวเย็นเกิน ภาวะเลือดข้น ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีความบกพร่องด้านการเรียนรู้ หรืออาจทำให้ทารกเสียชีวิต เป็นต้น โดยหากเกิดภาวะรกเสื่อมในช่วงอายุครรภ์ที่น้อยเท่าใด ผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ก็อาจรุนแรงขึ้นตามไปด้วย
การป้องกัน Placental Insufficiency
ภาวะ Placental Insufficiency อาจทำให้เกิดความผิดปกติได้กับทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งบางครั้งความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้ ดังนั้น มารดาควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ เพราะอาจช่วยป้องกันภาวะดังกล่าวได้
- ไปฝากครรภ์โดยเร็วหลังจากทราบว่าตั้งครรภ์
- ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโดยเร็วหากสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์
- หลีกเลี่ยงบุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือยาเสพติด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกได้ ซึ่งการหลีกเลี่ยงสารเหล่านี้อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติขณะตั้งครรภ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย