ความหมาย มะเร็งตับ
มะเร็งตับ (Liver Cancer) เกิดจากเซลล์บริเวณตับมีลักษณะหรือการทำงานผิดปกติจนเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็ง หรืออาจเกิดจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งจากบริเวณอื่นมายังตับ ซึ่งมะเร็งตับส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุหลังนี้ ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมักไม่แสดงอาการจนกว่าเซลล์มะเร็งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ซึ่งเป็นระยะที่ยากต่อการรักษาแล้ว
อย่างไรก็ตาม มะเร็งตับเป็นโรคที่มีโอกาสหายดีและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยเฉพาะเมื่อตรวจพบมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ แพทย์จะเป็นผู้วางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยพิจารณาจากสภาวะของผู้ป่วย ตำแหน่งการเกิดมะเร็งที่ตับ และขนาดของก้อนมะเร็ง
อาการของมะเร็งตับ
มะเร็งตับมักไม่มีสัญญาณหรืออาการบ่งบอกในระยะแรกเริ่ม เมื่อมีการดำเนินโรคถึงขั้นแสดงอาการถึงจะสังเกตได้ดังนี้
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่มแม้รับประทานไปเพียงเล็กน้อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เจ็บช่องท้องส่วนบน โดยมักจะปวดบริเวณด้านขวา
- มีอาการบวมที่ช่องท้องหรือคลำพบก้อนใต้ชายโครงด้านขวาเนื่องจากตับโต
- คลำพบก้อนที่ชายโครงด้านซ้ายเนื่องจากม้ามโต
- มีอาการดีซ่าน หรือตาเหลือง ตัวเหลือง
- อุจจาระมีสีซีด
- อ่อนแรง เหนื่อยล้า
- มีอาการคัน
- เป็นไข้
สาเหตุของมะเร็งตับ
มะเร็งตับเกิดจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ (DNA) ในเซลล์ตับจนโครงสร้างเซลล์เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เซลล์เติบโตขึ้นอย่างผิดปกติและเปลี่ยนแปลงไปเป็นเนื้องอก สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง โดยพบอัตราการเป็นมะเร็งตับในเพศชายสูงกว่าเพศหญิง และพบผู้ป่วยโรคตับแข็งที่เป็นชาวเอเชีย และชาวอเมริกันได้บ่อยกว่าชาติอื่น ๆ
บางรายอาจมีโรคประจำตัวที่สามารถดำเนินโรคไปเป็นมะเร็งตับได้ เช่น โรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซีที่สร้างความเสียหายต่อตับอย่างถาวรและทำให้ตับวาย โรคตับแข็งที่พบกว่าครึ่งของผู้ป่วยมะเร็งตับ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มสุรา
รวมถึงโรคตับที่สืบทอดทางพันธุกรรมที่พบได้ไม่บ่อย เช่น ภาวะธาตุเหล็กในตับมากเกิน(Hemochromatosis) หรือภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย (Wilson's Disease)
นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่มะเร็งตับก็เช่น
- การสัมผัสสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxins) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากเชื้อราตามเมล็ดข้าวโพดหรือถั่วที่เก็บรักษาไม่ดีจนทำให้เกิดเชื้อรา การได้รับอาหารปนเปื้อนเชื้อราจึงเสี่ยงต่อการได่รับสารพิษชนิดนี้และเกิดเป็นมะเร็งตับ
- พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมากและต่อเนื่องกัน สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อตับและเสี่ยงต่อการกลายไปเป็นเซลล์มะเร็ง
- การสูบบุหรี่ ผู้ที่ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบอยู่แล้วและมีพฤติกรรมสูบบุหรี่จะยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งตับยิ่งขึ้น
- การได้รับสารเคมีอันตรายจากยากำจัดวัชพืช เช่น สารไวนิล คลอไรด์ (Vinyl Chloride) และสารหนู ที่พบตามบ่อน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เมื่อได้รับเป็นเวลานานอาจเกิดการสะสมจนเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ไม่เว้นแม้แต่มะเร็งตับ
- การใช้อนาโบลิคเสตียรอยด์ (Anabolic Steroids) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่นักกีฬามักใช้เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ หากใช้เป็นเวลานานจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับและมะเร็งชนิดอื่น ๆ ด้วย
การวินิจฉัยมะเร็งตับ
เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติสุขภาพ ปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งตับ และตรวจร่างกายด้วยการคลำ สัมผัส หรือเคาะท้องเพื่อตรวจตับ หลังจากนั้นจะส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
การตรวจเลือดเพื่อตรวจมะเร็งตับ
แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเลือดเพื่อหาค่าโปรตีนที่ผลิตจากเนื้องอกตับอย่างเอเอฟพี (Alfa-Fetoprotein: AFP) หากผู้ป่วยมีค่าเอเอฟพีสูงกว่าปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งตับ โดยวิธีนี้อาจช่วยตรวจหามะเร็งตับในผู้ป่วยได้ถึง 70%
การถ่ายภาพตับ
แพทย์สามารถมองเห็นตำแหน่งของมะเร็งและปริมาณของเลือดที่มาหล่อเลี้ยงมะเร็งได้อย่างชัดเจนผ่านการวินิจฉัยด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกน (CT Scan) หรือเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แต่การตรวจด้วยวิธีนี้อาจยากที่จะหาแผลหรือรอยโรคที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร
การเจาะชิ้นเนื้อตับ (Liver Biopsy)
การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อเป็นการเก็บตัวอย่างจากก้อนเนื้อที่น่าสงสัยบริเวณตับ เพื่อส่งตรวจเพิ่มเติมว่าจะเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ ในกรณีที่ผลตรวจการถ่ายภาพและการตรวจทางห้องปฏิบัติการระบุแน่นอนแล้วว่าเป็นมะเร็งตับก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องเจาะชิ้นเนื้อตับ เนื่องจากวิธีนี้อาจเสี่ยงทำให้ติดเชื้อ มีเลือดออก หรือเกิดรอยช้ำบริเวณที่ถูกเข็มเจาะ
โดยโอกาสที่จะเกิดการแพร่เชื้อผ่านเข็มนั้นอาจเกิดขึ้นได้ประมาณ 1–3% และหากการตรวจชนิดนี้ยังวินิจฉัยโรคไม่ได้แน่ชัด แพทย์อาจตรวจด้วยการถ่ายภาพซ้ำอีกครั้ง โดยเว้นระยะห่างการตรวจ 3–6 เดือน
การรักษาโรคมะเร็งตับ
วิธีการรักษามะเร็งตับขึ้นอยู่กับอาการและการแพร่กระจายของมะเร็ง แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรักษา โดยพิจารณาจากอายุและสุขภาพของผู้ป่วย ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับความสมัครใจของตัวผู้ป่วยประกอบด้วย
การผ่าตัด (Surgical Resection)
ในระยะเริ่มแรกที่เนื้องอกมีขนาดเล็กและอยู่ในส่วนเล็ก ๆ ของตับอาจรักษาได้ด้วยการผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อส่วนที่มีมะเร็งออก เพราะปกติแล้วเซลล์ตับสามารถสร้างขึ้นใหม่เอง จึงอาจเป็นไปได้ที่การผ่าตัดชิ้นเนื้อขนาดใหญ่ออกไปจะไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งตับบางรายอาจสร้างเซลล์ใหม่ของตับได้ไม่ดี การผ่าตัดนี้จึงอาจกระทบต่อสุขภาพและไม่ปลอดภัยได้เช่นกัน
การผ่าตัดเอาชิ้นเนื้อร้ายออกอาจตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกหลังการผ่าตัด เกิดการติดเชื้อ ภาวะหลอดเลือดที่ขาและปอดอุดตัน ปอดบวม น้ำดีรั่วออกจากตับ ตับวาย ดีซ่าน หรือเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาสลบได้ แพทย์จึงต้องเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดอย่างต่อเนื่อง และผู้ป่วยอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่
การผ่าตัดเปลี่ยนตับ
วิธีนี้อาจใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับระยะเริ่มแรกที่มีเนื้องอกขนาดเล็กและมีจำนวนไม่มาก โดยแพทย์จะเปลี่ยนถ่ายตับใหม่ที่ได้รับบริจาคแทนที่ตับที่มีมะเร็งให้กับผู้ป่วย เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งซ้ำอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนตับอาจเสี่ยงต่อการมีเลือดออกหรือติดเชื้อหลังผ่าตัด ปอดบวม ผลข้างเคียงจากยาสลบ ภาวะต่อต้านตับที่ถูกเปลี่ยนถ่าย รวมถึงการติดเชื้อเนื่องจากระบบภูมิคุ้นกันหยุดทำงานซึ่งเป็นผลจากยาที่ต้องรับประทานหลังผ่าตัด ทั้งนี้ การเปลี่ยนถ่ายตับในประเทศไทยก็ยังทำได้น้อยอยู่
รังสีรักษา (Radiation Therapy)
เป็นการฉายรังสีพลังงานสูงอย่างรังสีเอกซเรย์และโปรตอนไปยังเซลล์เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้เนื้องอกหดตัวเล็กลง การฉายรังสีอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเซลล์ปกติที่ตับและบริเวณรอบข้างได้ง่าย ร่างกายจึงอาจมีอาการอ่อนล้า คลื่นไส้ และอาเจียนหลังการรักษาได้
เคมีบำบัด (Chemotherapy)
เป็นการให้ยารับประทานหรือฉีดยาฆ่าเซลล์มะเร็งไปยังหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการข้างเคียงที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของผู้ป่วยและชนิดของยา เช่น ฟกช้ำง่าย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ขาบวม เจ็บปาก และท้องเสีย ซึ่งอาการเหล่านี้มักจะคงอยู่เพียงชั่วคราว
Ablative Therapy
เป็นการฆ่าเซลล์มะเร็งด้วยการฉีดสารเข้าไปที่เนื้อร้ายโดยตรง สารที่ใช้อาจเป็นความร้อน เลเซอร์ กรด แอลกอฮอล์ชนิดพิเศษ หรือคลื่นวิทยุ วิธีนี้จะใช้บรรเทาอาการของผู้ป่วยในกรณีที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดได้
การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted Drug Therapy)
การใช้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็งมีส่วนช่วยชะลอหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ โดยเจาะจงกับเซลล์ที่มีความผิดปกติมากกว่าการทำเคมีบำบัดทั่วไป
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งตับ
นอกจากผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการรักษา มะเร็งตับสามารถแพร่กระจายไปสู่อวัยวะบริเวณอื่นอย่างต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะที่อยู่ห่างไกลออกไป เลือดออกภายในระบบทางเดินอาหาร ก้อนเนื้องอกเกิดแตก หรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ตับวาย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้ในระยะท้าย ๆ ของโรคมะเร็งตับ
การป้องกันมะเร็งตับ
การป้องกันมะเร็งตับอาจทำได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งตับ และโรคตับแข็งที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งตับอย่างมาก เพราะการเกิดแผลในตับอาจกลายไปเป็นเซลล์มะเร็งที่ตับได้สูง
ในเบื้องต้นอาจทำได้โดยหมั่นออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดปริมาณไขมันที่บริโภค ดื่มแอลกอฮอล์ให้พอดี ระมัดระวังการใช้สารเคมีที่อาจเป็นอันตรายและเสี่ยงต่อโรคตับแข็งตามมา
รวมถึงควรดูแลตนเองไม่ให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับได้ หากเป็นการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันมากกว่า 90% สามารถฉีดได้ทุกเพศทุกวัย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอด้วย ส่วนไวรัสตับอักเสบซียังไม่มีวัคซีนป้องกันในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การหลีกเลี่ยงการติดต่อเชื้อทั้ง 2 ชนิดจากผู้อื่นยังทำได้ด้วยการสร้างสุขอนามัยที่ดี เช่น ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ไม่ใช้เข็มฉีดยาหรือเข็มที่ใช้สักลายตามร่างกายร่วมกันกับผู้อื่น และควรเลือกร้านสักที่มั่นใจได้ถึงความสะอาดและสุขอนามัย
อีกวิธีที่อาจทำได้ก็คือการเข้ารับการตรวจมะเร็ง แต่วิธีนี้ไม่อาจลดหรือป้องกันการเกิดมะเร็งตับได้ เพียงแต่ทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวได้ตั้งแต่ในระยะต้น ๆ โดยทางสมาคมอเมริกันเพื่อการศึกษาของโรคตับ (AASLD) ได้แนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้ เข้ารับการตรวจมะเร็งตับ
- ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วม เช่น เป็นชาวเอเชียหรือแอฟริกัน ป่วยเป็นโรคตับแข็ง หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับ
- ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี พร้อมกับเป็นโรคตับแข็ง
- ผู้ป่วยโรคตับแข็งจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคภูมิแพ้ตัวเอง ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป โรคไขมันพอกตับ หรือโรคทางพันธุกรรมอย่างภาวะธาตุเหล็กในตับมากเกิน
- ผู้ป่วยโรคตับแข็งที่เกิดหลังการคั่งของน้ำดี