ความหมาย มะเร็งมดลูก
มะเร็งมดลูก (Uterine Cancer) คือ โรคมะเร็งที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศหญิงซึ่งพบได้มากที่สุด โดยเซลล์ภายในมดลูกเกิดเนื้อร้าย (Malignant Tumor) ขึ้นมา แล้วแพร่กระจาย โตขึ้น และทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียง อีกทั้งยังลามไปตามส่วนอื่นของร่างกาย
โดยทั่วไปแล้ว มดลูกเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง เป็นกล้ามเนื้อมีรูปร่างคล้ายลูกแพร์ ภายในเป็นโพรง สำหรับให้ตัวอ่อนเจริญขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ ผนังมดลูกเรียกว่าเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium) ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อกับต่อมต่าง ๆ มดลูกส่วนล่างคือปากมดลูกซึ่งเชื่อมกับช่องคลอด หากเซลล์ภายในมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เจริญตามปกติ อาจทำให้เกิดเนื้องอก เช่น เยื่อโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือเนื้องอกในมดลูก รวมทั้งเสี่ยงเกิดเป็นเนื้อร้ายได้ในกรณีที่ไม่เข้ารับการรักษา เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว ( Endometrial Hyperplasia)
ส่วนใหญ่แล้ว มะเร็งมดลูกมักเกิดจากเซลล์ที่สร้างเยื่อบุโพรงมดลูก จึงมักเรียกมะเร็งชนิดนี้ว่ามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer) ทั้งนี้ ยังอาจเกิดบริเวณกล้ามเนื้อที่ล้อมรอบมดลูก ซึ่งเรียกว่ามะเร็งซาร์โคมา (Uterine Sarcoma)
อาการของมะเร็งมดลูก
ผู้ป่วยมะเร็งมดลูกมักเกิดอาการต่าง ๆ ขณะที่เนื้อร้ายกำลังเจริญขึ้น ดังนี้
- มีเลือดออกจากช่องคลอด โดยผู้ที่เข้าวัยทองจะเริ่มมีเลือดออกจากช่องคลอดเพียงเล็กน้อยปนมากับของเหลว และมักมีเลือดออกมากขึ้น ส่วนผู้ที่ยังไม่เข้าวัยทองจะมีประจำเดือนมากกว่าปกติ รวมทั้งมีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่ได้มีประจำเดือน
- ปวดท้องน้อยและรู้สึกเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่ได้พบทั่วไป
- คลื่นไส้ รู้สึกเหนื่อย เบื่ออาหาร รวมทั้งปวดหลัง ขา หรืออุ้งเชิงกราน ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่มะเร็งเข้าระยะที่ 4
ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีเลือดออกจากช่องคลอด หรือผู้ที่รอบเดือนผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากภาวะเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติหลังเข้าวัยทองนั้นมีสาเหตุมาจากมะเร็งมดลูก ซึ่งพบเพียง 1 ใน 10 รายเท่านั้น อาการเลือดออกจากช่องคลอดที่เกิดขึ้นจึงอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก หรือติ่งเนื้อในเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น
สาเหตุของมะเร็งมดลูก
สาเหตุของโรคมะเร็งมดลูกยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งเกิดจากโครงสร้างดีเอ็นเอของเซลล์กลายพันธุ์ ส่งผลให้เซลล์เจริญผิดปกติและเกิดเนื้องอกขึ้นมา หากไม่ได้รับการรักษา เซลล์มะเร็งอาจโตขึ้นและแพร่ไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือซึมเข้าเลือดและระบบน้ำเหลืองโดยตรง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูก ดังนี้
- อายุ ผู้ที่อายุมากขึ้นเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกได้ ส่วนใหญ่แล้ว มักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 40-74 ปี ทั้งนี้ ผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งมดลูกมีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น
- ฮอร์โมน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงสัมพันธ์กับโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูก โดยทั่วไปแล้ว เอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เพศหญิง กระตุ้นให้เกิดการตกไข่ ทั้งนี้ ยังมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนซึ่งช่วยสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกสำหรับรองรับไข่ที่ตกออกมา ฮอร์โมนทั้งสองจะควบคุมระดับฮอร์โมนอีกตัวให้สมดุล หากเอสโตรเจนไม่สมดุลกับโปรเจสเตอโรน จะทำให้ระดับเอสโตรเจนในร่างกายเสมือนว่าสูงขึ้น ผู้หญิงวัยทองจะเริ่มหยุดผลิตโปรเจสเตอโรน แต่บางรายอาจมีเอสโตรเจนหลั่งออกมาบ้าง ทำให้เอสโตรเจนเสมือนว่าสูงขึ้น ภาวะดังกล่าวก่อให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ที่เยื่อบุโพรงมดลูก จึงเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูก
- ฮอร์โมนทดแทน ผู้ที่เข้าวัยทองจะได้รับฮอร์โมนทดแทนสำหรับรักษาอาการวัยทองที่เกิดขึ้น เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน อารมณ์แปรปรวน ช่องคลอดแห้ง หรือแรงขับทางเพศลดลง ส่วนใหญ่แล้ว มักจะได้รับฮอร์โมนทดแทนชนิดเอสโตรเจนผสมโปรเจสเตอโรน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกอันเนื่องมาจากระดับเอสโตรเจนมากเกินไป ส่วนผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดนำมดลูกออกไปจะได้รับฮอร์โมนทดแทนชนิดที่มีเอสโตรเจนอย่างเดียว
- ยาและการรักษาบางอย่าง ผู้ที่ใช้ยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำหรับรักษามะเร็งเต้านม และเคยมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ที่เคยเข้ารับการฉายรังสี เสี่ยงป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยได้รับรังสีในปริมาณมาก
- ปัญหาสุขภาพบางอย่าง ปัญหาสุขภาพบางอย่างส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกได้ ซึ่งประกอบด้วยปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ดังนี้
- ภาวะอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วน มีแนวโน้มเกิดมะเร็งมดลูก เนื่องจากเนื้อเยื่อไขมันจะผลิตเอสโตรเจนออกมา ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนตัวนี้มากขึ้นอันเป็นปัจจัยของโรคดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ที่ประสบภาวะอ้วนเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกได้มากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติมากถึง 3 เท่า และเสี่ยงเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้มากถึง 6 เท่า
- เบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยโรคนี้ถึงส 2 เท่า เนื่องจากเบาหวานเพิ่มระดับอินซูลิน ซึ่งส่งผลให้เอสโตรเจนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการป่วยเป็นมะเร็งมดลูกมากขึ้นกว่าเดิม
- ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovarian Syndrome: PCOS) ผู้ป่วยโรคนี้จะมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มา น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีสิว และมีขนขึ้นตามร่างกายมากเกินไป อีกทั้งยังเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูก เนื่องจากโรคนี้กระตุ้นให้ระดับเอสโตรเจนสูงขึ้น
- เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial Hyperplasia) ผู้ป่วยโรคนี้จะมีเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาขึ้น ส่งผลให้เสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกได้
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Hereditary Non-Polyposis Colorectal Cancer: HNPCC) คือโรคความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปแล้ว ยีนจะทำหน้าที่ซ่อมแซมยีนผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่เซลล์แบ่งตัว ผู้ที่ประสบภาวะมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมจะไม่มีการซ่อมแซมยีนผิดปกติ ทำให้เกิดการสร้างเซลล์ลักษณะดังกล่าวขึ้นมา และกลายเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยโรคนี้เสี่ยงเกิดมะเร็งมดลูกได้สูงมาก โดยมีแนวโน้มจะป่วยเป็นมะเร็งมดลูกก่อนอายุ 45 ปี
- ปัญหารอบเดือน ผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี หรือรอบเดือนหมดหลังอายุ 55 ปี จะมีระดับเอสโตรเจนที่นานกว่าปกติ ซึ่งนับเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งมดลูก
- ปัญหาการมีบุตร ผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์เสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกมากถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่เคยมีบุตรมาแล้วอย่างน้อย 1 คน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลงเมื่อตั้งครรภ์ หากเคยตั้งครรภ์บ่อย จะลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูก
- ประวัติบุคคลในครอบครัว ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือด เคยป่วยเป็นมะเร็งมดลูก อาจเสี่ยงป่วยเป็นมะเร็งมดลูกได้
การวินิจฉัยมะเร็งมดลูก
การวินิจฉัยมะเร็งมดลูกมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีขั้นตอนการตรวจที่ละเอียด เบื้องต้นแพทย์จะซักถามอาการและตรวจร่างกาย ทั้งนี้ แพทย์อาจตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยมะเร็งมดลูกหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ การตรวจสำหรับวินิจฉัยมะเร็งมดลูกมี ดังนี้
- การตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound) วิธีนี้คือการตรวจอัลตราซาวด์ชนิดหนึ่ง ใช้ตรวจความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งอาจทำให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ โดยแพทย์จะนำเครื่องมือตรวจขนาดเล็กสอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อเก็บภาพภายในมดลูก เครื่องมือตรวจอาจทำให้รู้สึกไม่สบาย แต่ไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ
- การตรวจชิ้นเนื้อ ผู้ที่ได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ช่องคลอดและพบความเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนาขึ้น จำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อเพื่อยืนยันผลวินิจฉัย โดยแพทย์จะนำตัวอย่างเซลล์จากเยื่อบุโพรงมดลูกไปตรวจในห้องทดลอง วิธีนำตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจมีหลายวิธี ดังนี้
- ดูดชิ้นเนื้อ (Aspiration Biopsy) แพทย์จะสอดท่อที่มีลักษณะยืดหยุ่นได้และขนาดเล็กผ่านช่องคลอดเข้าไปในมดลูก และนำตัวอย่างเซลล์จำนวนหนึ่งออกไปตรวจ
- ส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก (Hysteroscopy) วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์มองเห็นภายในมดลูกผู้ป่วย โดยจะสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไป เพื่อส่องดูเยื่อบุโพรงมดลูกพร้อมนำตัวอย่างชิ้นเนื้อออกมาตรวจ
- ขูดมดลูก (Dilation and Curettage: D&C) แพทย์จะขูดมดลูกเพื่อนำตัวอย่างชิ้นเนื้อมาตรวจในกรณีที่ตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ได้มาเล็กเกินไปจนไม่สามารถวินิจฉัยผลออกมาได้อย่างเที่ยงตรง แพทย์จะขูดมดลูกภายในห้องผ่าตัด โดยนำเครื่องมือสำหรับขูดมดลูกซึ่งมีลักษณะคล้ายช้อนมีด้าม สอดผ่านปากมดลูกเข้าไปข้างใน แล้วขูดเซลล์ เนื้อเยื่อ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญขึ้นมา เพื่อนำไปตรวจ
- การตรวจเลือด วิธีนี้ช่วยวินิจฉัยมะเร็งมดลูกได้ทางอ้อม โดยการตรวจเลือดสำหรับวินิจฉัยมะเร็งมดลูกจะตรวจหาสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) วิธีนี้จะช่วยตรวจจำนวนและความสมบูรณ์ของเซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด โดยแพทย์จะใช้ตรวจภาวะโลหิตจางอันเกิดจากเลือดออกจากช่องคลอด อีกทั้งช่วยให้แพทย์ใช้เป็นแนวเทียบสำหรับตรวจเลือดระหว่างและหลังเข้ารับการรักษาครั้งต่อไป
- การตรวจสารเคมีในเลือด (Blood Chemistry Tests) วิธีนี้ใช้ตรวจสารเคมีบางอย่างในเลือด ซึ่งช่วยให้เห็นระดับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย การตรวจสารเคมีในเลือดสำหรับโรคมะเร็งมดลูกจะช่วยวินิจฉัยระดับอาการป่วยของโรค ระดับสารเคมีที่บ่งชี้การทำงานของไตและตับ ซึ่งหากระดับสารเคมีในอวัยวะทั้งสองมีค่าสูงกว่าปกติ หมายความว่าเชื้อมะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะดังกล่าว
- การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง การตรวจสารบ่งชี้มะเร็งมักใช้ตรวจปฏิกิริยาร่างกายของผู้ป่วยที่มีต่อการรักษา รวมทั้งอาจนำมาใช้ตรวจสำหรับวินิจฉัยมะเร็งมดลูกด้วย อย่างไรก็ดี การตรวจนี้ไม่น่าเชื่อถือเท่าไรนัก เนื่องจากผู้ที่ตรวจพบว่ามีสารบ่งชี้มะเร็งในร่างกายอาจไม่ได้ป่วยเป็นมะเร็งมดลูกเสมอไป
- การตรวจอื่น ๆ การสวนแป้งแบเรียม เอกซเรย์ทรวงอก CT scan และ MRI จะใช้ตรวจดูการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ โดยการสวนแป้งแบเรียมใช้ตรวจการลุกลามที่ลำไส้ตรง เอกซเรย์ทรวงอกใช้ตรวจการลุกลามที่ปอด ส่วน CT scan และ MRI จะช่วยตรวจการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งการเกิดเชื้อมะเร็งซ้ำหลังรับการรักษา
การรักษามะเร็งมดลูก
วิธีรักษามะเร็งมดลูกมีหลายวิธี แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย โดยพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ ชนิดของเนื้องอก ระดับอาการ อายุ สุขภาพโดยรวม ความต้องการของผู้ป่วย และระยะของมะเร็งที่เป็นอยู่ ซึ่งมะเร็งแต่ละขั้นมีความแตกต่างกัน ดังนี้
- ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่ภายในมดลูก
- ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลามไปที่ปากมดลูก
- ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งลุกลามไปนอกมดลูกและเข้าไปบริเวณเนื้อเยื่อใกล้เคียง ซึ่งอยู่ภายในอุ้งเชิงกรานหรือต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งลุกลามไปเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณท้องหรืออวัยวะอื่น เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ตับ หรือปอด
วิธีรักษามะเร็งมดลูกวิธีต่าง ๆ ประกอบด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี การทำเคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด และการศึกษาทางการแพทย์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- การผ่าตัด วิธีนี้จะช่วยรักษาและวินิจฉัยระยะมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ การตรวจระยะมะเร็งมดลูกวินิจฉัยได้จากตัวอย่างเนื้อเยื่อภายในร่างกายผู้ป่วย โดยแพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกและตรวจภายใน จากนั้นจึงผ่าท้องสำหรับตรวจอวัยวะภายในว่าเกิดการลุกลามของเซลล์มะเร็งบริเวณใด แพทย์อาจนำตัวอย่างเนื้อเยื่อจากท้องและต่อมน้ำเหลืองออกมาระหว่างผ่าตัด รวมทั้งใช้น้ำเกลือล้างท้องและเก็บตัวอย่างเซลล์สำหรับนำไปตรวจในห้องทดลอง แพทย์จะนำตัวอย่างเนื้อเยื่อและต่อมน้ำเหลืองที่ได้ไปส่องกล้องจุลทรรศน์ เพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง ส่วนการผ่าตัดสำหรับรักษามะเร็งมดลูกจะแตกต่างกันไปตามระยะมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็น ดังนี้
- ผู้ป่วยระยะที่ 1 แพทย์จะผ่าตัดมดลูก โดยผ่าท้องให้มีขนาดใหญ่ เพื่อนำมดลูกออกไป นอกจากนี้ ยังมีวิธีผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Hysterectomy) โดยแพทย์จะผ่าเปิดเป็นรอยขนาดเล็ก พอให้สอดกล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดอื่น ๆ เข้าไปข้างในได้ การผ่าตัดส่องกล้องจะทำให้แพทย์มองเห็นอวัยวะที่อยู่ข้างใน และสามารถผ่าตัดนำมดลูกออกมาผ่านแผลที่มีรอยผ่าขนาดเล็ก ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักต่อที่บ้านได้ภายในระยะเวลาไม่นาน และใช้เวลาพักฟื้นร่างกายอีกหลายสัปดาห์ หลังเข้ารับการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยควรเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- ผู้ป่วยระยะที่ 2 และ 3 ผู้ป่วยมะเร็งมดลูกทั้ง 2 ระยะนี้ จะมีเซลล์มะเร็งลุกลามบริเวณปากมดลูกหรือต่อมน้ำเหลืองภายในอุ้งเชิงกรานซึ่งจะได้รับการผ่าตัดมดลูก ตั้งแต่ปากมดลูกและต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการฉายรังสีและทำเคมีบำบัดหลังผ่าตัด เพื่อลดโอกาสเสี่ยงกลับมาเกิดเซลล์มะเร็งอีกครั้ง
- ผู้ป่วยระยะที่ 4 ผู้ป่วยมะเร็งมดลูกระยะนี้จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดมะเร็งให้เหลือน้อยที่สุด (Debulking Surgery) โดยการผ่าตัดดังกล่าวไม่ได้รักษาโรคมะเร็งมดลูก แต่ช่วยบรรเทาอาการป่วยให้ทุเลาลง
- การฉายรังสี แพทย์จะรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้ในกรณีที่พิจารณาว่าผู้ป่วยเสี่ยงเกิดมะเร็งที่อุ้งเชิงกรานซ้ำ ทั้งนี้ การฉายรังสียังช่วยลดการลุกลามของเซลล์มะเร็งในกรณีที่การผ่าตัดไม่สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ผิวหนังบริเวณที่ถูกฉายรังสีมีรอยแดงและแสบ ขนหลุดร่วง หรือเกิดอาการไม่สบายท้องและท้องร่วงในกรณีที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน การฉายรังสีสำหรับรักษามะเร็งมดลูกแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ รังสีรักษาแบบภายใน และการฉายรังสีจากภายนอก ดังนี้
- รังสีรักษาแบบภายใน (Internal Radiotherapy) แพทย์จะสอดท่อพลาสติกเข้าไปภายในมดลูก เพื่อฉายรังสีผ่านท่อดังกล่าว โดยจะมีรังสีระดับต่ำ กลาง และสูง หากได้รับการฉายรังสีระดับต่ำ รังสีจะผ่านเข้าไปอย่างช้า ๆ ทำให้ต้องสอดอุปกรณ์สำหรับฉายรังสีไว้ภายในมดลูกนานขึ้น
- การฉายรังสีจากภายนอก (External Radiotherapy) ผู้ป่วยจะได้รับรังสีจากเครื่องฉายรังสีไปยังบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งใช้เวลาประมาณไม่ถึงชั่วโมง ทั้งนี้ การฉายรังสีให้ครบกำหนดตามการรักษาจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะและตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง
- การทำเคมีบำบัด แพทย์จะทำเคมีบำบัดหรือคีโมให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งมดลูกระยะ 3 และระยะ 4 หลังจากผ่าตัดแล้ว เพื่อป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็งขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ เคมีบำบัดยังชะลอการลุกลามของเซลล์มะเร็งและบรรเทาอาการของโรคให้แก่ผู้ป่วยระยะที่ 4 แพทย์จะฉีดตัวยาเข้าทางเส้นเลือด และเว้นช่วงให้ร่างกายผู้ป่วยพักฟื้น การทำคีโมอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง หรือเมื่อยล้า ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจเสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เนื่องจากเคมีบำบัดลดประสิทธิภาพในการต้านเชื้อของร่างกาย
- ฮอร์โมนบำบัด มักใช้ในผู้ป่วยมะเร็งมดลูกระยะสุดท้าย หรือผู้ที่เกิดเซลล์มะเร็งขึ้นมาใหม่ จะได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด โดยแพทย์จะสั่งจ่ายฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ในรูปยาเม็ด ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งมดลูกบางชนิดอาจได้รับผลกระทบหรือแพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจน แพทย์จึงต้องพิจารณาความเหมาะสมในการรักษามะเร็งมดลูกด้วยวิธีใช้ฮอร์โมนดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับฮอร์โมนบำบัดอาจได้รับผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้อ่อน ๆ เป็นตะคริวเล็กน้อย หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้น
การป้องกันมะเร็งมดลูก
โรคมะเร็งมดลูกยังไม่ปรากฏวิธีป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกอาจลดโอกาสเสี่ยงได้โดยปฏิบัติดังนี้
- ปรึกษาแพทย์หลังเข้าวัยทอง ผู้ที่เข้าวัยทอง ควรปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ต้องการใช้ฮอร์โมนบำบัดสำหรับควบคุมอาการของภาวะนี้ เนื่องจากการได้รับฮอร์โมนบำบัดชนิดที่มีเอสโตรเจนอย่างเดียวสำหรับผู้ที่ไม่ได้ผ่าตัดมดลูกออกไปนั้น อาจทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกได้สูง จึงควรรับฮอร์โมนทดแทนชนิดเอสโตรเจนผสมโปรเจสเตอโรน เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การทำฮอร์โมนบำบัดทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงประสบปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น มะเร็งเต้านม ผู้ที่ต้องการใช้ฮอร์โมนบำบัดจึงควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับจากการรักษา
- ใช้ยาคุมกำเนิด การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี อาจช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกได้นานหลายปีหลังหยุดใช้ยา อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลดีและผลเสียก่อน เนื่องจากอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา
- คุมน้ำหนักตัว ภาวะอ้วนนับเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งมดลูก การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงได้ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปควรลดน้ำหนัก โดยเคลื่อนไหวร่างกาย รวมทั้งควบคุมปริมาณแคลอรี่ของอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคในแต่ละวันอย่างเหมาะสม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูก โดยออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที ทั้งนี้ การออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งลดความเสี่ยงป่วยเป็นความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน
- เข้ารับการรักษาปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูก ผู้ที่ประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับเยื่อบุโพรงมดลูกควรเข้ารับการรักษา เนื่องจากปัญหาสุขภาพดังกล่าวสามารถลุกลามกลายเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ ทั้งนี้ ผู้ที่มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติก็จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจและวินิจฉัยอาการ เนื่องจากอาการดังกล่าวเป็นอาการของภาวะก่อนเป็นมะเร็งและโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่พบได้มากที่สุด
- ปรึกษาแพทย์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Hereditary Nonpolyposis Colon Cancer: HNPCC / Lynch Syndrome) ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและเข้ารับการรักษาโรคดังกล่าว เนื่องจากโรคนี้ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกได้สูง ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดมดลูกออกไปเพื่อป้องกันการป่วยเป็นมะเร็งมดลูก
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งมดลูกควรเตรียมตัวรับมือกับอาการป่วยและความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นควรหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยสำหรับประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสม โดยปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับระยะมะเร็งที่ป่วย ทางเลือกในการรักษา และผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ พูดคุยปรึกษากับครอบครัว เพื่อนสนิท และกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาจนหายแล้ว และทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันตามปกติ
หลังเข้ารับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองและติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกจะใช้เวลาพักฟื้นร่างกายประมาณ 6-12 สัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงการยกของหรือทำงานบ้านหนัก ๆ ทั้งนี้ วิธีรักษามะเร็งมดลูกบางวิธี โดยเฉพาะการฉายรังสีบำบัด จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยล้า จึงจำเป็นต้องพักกิจกรรมที่เคยทำสักระยะหนึ่ง รวมทั้งเข้ารับการตรวจกับแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ