มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ความหมาย มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คือ ภาวะที่เซลล์เยื่อบุผิวด้านในของกระเพาะปัสสาวะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วผิดปกติจนกลายเป็นเนื้อร้าย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะปนเลือด เจ็บขณะปัสสาวะ และเจ็บปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน แม้ว่าโรคนี้อาจรักษาให้หายได้หากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ แต่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2558 พบว่าผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะรายใหม่ส่วนมากมีอายุสูงกว่า 55 ปี และผู้ชายมีอัตราป่วยมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดที่พบบ่อย ได้แก่

  • มะเร็งชนิดเซลล์ทรานซิชัน (Transitional Cell Carcinoma หรือ Urothelial Carcinoma) เกิดจากเซลล์ทรานซิชันซึ่งเป็นเซลล์เยื่อบุผิวส่วนใหญ่ที่พบในกระเพาะปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งมักไม่ลุกลามเข้าสู่ผนังกระเพาะปัสสาวะ เป็นชนิดที่พบในคนไทยบ่อยที่สุด โดยพบประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะทั้งหมด
  • มะเร็งชนิดเซลล์สความัส (Squamous Cell Carcinoma) เกิดจากเซลล์สความัสซึ่งเป็นเซลล์เยื่อบุผิวที่พบได้น้อยในกระเพาะปัสสาวะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะระคายเคืองหรือติดเชื้อเป็นเวลานาน มะเร็งชนิดนี้มักลุกลามเข้าสู่ผนังกระเพาะปัสสาวะทำให้รักษาได้ยาก เป็นชนิดที่พบได้เพียงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้ในไทย

นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งกระเพาะปัสสาวะชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งชนิดต่อม (Adenocarcinoma) มะเร็งชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (Small Cell Carcinoma) และมะเร็งชนิดเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Sarcoma) แต่เป็นชนิดที่พบได้น้อยมาก

อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

อาการสำคัญของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คือ ปัสสาวะปนเลือด ซึ่งมักมีสีแดงอ่อนหรือสีคล้ายเครื่องดื่มโคล่า หรือพบเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะเมื่อแพทย์ส่งตรวจ โดยผู้ป่วยมักไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ หรืออาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ เจ็บอุ้งเชิงกราน ปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย ปวดปัสสาวะเฉียบพลัน กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะไม่ออก และปวดท้อง ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีเฉพาะบางอาการขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็งด้วย แต่หากมีปัสสาวะปนเลือด ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ หากมะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดกระดูก คลำพบต่อมน้ำเหลืองโต เท้าบวม อ่อนเพลีย น้ำหนักลด และเบื่ออาหารร่วมกับอาการข้างต้นด้วย  

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะมี 4 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เกิดเนื้อมะเร็งเฉพาะบริเวณเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะ
  • ระยะที่ 2 มะเร็งบางส่วนลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ แต่ยังคงจำกัดอยู่ภายในกระเพาะปัสสาวะ
  • ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าสู่ผนังกระเพาะปัสสาวะและเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบ ๆ กระเพาะปัสสาวะ
  • ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่น ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ตับ หรือปอด

สาเหตุของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัด แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่

  • เพศชาย มีแนวโน้มพบโรคนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
  • อายุมากกว่า 40 ปี
  • สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่มือสอง รวมทั้งทำงานกับสารเคมีอันตรายที่อาจก่อมะเร็ง เช่น สารหนู สีย้อม สีทาบ้าน สิ่งทอ ยาง หนัง เป็นต้น เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะต้องสัมผัสกับสารพิษที่ร่างกายขับออกมาทางปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำน้อย หรือรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  • ติดเชื้อหรือระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะแบบเรื้อรัง เช่น เป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ใส่สายสวนปัสสาวะค้างไว้เป็นเวลานาน ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือติดเชื้อปรสิตบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในเลือด ซึ่งมักทำให้เป็นมะเร็งชนิดที่ลุกลามและรักษาได้ยาก
  • เคยใช้ยาเคมีบำบัด เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ หรือเคยเข้ารับการบำบัดรักษามะเร็งด้วยรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม

การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

ผู้ป่วยที่มีอาการเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโรค โดยแพทย์มักซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น รวมทั้งใช้มือสัมผัสก้อนที่อาจเป็นเนื้อมะเร็งทางช่องคลอดหรือทวารหนักของผู้ป่วย และอาจส่งตรวจเพิ่มเติม ดังนี้

  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาเม็ดเลือดแดงกับเซลล์มะเร็งที่ปะปนในปัสสาวะ ตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ และตรวจสารบ่งชี้มะเร็งในปัสสาวะ
  • ส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ เพื่อดูโครงสร้างภายในของกระเพาะปัสสาวะกับท่อปัสสาวะร่วมกับการตรวจหาตำแหน่ง จำนวน ขนาด และรูปร่างของเนื้องอก
  • ตรวจชิ้นเนื้อ แพทย์ตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อที่อาจเป็นมะเร็งจากกระเพาะปัสสาวะไปส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อตรวจสอบยืนยันการเป็นมะเร็ง รวมถึงช่วยในการระบุชนิดและการลุกลามของเซลล์มะเร็งด้วย โดยการตรวจด้วยวิธีนี้ให้ผลที่แม่นยำและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • ตรวจทางรังสีวิทยา โดยใช้เครื่องเอกซเรย์ ซีที สแกน เอ็มอาร์ไอ หรืออัลตราซาวด์บริเวณช่องท้อง เพื่อดูโครงสร้างของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ ตรวจหาตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็ง รวมถึงตรวจดูการลุกลามของมะเร็งบริเวณอวัยวะใกล้เคียงด้วย นอกจากนี้ แพทย์อาจเอกซเรย์ช่องอกและสแกนกระดูก เพื่อดูการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังปอดกับกระดูกในกรณีที่คาดว่าเกิดการลุกลามของมะเร็ง

การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

การรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค รวมทั้งสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยด้วย ซึ่งแพทย์มักใช้หลายวิธีร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เคมีบำบัด เป็นการใช้ยารักษาโรคมะเร็ง แพทย์มักใช้ยาอย่างน้อย 2 ชนิดร่วมกัน โดยแพทย์จะฉีดยาเข้ากระเพาะปัสสาวะผ่านทางสายสวนเพื่อรักษามะเร็งระยะเริ่มต้น หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำร่วมกับผ่าตัดเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาด และอาจใช้ร่วมกับการรักษาแบบรังสีบำบัดในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมะเร็งลุกลามไปทั่วร่างกาย

ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือยาฆ่าเซลล์มะเร็ง มักใช้รักษาหลังจากตัดเนื้อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะออกแล้วเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ โดยแพทย์จะฉีดวัคซีนบีซีจี (BCG) ซึ่งใช้ป้องกันวัณโรค หรืออินเตอร์เฟอรอน (Interferon Alfa-2b) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ร่างกายใช้ต่อสู้กับเชื้อโรคโดยเฉพาะไวรัส เพื่อกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง หรือให้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งเข้ากระเพาะปัสสาวะผ่านทางสายสวนแล้วทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมา และผู้ป่วยจะต้องรักษาด้วยวิธีนี้ทุกสัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 6 สัปดาห์ติดต่อกัน นอกจากนี้ แพทย์อาจฉีดแอนติบอดีชนิดสังเคราะห์ (Atezolizumab) เข้าหลอดเลือดดำเพื่อรักษามะเร็งที่ไม่สามารถรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือมะเร็งที่ลุกลามไปทั่วร่างกาย

การผ่าตัด เพื่อกำจัดเนื้อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะใกล้เคียง ซึ่งมี 2 วิธี ได้แก่  

  • การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะ มักใช้รักษามะเร็งระยะเริ่มต้น โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์รวมทั้งเลเซอร์ตัดเนื้อมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะออกมาเพื่อตรวจหาระยะการลุกลามของเนื้อมะเร็งหรือเพื่อทำลายก้อนเนื้อมะเร็ง โดยแพทย์อาจใช้ยาชาเฉพาะที่หรือยาสลบในการผ่าตัด และอาจฉีดยาเคมีบำบัดร่วมด้วยหลังผ่าตัดเสร็จ
  • การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะผ่านช่องท้อง มักใช้รักษามะเร็งแบบลุกลามเข้าสู่ผนังกระเพาะปัสสาวะและเนื้อเยื่อหรืออวัยวะในบริเวณใกล้เคียง โดยแพทย์อาจต้องตัดกระเพาะปัสสาวะบางส่วน หรือตัดกระเพาะปัสสาวะรวมทั้งอวัยวะใกล้เคียงออก เช่น ท่อไต ต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกราน ต่อมลูกหมาก ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ มดลูก รังไข่ และช่องคลอดบางส่วน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดสร้างกระเพาะปัสสาวะเทียม ซึ่งมักใช้บางส่วนของลำไส้ทดแทนเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถระบายปัสสาวะออกจากร่างกายได้ โดยใช้สายสวนผ่านทางผนังหน้าท้องหรือใช้สายสวนผ่านท่อปัสสาวะ
  • รังสีบำบัด มักใช้รักษาหลังจากผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดแล้ว หรือใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยแพทย์อาจใช้วิธีวิเคราะห์ตำแหน่งของก้อนมะเร็งจากภาพถ่ายซีที สแกน หรือเอ็มอาร์ไอ แล้วฉายรังสีพลังงานสูงทำลายเซลล์มะเร็งในบริเวณที่ต้องการรักษา

หลังการรักษา ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่เกิดซ้ำได้ โดยมักต้องตรวจส่องกล้องทางเดินปัสสาวะทุก ๆ 3-6 เดือน หรือปีละครั้งร่วมกับการตรวจอาการอื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและระดับความรุนแรงของมะเร็ง ผลการรักษา และดุลยพินิจของแพทย์ด้วย

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

  • ภาวะเลือดจาง
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะไม่ออก
  • ท่อปัสสาวะตีบตัน
  • กรวยไตคั่งปัสสาวะ
  • ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • กลับมาเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะซ้ำ ซึ่งอาจลุกลามสู่อวัยวะอื่น ๆ ในระบบทางเดินปัสสาวะด้วย
  • เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตับ ปอด หรือกระดูก หากเกิดการลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานแล้วมะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย
  • หย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ป่วยชาย และภาวะวัยทองก่อนวัยอันควรหรือเป็นหมันในผู้ป่วยหญิง ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะผ่านช่องท้อง

การป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัดจึงไม่มีวิธีการป้องกันที่ได้ผลชัดเจน อย่างไรก็ตาม การดูแลเอาใจใส่สุขภาพอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้ เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานผักและผลไม้ให้หลากหลาย ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่หรือการสัมผัสกับสารเคมีอันตราย ปรึกษาแพทย์หากต้องรับประทานยาหรืออาหารเสริมสมุนไพรบางชนิดที่อาจก่อมะเร็ง เป็นต้น