ความหมาย มะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูก (Bone Cancer) คือมะเร็งที่เกิดขึ้นที่กระดูกโดยตรง หรือเกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งชนิดอื่นมายังกระดูก สัญญาณบ่งบอกโรคมะเร็งกระดูกคือ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บกระดูก และมีก้อนบวมแดงในบริเวณที่เป็น หากอาการรุนแรงอาจมีอาการกระดูกอ่อนแอและหกล้มง่าย มะเร็งกระดูกแม้จะพบไม่บ่อย แต่อาการอาจรุนแรงและทรุดลงได้อย่างรวดเร็ว
มะเร็งกระดูกบางชนิดพบเฉพาะในเด็ก และบางชนิดพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ ทั้งนี้ มะเร็งกระดูกชนิดที่เกิดขึ้นที่กระดูกโดยตรงสามารถรักษาให้หายได้ หากเข้ารับการตรวจและรักษาแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อาการจะลุกลาม ซึ่งวิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็ง เช่น การให้เคมีบำบัด การฉายแสงและการผ่าตัด
อาการของมะเร็งกระดูก
อาการมะเร็งกระดูกที่พบได้บ่อยคืออาการเจ็บกระดูก โดยมักเริ่มจากอาการคล้ายฟกช้ำบริเวณกระดูกที่ได้รับผลกระทบจากมะเร็ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่กระดูกบริเวณใดก็ได้ แต่ส่วนมากมักเกิดกับกระดูกแนวยาวอย่างแขนส่วนบนหรือขา
หลังจากนั้นจะเริ่มเจ็บอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหรือเจ็บเป็นพัก ๆ มักเกิดขึ้นในตอนกลางคืนหรือขณะนั่งพัก ทั้งนี้ อาการเจ็บปวดดังกล่าวอาจทำให้สับสนกับโรคข้ออักเสบในผู้ใหญ่ และอาการปวดจากการเจริญเติบโตของร่างกายในส่วนกระดูกและข้อของเด็กได้
นอกจากอาการเจ็บแล้วยังอาจพบอาการบวมแดงจากการอักเสบ หรือสังเกตได้ถึงก้อนบวมรอบบริเวณดังกล่าว ซึ่งหากเป็นกระดูกที่อยู่ใกล้ข้อต่อ อาการบวมที่เกิดขึ้นอาจทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้ยาก และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายมีกระดูกอ่อนแอลงจนแตกหักได้ง่ายเพียงหกล้มหรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ก็อาจทำให้ขาหักได้
อาการอื่นของโรคมะเร็งกระดูกที่พบรองลงมาได้แก่ อาการไข้สูง มีเหงื่อออก โดยเฉพาะช่วงกลางคืน และน้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้น เมื่อรู้สึกเจ็บที่กระดูกเป็นเวลานาน มีอาการรุนแรง หรือแย่ลง หรือหากวิตกกังวลกับอาการใด ๆ ข้างต้นที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความแน่ใจ แม้โอกาสเกิดมะเร็งกระดูกจะมีน้อยก็ตาม
สาเหตุของมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูกแบ่งเป็น 2 ชนิดคือ
- มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ คือเซลล์มะเร็งที่เริ่มก่อตัวบริเวณกระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มักเกิดขึ้นในกระดูกที่มีลักษณะเป็นแนวยาว เช่น กระดูกแขนหรือกระดูกขา
- มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ คือเซลล์มะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากอวัยวะอื่น ซึ่งเกิดได้จากมะเร็งทุกชนิดที่เมื่อเข้าสู่ระยะท้ายจะแพร่กระจายมายังกระดูก แต่มะเร็งบางประเภท เช่น มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต และมะเร็งต่อมลูกหมาก อาจกระจายมาที่กระดูกตั้งแต่ระยะต้น ๆ
สาเหตุของเซลล์มะเร็งที่ก่อตัวขึ้นบริเวณกระดูกหรือมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมินั้นยังไม่ชัดเจน แต่ปัจจุบันทางการแพทย์พบว่าปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ มีดังนี้
- การรักษาโดยการใช้รังสี กระบวนการรักษาโรคอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยต้องเผชิญกับรังสีมาก ๆ อาจทำให้เซลล์มะเร็งพัฒนาขึ้นในเซลล์กระดูกได้
- เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก เช่น โรคพาเจทของกระดูก (Paget's Disease) ซึ่งเป็นโรคความผิดปกติของพัฒนาการในเซลล์กระดูก เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระดูกในผู้ที่มีอายุ 50–60 ปี รวมถึงเนื้องอกในกระดูกอย่างโรค Ollier Disease ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระดูกเช่นกัน
- พันธุกรรม โรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษนับเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระดูก เช่น โรคมะเร็งจอประสาทตาในเด็ก (Retinoblastoma) ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้ยากอย่างกลุ่มอาการ Li-Fraumeni ที่นอกจากเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระดูกแล้วยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่น ๆ อีกด้วย
- มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิซึ่งเป็นชนิดที่เซลล์มะเร็งไม่ได้เริ่มก่อตัวที่บริเวณกระดูกแต่เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมายังกระดูก เช่น มะเร็งเต้านมwww.pobpad.com/มะเร็งเต้านมในระยะรุนแรงอาจทำให้เซลล์มะเร็งกระจายมาที่กระดูกได้
นอกจากนี้ โรคมะเร็งกระดูกแบ่งออกเป็นประเภทย่อยตามชนิดของเซลล์ที่พัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง และแต่ละชนิดยังพบได้ในแต่ละเพศแต่ละวัยแตกต่างกันไป ดังนี้
มะเร็งกระดูกออสทิโอซาร์โคมา (Osteosarcoma)
มะเร็งกระดูกออสทิโอซาร์โคมาเกิดขึ้นในเซลล์กระดูกและเป็นมะเร็งกระดูกที่พบได้บ่อยที่สุด พบได้ในเด็กโต วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น หรือช่วงอายุ 10–19 ปี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง กลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยมักเป็นโรคนี้ที่บริเวณปลายกระดูกแนวยาวซึ่งกำลังเจริญเติบโต บริเวณที่เป็นมากที่สุดคือรอบ ๆ หัวเข่า และรองลงมาคือบริเวณกระดูกแขน
มะเร็งกระดูกคอนโดรซาร์โคม่า (Chondrosarcoma)
มะเร็งกระดูกคอนโดรซาร์โคม่าเกิดขึ้นในเซลล์กระดูกอ่อนที่ล้อมรอบหรือติดอยู่กับกระดูก เป็นชนิดที่พบบ่อยรองลงมาจากมะเร็งกระดูกออสทิโอซาร์โคมา มักเกิดกับบริเวณกระดูกเชิงกรานและสะโพก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้ป่วยอายุมากกว่า 40 ปี โดยพบผู้ป่วยมะเร็งกระดูกชนิดนี้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมะเร็งกระดูกคอนโดรซาร์โคม่านี้อาจพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงหรือค่อย ๆ เติบโตอย่างช้า ๆ ก็ได้
มะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า (Ewing Sarcoma)
มะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่าอาจเกิดขึ้นในกระดูกหรือเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม และยังเชื่อว่าเกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อประสาทปฐมภูมิ เป็นมะเร็งกระดูกชนิดรุนแรงที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กอายุ 4–15 ปี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง มักเป็นบริเวณส่วนกลางของกระดูกแนวยาวอย่างแขนหรือขา
การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูก
ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์จากสาเหตุปวดกระดูก เบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการและตรวจบริเวณที่มีอาการ โดยดูว่าบวมหรือมีก้อนหรือไม่ รวมทั้งถามถึงความคล่องตัวของการเคลื่อนไหวบริเวณดังกล่าว ลักษณะอาการเจ็บปวดที่รู้สึกอยู่ว่าเจ็บเป็นช่วง ๆ หรือมีอาการแย่ลงหรือไม่ จากนั้นแพทย์จึงจะพิจารณาวิธีที่จะใช้ในการวินิจฉัยเพิ่มเติม ดังนี้
การตรวจเอกซเรย์
การใช้รังสีถ่ายภาพกระดูกมักเป็นวิธีแรกที่เลือกนำมาใช้เพื่อตรวจดูความเสียหายของกระดูกที่อาจเกิดจากเซลล์มะเร็ง หรือดูว่ามีกระดูกงอกใหม่ที่เป็นผลจากมะเร็งหรือไม่ อีกทั้งยังตรวจสอบได้หากเป็นอาการเจ็บที่เกิดจากสาเหตุอื่นอย่างกระดูกหัก
การตรวจชิ้นเนื้อกระดูก (Biopsy)
นับเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดเพื่อนำมาวินิจฉัยโรค เพราะนำเอาตัวอย่างของกระดูกบริเวณดังกล่าวส่งตรวจผลทางห้องปฏิบัติการ การเจาะกระดูกนี้ยังช่วยบอกได้ด้วยว่าผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกชนิดใด โดยการนำตัวอย่างกระดูกออกมาตรวจซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ การใช้เข็มเจาะเข้าไปที่กระดูกและการผ่าตัด
กรณีที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีข้างต้นแล้วพบมะเร็งกระดูก ขั้นต่อไปแพทย์มักจะประเมินระยะลุกลามของมะเร็งด้วยการใช้วิธีการตรวจต่อไปนี้
การทำ MRI Scan
วิธีการตรวจโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าทำให้เกิดภาพกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อนต่าง ๆ ถือว่าเป็นวิธีที่สามารถช่วยประเมินขนาดและความรวดเร็วในการลุกลามของเซลล์มะเร็งภายในหรือรอบ ๆ กระดูก
การทำ CT Scan
การใช้รังสีเอกซเรย์ควบคู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ถ่ายภาพร่างกาย มักใช้เพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งที่อาจลุกลามไปยังปอด
การสแกนกระดูก
วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจดูภายในของกระดูกได้ว่ามะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูกส่วนใดบ้าง การใช้วัสดุกัมมันตรังสีฉีดเข้าไปในหลอดเลือดช่วยให้มองเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากกระดูกบริเวณที่มีปัญหาจะดูดซึมวัสดุชนิดนี้ได้เร็วกว่ากระดูกปกติ
การตรวจไขกระดูก
สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งกระดูกอีวิงซาร์โคม่า แพทย์อาจใช้การทดสอบชนิดนี้เพื่อดูว่ามะเร็งลุกลามไปยังไขกระดูกแล้วหรือยัง โดยจะใช้เข็มเจาะเข้าไปยังกระดูกเพื่อนำเอาตัวอย่างไขกระดูกออกมาส่งตรวจต่อไป
หลังจากการตรวจร่างกายและตรวจเพิ่มเติ่มข้างต้นแล้ว แพทย์จึงจะประมวลผลได้ว่ามีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งหรือไม่และกระจายไปที่ใด ซึ่งจะบ่งบอกถึงระยะของมะเร็งกระดูกในครั้งนี้ได้ด้วย โดยมะเร็งกระดูกแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งยังไม่แพร่กระจายออกจากกระดูกและมีเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวต่ำ
- ระยะที่ 2 มะเร็งยังคงไม่แพร่กระจายออกจากกระดูกแต่มีเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวสูง
- ระยะที่ 3 มีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้น 2 แห่งขึ้นไปบนกระดูกแนวเดียวกัน ซึ่งอาจมีเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวสูงหรือต่ำก็ได้
- ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นในร่างกาย เช่น กระดูกบริเวณอื่น ๆ หรือตามอวัยวะภายใน
การรักษามะเร็งกระดูก
โอกาสของการรักษามะเร็งกระดูกให้หายขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็งกระดูก ถ้าเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายแล้วนั้นค่อนข้างยากต่อการรักษา จึงอาจเป็นการรักษาเพื่อประคองอาการและชะลอการลุกลามของมะเร็งเท่านั้น
แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษามะเร็งดูกโดยคำนึงถึงชนิดของโรคมะเร็งกระดูก ระยะการลุกลามของมะเร็ง ความพร้อมทางด้านสุขภาพโดยรวม และความพอใจของตัวผู้ป่วยเอง อาจเลือกใช้การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด หรือการใช้รังสีบำบัดวิธีใดวิธีหนึ่ง หรืออาจใช้ควบคู่กันไปหลายวิธีก็ได้
การผ่าตัด
การผ่าตัดมีจุดประสงค์เพื่อนำมะเร็งกระดูกออกมาทั้งหมด ซึ่งมีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่
- การผ่าตัดเพื่อนำกระดูกที่มีเซลล์มะเร็งออกแต่ยังคงแขนและขาไว้ (Limb-Sparing Surgery) ใช้ในกรณีที่สามารถแยกมะเร็งกระดูกออกจากเส้นประสาทและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ได้ โดยแพทย์นำกระดูกจากส่วนอื่นของร่างกายหรือกระดูกเทียมมาใส่แทนที่กระดูกที่เสียไป
- การผ่าตัดแขนและขา (Amputation) ผู้ป่วยที่มีมะเร็งขนาดใหญ่หรือเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณที่ซับซ้อน อาจต้องใช้การผ่าตัดเพื่อนำแขนหรือขาส่วนนั้นออกไปด้วย แต่ปัจจุบันวิธีนี้ไม่ค่อยนิยมใช้แล้วเนื่องจากมีการพัฒนาวิธีการรักษาอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องตัดแขนหรือขาออกไป
- สำหรับมะเร็งที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นที่ไม่ใช่แขนหรือขา แพทย์อาจนำกระดูกและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ออก หรือนำบริเวณที่มีเซลล์มะเร็งออกแต่เหลือกระดูกไว้ให้มากที่สุด แล้วใช้กระดูกจากส่วนอื่นหรือกระดูกเทียมแทนที่เช่นกัน
การทำเคมีบำบัด
เคมีบำบัดคือการรักษาด้วยการให้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งแก่ผู้ป่วย โดยจะให้ผ่านทางเส้นเลือดและยานี้จะแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย การทำเคมีบำบัดนี้ยังใช้รักษาผู้ป่วยที่มะเร็งลุกลามจากกระดูกไปสู่ส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแล้วได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำเคมีบำบัดอาจส่งผลให้เซลล์ปกติถูกทำลายไปด้วย และเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมา เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย เสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงการเกิดภาวะมีบุตรยาก และมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเป็นหมันอย่างถาวร ซึ่งทีมแพทย์จะมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของภาวะนี้
การใช้รังสีบำบัด
การฉายแสงหรือการฉายรังสีคือการใช้คลื่นแสงพลังงานสูง เช่น รังสีเอกซเรย์ เพื่อช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง ขณะที่ผู้ป่วยนอนลงบนโต๊ะ เครื่องจะหมุนไปโดยรอบและส่งรังสีไปยังเซลล์มะเร็ง วิธีนี้มักใช้ร่วมกันกับการทำเคมีบำบัด โดยแพทย์จะฉายรังสีก่อนแล้วจึงตามด้วยการทำเคมีบำบัด
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้การฉายรังสีลดขนาดก้อนมะเร็งก่อนผ่าตัด ช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสการรักษาโดยไม่จำเป็นต้องตัดแขนและขาของผู้ป่วย รวมถึงการใช้รังสีฆ่าเซลล์มะเร็งที่หลงเหลือหลังจากผ่าตัด ส่วนในรายที่อาการรุนแรงแพทย์จะช่วยหาวิธีประคองอาการและบรรเทาความเจ็บปวดจากมะเร็งที่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับการทำเคมีบำบัด การฉายรังสีอาจทำให้เซลล์ปกติโดยรอบถูกทำลายไปด้วย และก่อให้มีอาการข้างเคียง เช่น เจ็บข้อต่อบริเวณที่มีการรักษามะเร็ง ผิวหนังได้รับความระคายเคืองหรือเป็นผื่นแดง รู้สึกอ่อนเพลีย ผมหรือขนบริเวณที่ฉายรังสีร่วง
การใช้ยาแก้ปวด
อาการเจ็บปวดรักษาด้วยการใช้ยาบรรเทาปวด ซึ่งมีทั้งที่สั่งจ่ายโดยแพทย์และสามารถหาซื้อได้เอง โดยยาที่ใช้ระงับอาการเจ็บเล็กน้อยถึงปานกลาง ได้แก่ ยาพาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน และยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs ทั้งนี้ ผู้ที่กำลังทำเคมีบำบัดอาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม NSAIDs เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกได้
ด้านยารักษาอาการเจ็บปวดระดับปานกลางไปจนถึงเจ็บปวดรุนแรง แพทย์จะสั่งจ่ายยากลุ่มโอปิออยด์ ยาแก้ปวดชนิดเสพติดที่มีฤทธิ์รุนแรงกว่า เช่น มอร์ฟีน (Morphine) โคเดอีน (Codeine) และเฟนทานิล (Fentanyl) โดยบางครั้งอาจใช้หลายตัวยาควบคู่กัน อย่างไรก็ตามยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์นี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการง่วงซึม และไปกดระบบประสาทที่ควบคุมการหายใจ ทำให้คลื่นไส้ และท้องผูกได้
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งกระดูก
โรคมะเร็งกระดูกสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ดังนี้
- อาการปวด มักเกิดขึ้นบริเวณที่มะเร็งก่อตัวขึ้น ทำให้มีอาการเจ็บเป็นพัก ๆ ในช่วงแรก และค่อย ๆ รุนแรงขึ้นในเวลาต่อมาหรือเมื่อทำกิจกรรมใด ๆ
- กระดูกแตกหัก พบได้บ่อยรองลงมาจากอาการปวด เนื่องจากกระดูกที่มีเซลล์มะเร็งมักอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และง่ายต่อการแตกหักเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือมีแรงกระทบ ผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนจากมะเร็งกระดูกชนิดนี้มักรู้สึกปวดอย่างรุนแรงบริเวณที่เกิดเซลล์มะเร็ง และตามมาด้วยการแตกหรือหักของกระดูก
- ระดับแคลเซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่อาจส่งผลให้กระดูกอ่อนแอลง ท้องผูกหรือเกิดนิ่วในไตตามมา รวมทั้งกระทบต่อการทำงานของหัวใจและสมองจนเกิดอาการสับสน มึนงง และอ่อนเพลีย
- กระดูกอักเสบ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งกระดูกอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและอักเสบของกระดูก ส่งผลให้มีอาการหนาวสั่น เป็นไข้ มีอาการเจ็บ หรือเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตตามมาหากไม่ได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
- การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายผ่านกระแสเลือดหรือระบบน้ำเหลืองที่เป็นกลไกป้องกันของร่างกาย โดยอวัยวะที่พบการแพร่กระจายของมะเร็งมากที่สุดก็คือปอด
การป้องกันมะเร็งกระดูก
เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งกระดูก จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ยืนยันได้ว่าจะสามารถช่วยป้องกันโรคนี้ได้ผล