ความหมาย ภาวะหลอดอาหารบาร์เรตต์ (Barrett’s Esophagus)
Barrett’s esophagus เป็นภาวะผิดปกติทางร่างกายชนิดหนึ่งซึ่งเกิดบริเวณหลอดอาหารที่การเรียงตัวและรูปร่างของเซลล์บริเวณผนังหลอดอาหารส่วนที่ติดกับกระเพาะอาหารผิดปกติไป หรือมีลักษณะคล้ายกับเซลล์บริเวณลำไส้
ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดกลไกของโรค Barrett’s esophagus แต่โดยส่วนใหญ่มักพบได้ในผู้ที่ป่วยเป็นภาวะกรดไหลย้อน โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นภาวะกรดไหลย้อนอย่างเรื้อรังนานหลายปี ในบางกรณี ผู้ที่ป่วยเป็นภาวะนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้
อาการของ Barrett’s esophagus
โดยปกติ โรค Barrett’s esophagus มักไม่ส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเกิดอาการผิดปกติใด ๆ แต่อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าโรคนี้มักพบได้ในผู้ที่ป่วยเป็นภาวะกรดไหลย้อน ผู้ที่ป่วยเป็น Barrett’s esophagus จึงอาจพบอาการผิดปกติทางร่างกายบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณภาวะกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนหน้าอก เรอเปรี้ยว อาหารไหลย้อนขึ้นมา กลืนอาหารลำบาก และอาจพบอาการเจ็บหน้าอก แต่มักพบได้น้อย
เนื่องจากโรค Barrett’s esophagus มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ ที่เป็นสัญญาณ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้ป่วยภาวะกรดไหลย้อน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนเรื้อรังนานหลายปี ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
แต่ผู้ที่มีอาการบางอย่างที่มีความรุนแรง เช่น อาการเจ็บหน้าอก อาเจียนเป็นเลือด อาเจียนมีสีคล้ำ กลืนอาหารลำบาก น้ำหนักลดผิดปกติ อุจจาระมีสีดำผิดปกติ หรืออุจจาระปนเลือด ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
สาเหตุของ Barrett’s esophagus
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าทางการแพทย์ในปัจจุบันยังหาสาเหตุที่แน่ชัดของโรค Barrett's esophagus ไม่พบ แต่มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจมีโอกาสป่วยเป็นโรค Barrett's esophagus มากขึ้น เช่น
- ผู้ที่ป่วยเป็นภาวะกรดไหลย้อนที่มีอาการเรื้อรังนานเกิน 10 ปี
- ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็น Barrett's esophagus
- เพศชาย
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
- ผู้ที่มีประวัติหรือมีพฤติกรรมสูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน
การวินิจฉัย Barrett’s esophagus
โดยส่วนมาก เนื่องจากโรค Barrett's esophagus มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ ที่เป็นสัญญาณ แพทย์จึงต้องวินิจฉัยโดยการส่องกล้องเพื่อตรวจดูความผิดปกติต่าง ๆ ในหลอดอาหาร รวมถึงการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อไปตรวจดูความผิดปกติและการเจริญเติบโตของเซลล์ เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรค Barrett's esophagus อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้
การรักษา Barrett’s esophagus
ในการรักษาโรค Barrett’s esophagus แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับผลการตรวจเซลล์ของผู้ป่วย
ในกรณีที่แพทย์ตรวจไม่พบการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของเซลล์ แพทย์อาจเพียงติดตามอาการโดยการนัดผู้ป่วยเพื่อส่องกล้องตรวจหลอดอาหารเป็นระยะ ๆ ในปีแรกและจะค่อย ๆ เว้นระยะเวลานัดให้นานขึ้นหากไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ หรืออาจรักษาภาวะกรดไหลย้อนร่วมด้วย หากผู้ป่วยมีภาวะกรดไหลย้อน
แต่หากแพทย์ตรวจพบว่าเซลล์ของผู้ป่วยมีความผิดปกติ หรือผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการทุก ๆ 6 เดือน–1 ปี รวมถึงอาจใช้วิธีการรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น
- การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติ (Endoscopic Resection)
- Radiofrequency Ablation หรือการใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง โดยแพทย์จะใช้ความร้อนในการกำจัดเนื้อเยื่อหลอดอาหารที่มีความผิดปกติ
- Cryotherapy หรือการใช้ความเย็นเพื่อกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติ
- Photodynamic Therapy หรือการใช้แสงและสารเคมี โดยแพทย์จะฉีดสารเคมีบางชนิดเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย จากนั้น แพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อส่องกล้องและใช้เลเซอร์กระตุ้นให้สารเคมีทำลายเซลล์ที่มีความผิดปกติ
- การผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อหลอดอาหารที่มีความผิดปกติ และเย็บส่วนที่เหลือเข้ากับกระเพาะอาหาร
ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีโอกาสในการเกิดโรค Barrett’s esophagus ซ้ำ แพทย์จึงอาจนัดผู้ป่วยเพื่อตรวจและติดตามอาการเป็นระยะ ๆ เพิ่มเติมภายหลังการรักษา
ภาวะแทรกซ้อนของ Barrett’s esophagus
ผู้ป่วยโรค Barrett's esophagus ที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้ แต่เป็นกรณีที่พบได้น้อย
การป้องกัน Barrett’s esophagus
เนื่องจากทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดโรค Barrett's esophagus การป้องกันจึงอาจทำได้ยาก ในเบื้องต้น ผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อนและผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาจลดความเสี่ยงได้โดยการไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ และปฏิบัติตามความแนะนำของแพทย์
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่เพื่อป้องกันหลอดอาหารจากอาการระคายเคือง รวมถึงควรควบคุมน้ำหนักตัวเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของสุขภาพโดยรวมและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ด้วยการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ