มะเร็งปากช่องคลอด (Vulvar Cancer)

ความหมาย มะเร็งปากช่องคลอด (Vulvar Cancer)

มะเร็งปากช่องคลอด (Vulvar Cancer) เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดบริเวณปากช่องคลอด เช่น ปากช่องคลอด แคมนอก แคมใน คลิตอริส เนินหัวหน่าว หรือบริเวณฝีเย็บ แต่บริเวณที่พบมะเร็งบ่อยที่สุดจะเป็นแคมนอกและแคมใน

มะเร็งปากช่องคลอดแบ่งออกเป็นหลายชนิดตามชนิดของเซลล์ที่เกิดมะเร็ง โดยชนิดที่พบได้บ่อยมักจะเป็นชนิดสะแควมัส เซลล์ คาร์ซิโนมา (Squamous Cell Carcinoma) ที่มะเร็งเกิดกับเซลล์ผิวหนังชนิดสะแควมัส (Squamous Cells) และชนิดเมลาโนมา (Melanoma) ที่มะเร็งเกิดกับเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนัง ซึ่งชนิดของมะเร็งที่ต่างกันจะส่งผลต่อลักษณะอาการและการรักษาแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน

Vulvar Cancer

อาการของมะเร็งปากช่องคลอด

โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งปากช่องคลอดในช่วงแรกมักไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ ทางร่างกาย แต่หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติบางอย่าง โดยอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง แต่อาการส่วนใหญ่ที่อาจพบได้ เช่น

  • คันบริเวณปากช่องคลอดอย่างเรื้อรัง
  • รู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองบริเวณปากช่องคลอด
  • เกิดแผลบริเวณปากช่องคลอด
  • มีเลือด หนอง หรือของเหลวไหลออกมาจากรอยแผลบริเวณปากช่องคลอด
  • ผิวหนังบริเวณปากช่องคลอดจับตัวกันหนา และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีแดง ขาว หรือน้ำตาลเข้ม
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์หรือขณะปัสสาวะ
  • เกิดก้อนเนื้อบริเวณปากช่องคลอด
  • เกิดรอยดำหรือไฝบริเวณปากช่องคลอด โดยรอยหรือไฝดังกล่าวจะมีลักษณะหรือสีเปลี่ยนไป
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวม

ทั้งนี้ หากรู้สึกเจ็บบริเวณอวัยวะเพศหรือสังเกตพบอาการในข้างต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการลุกลามของมะเร็งเมื่อตรวจเจอมะเร็งปากช่องคลอด

สาเหตุของมะเร็งปากช่องคลอด

มะเร็งเป็นโรคที่เกิดจากการที่เซลล์แบ่งตัวมากผิดปกติจนลุกลามไปยังอวัยวะบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ในกรณีมะเร็งปากช่องคลอด การแบ่งเซลล์ที่ผิดปกติจะเกิดขึ้นบริเวณปากช่องคลอด โดยส่วนมากแพทย์มักตรวจพบมะเร็งที่บริเวณแคมนอกและแคมในบ่อยที่สุด

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งปากช่องคลอด แต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งชนิดเมลาโนมา สูบบุหรี่ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอจากบางสาเหตุ เช่น การใช้ยา การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ หรือโรคเอดส์  

รวมไปถึงผู้ป่วยมีประวัติเป็นมะเร็งชนิดเมลาโนมา มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด ติดเชื้อเอชพีวี (HPV) มีไฝขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ เคยตรวจพบเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูก (Pap Test) หรือป่วยเป็นโรคผิวหนังบางชนิดบริเวณปากช่องคลอด อย่างโรค Lichen Sclerosus หรือโรค Vulvar Intraepithelial Neoplasia

การวินิจฉัยมะเร็งปากช่องคลอด

แพทย์จะสอบถามประวัติและอาการผิดปกติต่าง ๆ ของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจภายใน (Pelvic Exam) โดยแพทย์จะตรวจบริเวณอวัยวะเพศของผู้ป่วยเพื่อหาสัญญาณของโรค หรือการใช้กล้องคอลโปสโคป (Colposcope) เพื่อตรวจบริเวณปากมดลูก ช่องคลอด และปากช่องคลอดของผู้ป่วย รวมไปถึงการตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากช่องคลอดบางส่วนไปตรวจ

หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากช่องคลอด แพทย์จะตรวจเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์ (X–Ray) ซีทีสแกน (CT Scan) เอ็มอาร์ไอสแกน (MRI Scan) หรือเพทสแกน (PET Scan) เพื่อตรวจดูความรุนแรงหรือการลุกลามของมะเร็ง

การรักษามะเร็งปากช่องคลอด

วิธีการรักษามะเร็งปากช่องคลอดจะขึ้นอยู่กับชนิด ตำแหน่ง ความรุนแรง การลุกลามของมะเร็ง และความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน โดยการรักษาที่แพทย์อาจใช้ เช่น

  • มดลูกหรือต่อมน้ำเหลืองบางส่วน รวมถึงอวัยวะใกล้เคียงอย่างกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ โดยจะพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ นอกจากนี้ อาจใช้วิธีรังสีรักษาหรือเคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนเนื้อมะเร็งก่อนการผ่าตัด
  • การใช้รังสีรักษาหรือการฉายแสง เพื่อกำจัดหรือลดขนาดเซลล์มะเร็งด้วยรังสีบางชนิด เช่น รังสีเอกซเรย์หรือโปรตอน
  • การใช้เคมีบำบัดหรือคีโม โดยแพทย์จะใช้ยาเคมีบางชนิดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง
  • การให้ยาแบบมุ่งเป้า (Targeted Drug Therapy) เป็นวิธีการรักษาด้วยการให้ยา มีทั้งชนิดรับประทาน ชนิดทา และยาฉีด เพื่อกำจัดหรือชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะ โดยชนิดของยาจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นวิธีที่แพทย์จะใช้ยาบางชนิดเพื่อช่วยให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยสามารถทำงานหรือกำจัดเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งปากช่องคลอดอาจมีโอกาสกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำในภายหลังการรักษา แพทย์จึงอาจนัดตรวจผู้ป่วยเพิ่มเติม เพื่อติดตามอาการและผลการรักษาเป็นระยะ ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งปากช่องคลอด

ผู้ป่วยมะเร็งปากช่องคลอดส่วนมากมักไม่พบภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ยกเว้นกรณีที่ไม่ได้รับการรักษาหรือมะเร็งมีการลุกลาม ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง เช่น ภาวะบวมน้ำเหลือง เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณกระดูก และท่อปัสสาวะอุดตัน เป็นต้น

การป้องกันมะเร็งปากช่องคลอด

มะเร็งปากช่องคลอดอาจป้องกันได้ยากเนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ในเบื้องต้นสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV Vaccine) ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์และไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เข้ารับการตรวจร่างกายหรือการตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็ง