ความหมาย ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย
Electrolyte Imbalance หรือภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย เป็นภาวะที่อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายไม่สมดุล ซึ่งอาจเกิดจากปริมาณของอิเล็กโทรไลต์ที่มากหรือน้อยจนเกินไป อิเล็กโทรไลต์เป็นชื่อที่ใช้เรียกแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาระดับของเหลวในร่างกาย และช่วยให้ระบบที่สำคัญอื่น ๆ ทำงานได้อย่างปกติ เมื่ออิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุลอาจทำให้เกิดอาการ อย่างหัวใจเต้นผิดปกติ เหนื่อยล้า ชัก และกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ สาเหตุของภาวะนี้อาจเกิดจากการสูญเสียน้ำในร่างกายเป็นจำนวนมาก อย่างการเสียเหงื่อ ท้องร่วง หรืออาเจียน โดยวิธีในการรักษาภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายนั้นอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ
อาการของ Electrolyte Imbalance
อาการของภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายในระดับที่ไม่รุนแรงอาจไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็น แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงขึ้นอาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น เป็นเหน็บหรือชาตามร่างกาย หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเต้นเร็วผิดปกติ เหนื่อยล้า ไม่มีแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย ตะคริวที่ท้อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก สับสน และอาจทำให้รู้หงุดหงิดฉุนเฉียวได้ เป็นต้น ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจทำให้ชัก อยู่ในอาการโคม่า หรือหัวใจหยุดเต้นได้ และหากปล่อยภาวะนี้ทิ้งไว้โดยไม่รักษาอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
สาเหตุของ Electrolyte Imbalance
ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยมักเกิดจากการได้รับแร่ธาตุอิเล็กโทรไลต์น้อยหรือมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ซึ่งภาวะของแร่ธาตุไม่สมดุลที่อาจทำให้เกิด Electrolyte Imbalance อาจมีดังนี้
- ภาวะโซเดียมในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ
- ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ
- ภาวะแมกนีเซียมในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ
- ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ
- ภาวะคลอไรด์ในเลือดสูงหรือต่ำกว่าปกติ
- ภาวะเลือดเป็นกรดหรือด่าง (Acidosis)
โดยภาวะเหล่านี้อาจเกิดจากโรค หรือการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อระดับของเหลวในร่างกาย เช่น ท้องร่วง อาเจียน โรคมะเร็ง โรคไต โรคเบาหวาน โรคพิษสุรา กลุ่มโรคการกินผิดปกติ ภาวะตับแข็ง หัวใจวาย บาดเจ็บจากแผลไหม้อย่างรุนแรง การใช้ยาขับปัสสาวะ ยาปฏิชีวนะ หรือยาเคมีบำบัด รวมถึงการทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมากจนเกินไป เป็นต้น
การวินิจฉัย Electrolyte Imbalance
การวินิจฉัยภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายนั้นสามารถทำได้หลายวิธี โดยในเบื้องต้นแพทย์อาจตรวจร่างกายเพื่อหาอาการที่บ่งบอกถึงภาวะผิดปกติ อย่างความยืดหยุ่นของผิวที่ลดลงซึ่งอาจเกิดจากภาวะโซเดียมในเลือดสูงที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำ นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยภาวะนี้ด้วยวิธีอื่น ดังนี้
- การตรวจเลือด
การตรวจเลือดเป็นขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพในตรวจสอบภาวะ Electrolyte Imbalance เนื่องจากการตรวจเลือดอาจบอกได้ถึงประสิทธิภาพการทำงานของไตที่อาจเป็นอาการของภาวะนี้ และยังบอกได้ถึงแร่ธาตุภายในเลือดว่าอยู่ในระดับที่สมดุลหรือไม่
- การตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า
การตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า หรือ ECG เป็นวิธีในการตรวจสอบการทำงานของหัวใจว่ามีความผิดปกติ อย่างหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นเร็วเกินไป หรืออาการอื่น ๆ ที่บ่งบอกถึงภาวะ Electrolyte Imbalance
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจหาความผิดปกติหรือโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย อย่างโรคไต โรคปอด โรคหัวใจ และภาวะขาดน้ำ
การรักษา Electrolyte Imbalance
เนื่องจากภาวะ Electrolyte Imbalance นั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ วิธีรักษาจึงมีวิธีที่แตกต่างกันไป โดยอาจเน้นไปที่การสร้างสมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย ดังนี้
- การรับประทานเกลือแร่หรืออาหารเสริม
แพทย์อาจสั่งจ่ายน้ำเกลือแร่หรืออาหารเสริมแร่ธาตุที่ร่างกายขาดไป เพื่อรักษาระดับอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย หากมีภาวะอาเจียน ท้องเสีย สามารถรับประทานน้ำเกลือแร่เพื่อบรรเทาอาการขาดน้ำและป้องกันภาวะ Electrolye imbalance ได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ และไม่ควรซื้ออาหารเสริมมารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์
- การให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ
การให้สารน้ำมีจุดประสงค์เพื่อปรับสมดุลของแร่ธาตุภายในร่างกาย โดยในสารน้ำเหล่านั้นอาจบรรจุแร่ธาตุอิเล็กโทรไลต์ที่ร่างกายขาดไป ซึ่งอาจช่วยให้ระดับของเหลวภายในร่างกายนั้นสูงขึ้น
- การใช้ยา
ในกรณีที่ภาวะแร่ธาตุไม่สมดุลเรื้อรัง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยรับประทานเพื่อปรับระดับแร่ธาตุ นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาผ่านทางหลอดเลือดดำเพื่อให้ร่างกายและระดับของอิเล็กโทรไลต์ฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจช่วยป้องกันความผิดปกติอื่น ๆ จากการรักษา
- การฟอกไต
แพทย์อาจใช้วิธีการฟอกไตหรือการกรองของเสียออกจากเลือดด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยภาวะ Electrolyte Imbalance ที่มีอาการรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากระดับอิเล็กโทรไลต์ที่ไม่สมดุลอาจทำให้การกำจัดของเสียในร่างกายเกิดความบกพร่อง และส่งผลให้ไตเสียหายแบบฉับพลัน
ในกรณีที่ภาวะ Electrolyte Imbalance นั้นเกิดจากการใช้ยาหรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้ยาอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าว
ภาวะแทรกซ้อนของ Electrolyte Imbalance
ภาวะไม่สมดุลของแร่ธาตุอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ นอกเหนือจากภาวะและอาการของ Electrolyte Imbalance ได้ อย่างภาวะขาดน้ำ ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง กล้ามเนื้อหดตัว เป็นตะคริว ไตวายหรือบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน และอาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและการทำงานของหัวใจอีกด้วย
การป้องกัน Electrolyte Imbalance
ภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกายอาจป้องกันได้ด้วยวิธี ดังนี้
- ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีอิเล็กโทรไลต์และคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบเมื่อเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ใช้เวลาตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไป โดยการดื่มน้ำเปล่ากับเครื่องดื่มเกลือแร่ในเวลาใกล้เคียงกันอาจทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องดื่มลดลง
- ดื่มหรือจิบน้ำทุก ๆ 20 นาทีในปริมาณที่เหมาะสม และเพียงพอต่อวัน
- ปัสสาวะสีเหลืองคล้ายสีของฟางแบบจาง ๆ และใส อาจบ่งบอกว่าร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ
- ผู้ที่มีอาการท้องร่วงหรืออาเจียน ควรดื่มน้ำเพื่อชดเชยของเหลวที่สูญเสียไป และหากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
- ผู้ที่ใช้ยาที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อปรับชนิดหรือปริมาณ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนของยา
- หากน้ำหนักลดหรือเพิ่มหลังออกกำลังมากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ควรไปพบแพทย์
- หากมีอาการคล้ายกับภาวะ Electrolyte Imbalance ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย