ความหมาย มะเร็งต่อมน้ำลาย (Salivary Gland Cancer)
มะเร็งต่อมน้ำลาย (Salivary Gland Cancer) เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อมะเร็งบริเวณต่อมน้ำลาย โดยต่อมน้ำลายพบได้บริเวณช่องปากและช่องลำคอ เช่น บริเวณแก้มหน้ากกหู ใต้ขากรรไกร ใต้ลิ้น นอกจากนี้ยังมีต่อมน้ำลายขนาดเล็ก บริเวณเยื่อบุในช่องปาก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม เป็นต้น
มะเร็งต่อมน้ำลายเป็นโรคที่เกิดจากการที่เซลล์เนื้อเยื่อต่อมน้ำลายเกิดความผิดปกติในการแบ่งตัว หรือเจริญเติบโตมากผิดปกติจนเกิดเป็นก้อนเนื้อ โดยต่อมน้ำลายบริเวณหน้ากกหูจะเป็นบริเวณที่พบมะเร็งต่อมน้ำลายได้บ่อย อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมน้ำลายถือเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก และในบางกรณีก้อนเนื้อที่พบอาจเป็นก้อนเนื้อธรรมดา หรือเป็นสัญญาณของโรคอื่นที่ไม่ได้เป็นผลมาจากโรคมะเร็งได้เช่นกัน
อาการของมะเร็งต่อมน้ำลาย
โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำลายมักจะพบอาการผิดปกติบางอย่าง ดังนี้
- พบก้อนเนื้อบริเวณแก้มหน้ากกหูหรือภายในช่องปาก
- รู้สึกปวดแบบเรื้อรังบริเวณปาก ขากรรไกร แก้ม หรือหน้าหู
- รู้สึกชาหรืออ่อนแรงที่กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
- ใบหน้าหรือลำคอทั้งสองข้างมีขนาดหรือรูปร่างไม่สมดุลกันอย่างเห็นได้ชัด
- ขยับกล้ามเนื้อใบหน้าลำบากหรือรู้สึกว่าอ้าปากได้ไม่สุด
- มีของเหลวไหลออกมาจากหู
- กลืนอาหารลำบาก
ในบางกรณีซึ่งมีโอกาสพบได้น้อย ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำลายอาจไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ และตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า ก้อนเนื้อที่พบอาจไม่ใช่ก้อนเนื้อมะเร็ง หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ
ดังนั้น หากพบอาการผิดปกติ เช่น อาการบวม ปวด บริเวณปาก ขากรรไกร คอ หรือพบอาการในลักษณะข้างต้น โดยเฉพาะหากอาการไม่ดีขึ้นหรือไม่หายไปภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ
สาเหตุของมะเร็งต่อมน้ำลาย
ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำลาย แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น
- อายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 55 ปีขึ้นไป และมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
- มีประวัติการได้รับรังสีรักษา (Radiation Therapy) บริเวณศีรษะหรือลำคอมาก่อน
- ทำอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับโลหะหนักหรือแร่ธาตุบางชนิดเข้าสู่ร่างกายเป็นระยะเวลานาน เช่น ผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ผู้ที่ทำงานในโรงงานที่เกี่ยวกับยาง ช่างประปา หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับงานไม้
นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมน้ำลายยังอาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ หรือการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำลาย
การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำลายในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะการตรวจหาก้อนเนื้อบริเวณใบหน้า ช่องปาก ขากรรไกร และหูของผู้ป่วย
จากนั้นแพทย์อาจใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น
- การวินิจฉัยด้วยภาพ เช่น การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) บริเวณปากและขากรรไกร เพื่อตรวจดูสิ่งผิดปกติต่าง ๆ รวมถึงตรวจหาตำแหน่งและขนาดของก้อนเนื้อ
- การส่องกล้องเข้าไปในร่างกายบริเวณช่องปาก คอ และกล่องเสียง เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติ
- การตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณก้อนเนื้อไปตรวจ เพื่อตรวจหาเซลล์ที่มีความผิดปกติ
หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำลาย แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูความรุนแรงรวมถึงการลุกลามของมะเร็ง และนำไปใช้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
การรักษามะเร็งต่อมน้ำลาย
แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดเป็นหลักในการรักษามะเร็งต่อมน้ำลาย โดยแพทย์อาจผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้อมะเร็งออกไป หรืออาจผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกร่วมกับผ่าตัดต่อมน้ำลายหรืออวัยวะบริเวณใกล้เคียงออกร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความเสี่ยงในการลุกลามของก้อนมะเร็ง
ภายหลังการผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อและบรรเทาอาการปวด รวมถึงอาจนัดผู้ป่วยเพื่อผ่าตัดตกแต่งแผลเพิ่มเติม โดยแพทย์อาจผ่าตัดนำผิวหนังหรือเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นของร่างกายมาตกแต่งบริเวณแผล ช่วยให้แผลฟื้นฟูและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ปากและใบหน้าในการพูด เคี้ยวอาหาร กลืน และหายใจได้สะดวกขึ้น
นอกจากการผ่าตัด แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ร่วมกับการผ่าตัดด้วยเพื่อช่วยกำจัดเซลล์มะเร็ง ทั้งนี้ วิธีที่เลือกใช้จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน โดยวิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้คือการใช้รังสีรักษาหรือการทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งต่อมน้ำลาย
หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำลายอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ โดยก้อนเนื้อมะเร็งอาจลุกลามหรือมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อาการของโรคส่งผลกระทบต่อการพูด การกลืน การหายใจ และการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ เซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะหรือบริเวณอื่นของร่างกาย
การป้องกันมะเร็งต่อมน้ำลาย
การป้องกันมะเร็งต่อมน้ำลายทำได้ยาก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน