ความหมาย มดลูกโต
มดลูกโต คือ ภาวะที่มดลูกขยายตัวมากกว่าปกติ โดยอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การตั้งครรภ์ เนื้องอกในมดลูก โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว หรือรู้สึกหนักบริเวณช่องท้องส่วนล่าง ปกติแล้วภาวะมดลูกโตไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่หากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเลือดออกบริเวณช่องคลอด มีอาการปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน เป็นต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
อาการของมดลูกโต
ภาวะมดลูกโตส่วนใหญ่ไม่ใช่การเจ็บป่วยที่ร้ายแรง ซึ่งในบางครั้งอาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรืออาจมีอาการดังต่อไปนี้
- เจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
- ปวดระหว่างมีประจำเดือน และมีเลือดออกมากกว่าปกติ
- รู้สึกแน่นและหนักบริเวณช่องท้องส่วนล่าง
อย่างไรก็ตาม อาการของภาวะมดลูกโตอาจเป็นสัญญาณของโรคอันตรายอย่างมะเร็งได้ ดังนั้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ร่วมกับอาการข้างต้น
- ปวดหลัง
- ปวดกระดูกเชิงกราน
- เป็นตะคริวที่ท้อง
- มีเลือดออกจากช่องคลอดแม้ไม่ได้มีประจำเดือน
สาเหตุของมดลูกโต
ภาวะมดลูกโตเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางอย่างก็ไม่ใช่สาเหตุอันตราย อย่างการตั้งครรภ์ที่จะทำให้มดลูกขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งปกติแล้วมดลูกจะมีขนาดประมาณเท่ากับลูกแอปเปิ้ล แต่เมื่อตั้งครรภ์อาจทำให้มดลูกขยายตัวจนมีขนาดเท่ากับลูกแตงโมได้ โดยมดลูกจะหดตัวกลับสู่สภาพเดิมหลังคลอดประมาณ 1 เดือน
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดภาวะมดลูกโตได้ ซึ่งบางสาเหตุก็อาจเป็นอันตรายร้ายแรง มีดังนี้
เนื้องอกในมดลูก อาจมีเนื้องอกเจริญเติบโตขึ้นได้ทั้งด้านในและด้านนอกของผนังมดลูก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัยบางอย่าง เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน กรรมพันธุ์ และความอ้วน เป็นต้น โดยเนื้องอกในมดลูกเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของภาวะมดลูกโต ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือ ภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตบริเวณผนังมดลูก โดยสาเหตุนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะนี้ คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีน้อยลงในผู้หญิงอายุมากกว่า 30 ปี หรือผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อีกทั้งผู้หญิงที่เคยผ่านการผ่าคลอดก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้เช่นเดียวกัน
มะเร็งในระบบสืบพันธุ์ โรคมะเร็งที่เกิดในบริเวณระบบสืบพันธุ์อย่างมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก อาจเป็นสาเหตุของภาวะมดลูกโตได้ โดยขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้อร้ายและขนาดของมดลูกด้วย
การวินิจฉัยมดลูกโต
ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยภาวะมดลูกโตอาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติภายในร่างกาย จึงมักถูกตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อรับการตรวจสุขภาพทั่วไปและตรวจภายใน โดยแพทย์อาจวิเคราะห์ได้จากการคลำบริเวณหน้าท้องร่วมกับการอัลตราซาวด์บริเวณมดลูก เพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น เนื้องอก ก้อนมะเร็ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกได้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณช่องท้องส่วนล่างหรือในมดลูก หรือมีอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม
การรักษามดลูกโต
การรักษาภาวะมดลูกโตขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการด้วย ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการแตกต่างกันไป ดังนี้
มดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ผู้ที่มีภาวะนี้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่อาจต้องใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด โดยแพทย์อาจให้ยาไอบูโพรเฟนเพื่อช่วยให้อาการอักเสบดีขึ้น และอาจให้ยาคุมกำเนิดหรือใช้ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนผสมอยู่ เพื่อบรรเทาอาการปวดและช่วยให้เลือดไหลน้อยลง ทำให้เนื้องอกหยุดเจริญเติบโต แต่หากอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดมดลูกด้วย
มดลูกโตจากเนื้องอกในมดลูก
สามารถรักษาเหมือนกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้ หรืออาจรักษาโดยการผ่าตัดนำเนื้องอกในมดลูกออก ส่วนวิธีการผ่าตัดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอกและบริเวณที่เกิดเนื้องอก นอกจากนี้ อาจรักษาด้วยการอุดเส้นเลือด (Embolization) โดยแพทย์จะใช้ท่อขนาดเล็กสอดเข้าไปในมดลูก และปล่อยอนุภาคเพื่อตัดเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเนื้องอก ซึ่งจะทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลงได้
มดลูกโตจากโรคมะเร็ง
อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการฉายรังสีหรือรับยาเคมีบำบัด ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ อาจต้องใช้วิธีผ่าตัดนำก้อนเนื้อหรือนำมดลูกออกไป
ภาวะแทรกซ้อนของมดลูกโต
อาการมดลูกโตนั้นไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงใด ๆ ต่อร่างกาย แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดมดลูกโต อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ดังนี้
- มีอาการปวดและไม่สบายตัว
- ท้องผูก เนื่องจากมดลูกโตจนไปเบียดลำไส้และไส้ตรง
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- มีปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ หรือประสบภาวะมีบุตรยาก
- อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์
การป้องกันมดลูกโต
ภาวะมดลูกโตมักเป็นส่วนหนึ่งของโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดมดลูกโต ฉะนั้น การป้องกันภาวะมดลูกโตจึงอาจต้องป้องกันโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่เป็นต้นเหตุ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ลดน้ำหนัก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกในมดลูก
- ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการรับมือเมื่อมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดน้อยลง
- ตรวจร่างกายและตรวจภายในเป็นระยะสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งที่เป็นสาเหตุในการเกิดมดลูกโต เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น