ภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis)

ความหมาย ภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis)

ภูมิแพ้อากาศ หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มักทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น จาม คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล ไอ เจ็บคอ เกิดขึ้นจากการที่เราหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้ในอากาศเข้าไป เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หญ้า รังแคสัตว์ ควันบุหรี่ แล้วระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นจนเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในจมูก

แม้โรคภูมิแพ้อากาศไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตหากไม่เกิดร่วมกับหอบหืดและอาการแพ้อย่างรุนแรง แต่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตแย่ลงได้ รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้ เช่น กินยาแก้แพ้ ล้างจมูก แต่หากอาการมีความรุนแรง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

ภูมิแพ้อากาศ Allergic Rhinitis

อาการของภูมิแพ้อากาศ

โรคภูมิแพ้อากาศมักทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้

  • จาม ไอ หรือเจ็บคอ
  • คันจมูก ปาก หู ตา ผิวหนัง หรือบริเวณอื่น ๆ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ ไม่รับรู้กลิ่น
  • ปวดหัว
  • ปวดหู หูอื้อ
  • น้ำตาไหล ตาแดง ตาบวม หรือขอบตาคล้ำ
  • อ่อนเพลีย ง่วงซึม รู้สึกไม่สบายตัว หรือหงุดหงิดง่าย
  • ผิวหนังแห้งและคันคล้ายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ หรือเป็นลมพิษ

โดยปกติ ผู้ป่วยแพ้อากาศมักจาม คัดจมูก คันจมูก และน้ำมูกไหลทันทีเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ แต่อาการบางอย่าง เช่น ปวดหัวและอ่อนเพลีย มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับสารดังกล่าวเป็นเวลานาน หรือในปริมาณมากเท่านั้น และอาการป่วยต่าง ๆ จากภูมิแพ้อากาศจะไม่รุนแรง

ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่อาจมีอาการแพ้รุนแรงร่วมด้วย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องไปพบแพทย์ทันที หากมีสัญญาณอาการแพ้รุนแรง เช่น กระสับกระส่าย สับสน ผิวหนังเป็นผื่นคัน หน้าบวม ชีพจรเต้นเบา หายใจลำบากหรือหอบ ปากและลำคอบวม กลืนลำบาก พูดไม่ชัด และช็อก

สาเหตุของภูมิแพ้อากาศ

ภูมิแพ้อากาศเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูก หู ตา ไซนัส และลำคอ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้เพื่อกำจัดสารก่อภูมิแพ้ในอากาศออกจากร่างกาย โดยโรคนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

1. ภูมิแพ้อากาศที่เป็นเฉพาะฤดูกาล (Seasonal Allergic Rhinitis)
เป็นผลจากการที่มีสารก่อภูมิแพ้เกิดขึ้นหรือกระจายในอากาศเพิ่มขึ้นในบางฤดูกาล เช่น ภูมิแพ้เกสรดอกไม้

2. ภูมิแพ้อากาศที่เป็นตลอดทั้งปี (Perennial Allergic Rhinitis)
ผู้ป่วยจะได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายได้จากสภาพแวดล้อมทั่วไป เช่น ภูมิแพ้ไรฝุ่น รังแคสัตว์ เชื้อรา หรือแมลงสาบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยเป็นภูมิแพ้ เป็นหอบหืด หรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง จะเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงขึ้นด้วย รวมทั้งผู้ที่อยู่ในวัยเด็กอาจเสี่ยงต่อภูมิแพ้อากาศสูงกว่าวัยผู้ใหญ่ และเด็กผู้ชายเสี่ยงต่อโรคนี้สูงกว่าเด็กผู้หญิง โดยอายุเฉลี่ยที่เริ่มเป็นโรคนี้ คือ 8-11 ปี

ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นหรือทำให้อาการของโรคดังกล่าวแย่ลง ได้แก่

  • ควันบุหรี่ สารเคมี ควัน หรือมลพิษในอากาศ
  • อากาศเย็น ความชื้น หรือลม
  • สเปรย์แต่งผม หรือน้ำหอมที่มีกลิ่นฉุน

การวินิจฉัยภูมิแพ้อากาศ

แพทย์มักวินิจฉัยผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศจากประวัติทางการแพทย์และการตรวจร่างกาย โดยอาจตรวจเลือดและวิเคราะห์ภาพถ่ายรังสีเพิ่มเติมในบางราย โดยมีตัวอย่างการตรวจวินิจฉัย ดังนี้

1. การวินิจฉัยด้วยการตรวจจมูก

ผู้ป่วยอาจมีรอยย่นในแนวนอนบริเวณกลางจมูกจากการถูจมูกซ้ำ ๆ มีน้ำมูก และผนังกลางจมูกเอียงหรือทะลุ ซึ่งอาจเกิดจากภูมิแพ้อากาศเรื้อรังหรือสาเหตุอื่น ๆ

2. การตรวจหู ตา และคอ

ผู้ป่วยอาจมีเยื่อแก้วหูผิดปกติด้านการหดตัวหรือการยืดหยุ่น มีเยื่อบุตาบวม แดง มีน้ำตามาก มีรอยย่นที่ใต้หนังตาล่าง และรอยคล้ำใต้ตา ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือด หรืออาการคัดจมูก

3. การวินิจฉัยภูมิแพ้อากาศในห้องปฏิบัติการ

อาจทดสอบภูมิแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้บนผิวหนัง และตรวจเลือดวัดปริมาณเม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลและอิมมูโนโกลบูลิน อี (Immunoglobulin E) ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานที่ตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในเลือด

การรักษาภูมิแพ้อากาศ

โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคนี้สามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ และควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค ตรวจระดับความรุนแรงของอาการ ตรวจโรคที่อาจเกิดร่วมกันอย่างหอบหืด รวมถึงรับยารักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้

การหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และสารระคายเคืองอันเป็นสาเหตุหลักที่กระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา โดยผู้ป่วยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการฟุ้งกระจายของเกสรดอกไม้โดยเฉพาะผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ หรืออยู่ให้ห่างจากเขตก่อสร้างหรือบริเวณที่มีฝุ่นสะสมในปริมาณมาก เป็นต้น 

2. กำจัดสารก่อภูมิแพ้

การกำจัดสารก่อภูมิแพ้นั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับประเภทของสารก่อภูมิแพ้ ดังนี้

ไรฝุ่น

ตัวไรฝุ่นนั้นมีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น มักอาศัยอยู่ตามที่นอน หมอน และฝุ่นละอองที่ฟุ้งอยู่ในอากาศ การกำจัดไรฝุ่นควรใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น

  • นำที่นอน หมอน ผ้าห่ม และตุ๊กตาไปตากแดดจัด อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที เป็นประจำทุกสัปดาห์ 
  • ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม และผ้าม่านในน้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส นานประมาณ 30 นาที เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ 
  • ดูดฝุ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือถูพื้นแทนการกวาดบ้านอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เนื่องจากการปัดด้วยไม้กวาดจะทำให้ฝุ่นและไรฝุ่นฟุ้งกระจายในอากาศมากกว่าเดิม 
  • ใช้เครื่องฟอกอากาศดักจับสารก่อภูมิแพ้ที่ลอยอยู่ในอากาศ แต่อาจจะไม่มีผลกับตัวไรฝุ่น 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการภูมิแพ้อากาศอาจใช้สเปรย์ปรับอากาศที่มีคุณสมบัติช่วยกำจัดเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้ในอากาศโดยเฉพาะไรฝุ่น อย่างไรก็ตาม ฤทธิ์ช่วยกำจัดเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้ของสเปรย์ปรับอากาศนั้นขึ้นอยู่กับส่วนผสมของสเปรย์แต่ละยี่ห้อ

โดยอาจเลือกสเปรย์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติและมีงานวิจัยน่าเชื่อถือรับรองถึงคุณสมบัติดังกล่าว อย่างยูคาลิปตัสและทีทรีออยล์ ก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยได้รับผลลัพธ์ดีมากกว่าการใช้สเปรย์ปรับอากาศธรรมดาทั่วไป

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งนำตุ๊กตาผ้าที่โดนไรฝุ่นเกาะ 12 ชิ้น ไปซักทำความสะอาดพร้อมใส่น้ำมันยูคาลิปตัสความเข้มข้ม 0.2-0.4% ลงไป ผลปรากฏว่าไรฝุ่นบนตัวตุ๊กตามีปริมาณลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการศึกษาประสิทธิภาพของทีทรีออยล์ด้านการต้านเชื้อแบคทีเรียที่เผยให้เห็นว่า สารสกัดชนิดนี้อาจช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย แต่นี่เป็นเพียงงานวิจัยในห้องปฏิบัติการและมีปัจจัยอื่นที่อาจทำให้ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนได้ จึงควรรองานวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้ให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม สเปรย์ปรับอากาศที่มีส่วนผสมจากธรรมชาตินั้นมักปลอดภัยต่อเด็กและทุกคนในครอบครัว ทั้งยังให้กลิ่นหอมช่วยให้หายใจโล่งขึ้น และสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์ทุกครั้ง 

ขนและรังแคของสัตว์เลี้ยง

การหายใจหรือการสัมผัสเศษขนและรังแคของสัตว์เลี้ยงที่อาศัยร่วมกันภายในบ้าน เช่น แมว สุนัข กระต่าย และนกอาจไปกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ได้ ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์ที่มีขนภายในบ้าน 

ละอองเกสรดอกไม้

โดยปกติ ละอองเกสรของดอกไม้ หญ้า และวัชพืชจะมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา จึงสามารถฟุ้งกระจายได้ไกลตามทิศทางลม เพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยควรปิดหน้าต่างบ้านตลอดช่วงที่มีการฟุ้งกระจายของละอองเกสรดอกไม้ หากต้องออกไปนอกบ้านก็ควรสวมหน้ากากอนามัยด้วยทุกครั้ง

3. การใช้ยาบรรเทาภูมิแพ้อากาศ

ยาที่ใช้ในการรักษาภูมิแพ้อากาศมีด้วยกันหลายชนิด เช่น

ยาแก้แพ้อากาศหรือยาต้านฮิสตามีน 
ยกตัวอย่างเช่น ลอราทาดีน เซทิริซีน เฟ็กโซเฟนาดีน ไดเฟนไฮดรามีน เด็สลอราทาดีน ลีและโวเซทิริซีน เป็นต้น ใช้เพื่อลดการหลั่งสารฮิสตามีนซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่น ๆ และระมัดระวังผลข้างเคียงของยา โดยเฉพาะอาการง่วงนอนหลังใช้ยา

ยาลดน้ำมูก
ยาลดน้ำมูกอย่างออกซีเมทาโซลีน หรือซูโดเอฟีดรีน ใช้เพื่อลดอาการคัดจมูกและลดความดันที่ไซนัส ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ หากมีปัญหาสุขภาพ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคหัวใจ เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีภาวะวิตกกังวล มีความผิดปกติด้านการนอน ความดันโลหิตสูง หรือกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ

ยาสเตียรอยด์
ใช้ลดการอักเสบและการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป ซึ่งยาพ่นจมูกชนิดคอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นยารักษาภูมิแพ้อากาศที่ให้ผลดีและมีประสิทธิภาพ โดยมีทั้งชนิดที่หาซื้อได้เองและตามใบสั่งแพทย์

โดยการเลือกชนิดของยาหยอดตาและยาพ่นจมูก รวมทั้งระยะเวลาในการใช้ยาควรขึ้นอยู่กับอาการป่วย และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

ยายับยั้งลูโคไตรอีน (Leukotriene)
ใช้ยับยั้งสารลูโคไตรอีนที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อเกิดการอักเสบ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้

4. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ 

การฉีดวัคซีนภูมิแพ้เป็นวิธีรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด โดยแพทย์จะฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย หรือให้ผู้ป่วยอมยาที่ผสมสารก่อภูมิแพ้ใต้ลิ้นหลาย ๆ ครั้ง โดยเริ่มในปริมาณที่เจือจางที่สุด แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาขึ้นทีละน้อยจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการแพ้ที่ทุเลาลงหรือหายขาดโดยใช้เวลารักษาประมาณ 3-5 ปี

ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาประเภทนี้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นข้างต้นแล้วไม่ได้ผล และต้องระมัดระวังอาการแพ้รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นด้วย ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนรับการรักษานี้

ภาวะแทรกซ้อนของภูมิแพ้อากาศ

ภูมิแพ้อากาศอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หอบหืดกำเริบหรือมีอาการแย่ลง ลมหายใจร้อน เยื่อบุตาอักเสบ ไซนัสอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง หูชั้นกลางอักเสบหรือท่อยูสเตเชียนซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางกับโพรงหลังจมูกทำงานผิดปกติ ปวดหัวบ่อย ๆ ฟันสบลึกจากการหายใจทางปากเป็นเวลานาน

รวมไปถึงมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน อย่างนอนหลับยาก ตื่นกลางดึก หรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น

วิธีป้องกันภูมิแพ้อากาศด้วยตัวยเอง

การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศเป็นการป้องกันภูมิแพ้อากาศที่ดีที่สุด ซึ่งผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศควรดูตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ทำความสะอาดพื้นบริเวณที่พักอาศัยด้วยการถู ซึ่งดีกว่าการกวาดที่ทำให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ทำความสะอาดพรมด้วยเครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรองประสิทธิภาพสูง
  • ซักเครื่องนอนในน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียสทุกสัปดาห์ และใช้หมอนกับปลอกหมอนที่ปลอดไรฝุ่น 
  • หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในช่วงที่มีการฟุ้งกระจายของเกสรดอกไม้ และอาบน้ำทันทีหลังกลับเข้าบ้าน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง หากมีสัตว์เลี้ยงต้องทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ ล้างมือและซักเสื้อผ้าทันทีหลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยง และไม่นำสัตว์เลี้ยงขึ้นเตียงนอน
  • หากเดินทางด้วยยานพาหนะ ควรให้กระจกรถยนต์ปิดสนิท เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ
  • รับประทานยาต้านฮิสตามีนตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันอาการกำเริบ