ความหมาย มะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหาร (Stomach Cancer) เป็นเนื้อร้ายที่เกิดขึ้นในเยื่อบุกระเพาะอาหาร อาการในระยะเริ่มต้นอาจไม่รุนแรงและมีลักษณะคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง แน่นท้อง กลืนอาหารลำบาก เป็นต้น โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารบางชนิด อาหารรมควัน รวมถึงผู้ที่เคยเป็นโรคมะเร็งที่ส่วนอื่นของร่างกาย มะเร็งกระเพาะอาหารมักพบในเพศชายได้มากกกว่าในเพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
อาการของมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในระยะเริ่มแรกของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารอาจไม่แสดงอาการของโรค หรือมีอาการที่ไม่รุนแรงและคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ ได้ เช่น อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร ปวดท้อง กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น หากเนื้อร้ายเจริญเติบโตจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น และอาจพบอาการดังต่อไปนี้
- ปวดหรือจุกที่ลิ้นปี่
- แน่นท้องหรือปวดท้องหลังรับประทานอาหาร
- อุจจาระเป็นเลือด
- อาเจียนเป็นเลือด
- กลืนอาหารลำบาก
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
- รู้สึกอิ่มหลังรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ
- รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจาง
- ดีซ่านโดยมีอาการผิวและตาเหลือง
โรคมะเร็งกระเพาะอาหารหากตรวจพบเร็ว จะรักษาได้ง่ายกว่า อาการทั่วไปที่พบได้คืออาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปที่มีปัญหาของระบบย่อยอาหารจะมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคได้มากกว่าคนอายุน้อย ดังนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค หากมีอาการอาหารไม่ย่อยร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น น้ำหนักลด รู้สึกเหนื่อยหรือเมื่อยล้าจากภาวะโลหิตจาง อาเจียนเป็นประจำ หรือกลืนอาหารลำบาก เป็นต้น
สาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหาร
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามะเร็งกระเพาะอาหารเกิดขึ้นจากสาเหตุใด และอะไรเป็นตัวการที่ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นที่กระเพาะอาหาร มีเพียงปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบ เป็นแผลในกระเพาะอาหาร และอาจเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรัง (Chronic Atrophic Gastritis)
- การสูบบุหรี่
- การรับประทานอาหารประเภทรมควัน ของหมักดอง หรือปลาเค็ม
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือผู้ที่เป็นโรคอ้วน
- ผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
- มักพบในเพศชายได้มากกกว่าในเพศหญิง
- ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12
- ผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมแผลในกระเพาะอาหาร ผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน หรือผ่าตัดเส้นประสาทวากัส (Vagus Nerve)
- ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนอนฮอดจ์กิน มะเร็งเต้านม รวมถึงผู้ที่เคยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งอัณฑะ มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
การวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในการวินิจฉัย แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติ เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ท้องบวมจากการขยายตัวของตับ หรือน้ำในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น มีก้อนที่ท้อง ตรวจทวารหนัก เป็นต้น ตรวจประวัติทางการแพทย์ ประวัติการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารกับสมาชิกในครอบครัว รวมถึงตรวจอาการของผู้ป่วยที่แสดงถึงมะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย กลืนลำบาก น้ำหนักลด คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร เป็นต้น แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการทดสอบโดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
- การตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper GI Series) เป็นการเอกซเรย์โดยการกลืนแป้งแบเรียม เพื่อตรวจหาเนื้อร้ายและความผิดปกติอื่น ๆ ในช่องท้อง
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Endoscopy) โดยส่องกล้องเข้าทางปากเพื่อมองภาพของกระเพาะอาหาร หากพบความผิดปกติแพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อไปตรวจ วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) จะทำหลังการวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะอาหาร เพื่อประเมินและกำหนดระยะของมะเร็ง
- การทดสอบอื่น ๆ เพื่อตรวจสอบความรุนแรงของมะเร็ง เช่น การสแกนกระดูก การตรวจความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี (PET Scan) เป็นต้น
เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร การประเมินระยะการแพร่กระจายของมะเร็งจะเป็นขั้นตอนต่อไปที่จะเกิดขึ้น สามารถแบ่งได้ 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 มะเร็งอยู่ที่ชั้นเยื่อบุของกระเพาะอาหาร ยังไม่ลุกลามไปที่อื่น หรืออาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงจำนวนไม่มาก
- ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามลึกลงไปที่ชั้นกล้ามเนื้อของผนังกระเพาะอาหาร และอาจแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้นไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงจำนวนมากขึ้น
- ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปทั่วตลอดความหนาของชั้นกระเพาะอาหาร อาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง และแพร่กระจายเพิ่มมากขึ้นไปยังต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามและกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
การรักษามะเร็งกระเพาะอาหาร
มะเร็งกระเพาะอาหารสามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและระยะการแพร่กระจายของมะเร็ง โดยมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้
- การผ่าตัด เช่น
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพียงบางส่วน (Partial Gastrectomy) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้อร้ายที่ส่วนล่างของกระเพาะอาหาร
- การผ่าตัดกระเพาะอาหารทั้งหมด (Total Gastrectomy) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้อร้ายที่ส่วนบนหรือกลางกระเพาะอาหาร หากเนื้อร้ายอยู่ใกล้กับส่วนปลายของหลอดอาหาร อาจต้องทำการผ่าตัดขยายหลอดอาหาร หลอดอาหารส่วนที่เหลือจะถูกรวมเข้ากับลำไส้เล็กส่วนบน
- การผ่าตัดเพื่อบรรเทาอาการ ในกรณีที่ก้อนมะเร็งอุดตันกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้ปวดท้อง อาเจียน และรู้สึกแน่นท้องมากหลังรับประทานอาหาร สามารถทำได้โดยการใส่ขดลวดถ่างกระเพาะอาหารโดยการส่องกล้อง การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อกำจัดตำแหน่งอุดตัน หรือการผ่าตัดบายพาส เป็นต้น
- การทำเคมีบำบัด โดยใช้ยาเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง อาจทำก่อนการผ่าตัดเพื่อลดจำนวนของเซลล์มะเร็งหรือหลังการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังเหลืออยู่ และป้องกันการกลับมาของเซลล์มะเร็ง อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ เช่น อ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ท้องเสีย โลหิตจาง น้ำหลักลด รู้สึกเหมือนมีเข็มจิ้มที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า เป็นต้น ผลข้างเคียงจะขึ้นอยู่กับประเภทของยาที่ใช้ในการทำเคมีบำบัดและมักจะมีอาการดีขึ้นหลังจบการรักษา
- การฉายรังสี โดยใช้แสงที่มีพลังงานสูงในการกำจัดเซลล์มะเร็ง แต่ไม่นิยมทำการรักษาด้วยวิธีนี้ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบกับอวัยวะที่อยู่ใกล้กับกระเพาะอาหารได้ มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง หรือมีเลือดออก อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เหนื่อย คลื่นไส้ ท้องเสีย ระคายเคืองผิว ผลข้างเคียงจะมีอาการดีขึ้นหลังจบการรักษาไปแล้วประมาณ 2-3 สัปดาห์
- อาจมีการพิจารณาใช้ยาทราสทูซูแมบ ที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านมและอาจใช้ได้ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารบางราย มีหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งและเพิ่มโอกาสของการมีชีวิตรอด อาจใช้ร่วมกับการทำเคมีบำบัด การใช้ยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ผลข้างเคียงต่อหัวใจ แพ้ยา คลื่นไส้ หนาวสั่น มีไข้ ท้องเสีย อ่อนแรง รู้สึกเจ็บหรือปวด เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- น้ำในช่องท้อง หรือท้องมาน และน้ำในเยื่อหุ้มปอด
- การอุดตันของกระเพาะอาหารส่วนปลาย รอยต่อหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก
- เลือดออกในทางเดินอาหาร จากภาวะเส้นเลือดที่หลอดอาหารโป่งพอง
- ดีซ่านจากภาวะตับโต หรือท่อน้ำดีอุดตัน
- อ่อนเพลียจากการขาดสารอาหาร
- ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกที่เป็นผลมาจากเนื้อร้าย
การป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร
ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากสาเหตุใด จึงยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ แต่ทำได้ด้วยการลดโอกาสและความเสี่ยงของการเกิดโรค โดยสามารถปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีและมีร่างกายที่แข็งแรง
- รับประทานผักและผลไม้ เพื่อช่วยเพิ่มเส้นใยอาหารและวิตามินให้กับร่างกาย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของหมักดอง อาหารรมควัน และอาหารที่มีรสเค็ม
- ไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งชนิดอื่น ๆ
- ปรึกษาแพทย์หากพบว่ามีความเสี่ยงของการเกิดโรค