ความหมาย มะเร็งลำคอ (Neck cancer)
มะเร็งลำคอ หรือมะเร็งศีรษะและลำคอ (Head and neck cancer) คือมะเร็งที่เกิดบริเวณเซลล์ผิวหนังในลำคอ จมูก ปาก ผู้ที่เป็นมะเร็งลำคอระยะแรกอาจจะมีอาการเจ็บคออย่างหนัก กลืนแล้วเจ็บ กลืนลำบาก เสียงแหบ มีเสียงวิ้งในหู และมีก้อนในลำคอ ซึ่งหากสังเกตว่ามีอาการเหล่านี้เป็นระยะเวลานานควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์
มะเร็งที่เกิดบริเวณลำคอนั้นแบ่งได้หลายประเภทขึ้นอยู่กับจุดที่เกิดเซลล์มะเร็ง โดยลำคอในร่างกายของคนเราเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณหลังโพรงจมูกยาวลงมาถึงหลอดอาหาร ดังนั้นมะเร็งลำคอจึงหมายถึงมะเร็งที่เกิดบริเวณศีรษะและลำคอ เช่น มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก มะเร็งคอหอยส่วนล่าง และมะเร็งกล่องเสียง
มะเร็งลำคอและศีรษะเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อย มักพบในผู้ชายกับคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ในไทยมักเป็นผู้ที่สูบบุหรี่จัดหรือดื่มเหล้าบ่อย การป้องกันโรคนี้จึงเป็นการเลิกพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทั้งนี้ มะเร็งศีรษะและลำคอเป็นมะเร็งที่รักษาให้หายได้ หากรู้จักสังเกตอาการต่าง ๆ ที่อาจดูธรรมดาแต่แฝงอันตราย และเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์ให้ทันท่วงที
สาเหตุของมะเร็งลำคอ
มะเร็งศีรษะและลำคอส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์สะความัส (Squamous Cells) ที่อยู่บริเวณเยื่อบุผิวในทางเดินหายใจและทางเดินอาหารส่วนต้นกลายพันธุ์ และขยายตัวจนก่อให้เกิดเนื้องอกที่แพร่ไปยังส่วนอื่นของร่างกาย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงหลักที่อาจทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์และก่อโรคมะเร็งลำคอนั้น ได้แก่
- การสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งลำคอ โดยพบว่าผู้ป่วยประมาณ 70–80 % มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ การสูดควันบุหรี่มือสองก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งศีรษะและลำคอด้วยเช่นกัน
- การดื่มแอลกอฮอลล์ปริมาณมากเป็นประจำสามารถก่อให้เกิดมะเร็งลำคอได้ โดยยิ่งสูบบุหรี่ร่วมด้วยก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคมากขึ้น
- การเคี้ยวหมากร่วมกับใบยาสูบที่พบได้ในคนอายุมาก
- การสูดดมหรือสัมผัสสารอันตรายในที่ทำงาน เช่น ขี้เลื่อยจากไม้หรือนิกเกิล ใยสังเคราะห์ แร่ใยหิน
- การสัมผัสรังสีจากแสงแดด หรือการฉายแสงต่าง ๆ เช่น การฉายแสงรักษาสิว การฉายแสงกระตุ้นรากผม
- การติดเชื้อเอชพีวี (Human Papillomavirus หรือ HPV) ชนิดที่ 16 ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์ที่ทำให้เกิดหูดตามร่างกาย และเป็นสาเหตุของมะเร็งคอหอยหลังช่องปาก รวมถึงมะเร็งช่องปาก
- การติดเชื้อเอ็บสไตบาร์ (Epstein Barr Virus หรือ EBV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโมโนนิวคลิโอซิสและโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยอาการของการติดเชื้อเอบสไตน์บาร์คือมีไข้ อ่อนเพลีย คออักเสบ
- การเป็นมะเร็งเนื่องมาจากพันธุกรรม เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมหายากที่ทำให้ไขกระดูกผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงน้อยลงและเสี่ยงเป็นมะเร็งศีรษะและลำคอ นอกจากนี้การวิจัยยังพบว่าชาวเอเชียเป็นมะเร็งหลังโพรงจมูกมากกว่าชาติอื่น
อาการของมะเร็งลำคอ
มะเร็งศีรษะและลำคออาจมีอาการที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจุดที่เกิดเซลล์มะเร็ง โดยอาจเกิดได้ที่บริเวณปาก ช่องคอ กล่องเสียง ต่อมน้ำลาย โพรงจมูก และโพรงไซนัสหรือโพรงอากาศข้างจมูก ในระยะแรกอาจไม่มีอาการที่แสดงออกให้เห็นชัดเนื่องจากเซลล์มะเร็งยังไม่เติบโต กว่าการสังเกตอาการของลำคอจะชัดเจนขึ้นก็เมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะต่อมาแล้ว ซึ่งอาการของมะเร็งศีรษะและลำคอที่สังเกตได้มีดังนี้
- เจ็บคอไม่หาย ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในมะเร็งลำคอ
- เสียงเปลี่ยน โดยอาจเสียงแหบหรือเสียงเหมือนเป็นไข้ตลอดเวลา
- มีก้อนในลำคอหรือที่หลังคอ ก้อนบริเวณปากและกราม ซึ่งอาจเป็นอาการของมะเร็งไทรอยด์ และมะเร็งต่อมน้ำลาย
- กลืนลำบาก เจ็บเวลากลืนอาหาร หายใจหรือพูดลำบาก ปวดคอ ปวดหู ได้ยินเสียงวิ้งในหู ซึ่งเป็นอาการของมะเร็งที่เกิดบริเวณคอ เช่น มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก มะเร็งคอหอยส่วนล่าง และมะเร็งกล่องเสียง
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เป็นอาการที่เกิดในมะเร็งหลายชนิด แต่ในมะเร็งลำคออาจมีสาเหตุเนื่องมาจากมีปัญหาในการกลืน ทำให้ความอยากอาหารน้อยลงด้วย
- เหงือกและลิ้นมีรอยปื้นสีแดง หรือขาว มีแผลเรื้อรังในช่องปาก กรามบวม พูดไม่ชัดเพราะอาการปวด ซึ่งเป็นอาการของมะเร็งช่องปาก
- เลือดกำเดาไหล หายใจไม่ค่อยออกเพราะแน่นโพรงจมูก ตาบวม ซึ่งเป็นอาการของมะเร็งโพรงจมูก
- ปวดหัวบ่อย แม้ว่ากินยาแก้ปวดแล้ว แต่อาการยังไม่หายไป
อาการของมะเร็งลำคอที่ควรไปพบแพทย์
อาการของมะเร็งศีรษะและลำคอส่วนใหญ่มักดูเป็นอาการที่ไม่รุนแรง และอาจสับสนกับอาการของโรคอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงน้อยกว่า ดังนั้น ควรสังเกตจากระยะเวลาที่มีอาการ เช่น ถ้ามีก้อนเนื้อในลำคอ เจ็บคอ กลืนยาก เสียงแหบ หรืออาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นอาการของมะเร็งลำคอเป็นระยะเวลาติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม
การวินิจฉัยมะเร็งลำคอ
การตรวจมะเร็งศีรษะและลำคอ แพทย์อาจเริ่มจากการดูภายในโพรงจมูกหรือช่องปาก หรือการจับที่ลำคอเพื่อตรวจดูว่ามีก้อนเนื้ออยู่หรือไม่ รวมถึงการส่องกล้องเพื่อดูในจุดที่มีอาการ หรือใช้การแสกนภายในด้วยเครื่องแสกนต่าง ๆ เช่น การใช้เครื่องเอ็กซเรย์ การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการใช้เครื่อง PET Scan เพื่อดูอาการและเตรียมแผนการรักษา
นอกจากนี้ ยังอาจใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อเพื่อนำตัวอย่างชิ้นเนื้อที่มีเซลล์ไปตรวจสอบด้วยกล้องไมโครสโคป (Microscope) โดยการใช้ตัวอย่างชิ้นเนื้ออาจตรวจดูทั้งการมีอยู่ของเซลล์มะเร็งและไวรัสเอชพีวี
การรักษามะเร็งลำคอ
การวางแผนการรักษามะเร็งลำคอนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง การกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงระยะของมะเร็ง ซึ่งวิธีรักษามะเร็งศีรษะและลำคอมีดังนี้
1. การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีที่มักใช้เพื่อรักษามะเร็งในระยะแรก และนิยมใช้กับการรักษามะเร็งช่องปากเนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการฉายรังสี โดยการผ่าตัดจะมีทั้งแบบเปิด และแบบส่องกล้องซึ่งมักใช้กับมะเร็งกล่องเสียง การผ่าตัดจะผ่านำก้อนเนื้อ เนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ และต่อมน้ำเหลืองที่อาจมีมะเร็งอยู่ออกเพื่อป้องกันไม่ให้มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในร่างกาย
การผ่าตัดอาจส่งผลให้รูปลักษณ์เปลี่ยนเนื่องจากการนำชิ้นส่วนบางอย่างออกไปจากร่างกาย แต่ก็สามารถรักษาได้ด้วยศัลยกรรมตกแต่ง ส่วนผลข้างเคียงเรื่องความลำบากในการกิน การพูดและการหายใจ เนื่องจากการผ่าตัดมะเร็งลำคอ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูจะคอยช่วยเหลือฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
2. การฉายรังสี
วิธีนี้เป็นการฉายรังสีที่มีพลังงานสูงไปยังจุดที่มีมะเร็งอยู่เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยอาจใช้หลังจากการผ่าตัดเพื่อทำลายมะเร็งที่เหลือ หรืออาจใช้เป็นขั้นตอนแรกหากมะเร็งแพร่กระจายมากขึ้นแล้ว การฉายรังสีมักใช้เพื่อรักษามะเร็งคอหอยหลังช่องปาก กับมะเร็งส่วนที่อยู่เหนือสายเส้นเสียง (Supraglottis) เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต่อมน้ำเหลืองมาก ซึ่งมะเร็งอาจแพร่จากทางเดินน้ำเหลืองเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ง่าย
3. การทำเคมีบำบัด
การทำเคมีบำบัดหรือคีโม (Chemotherapy) คือการใช้ยาเพื่อรักษามะเร็งที่เริ่มแพร่กระจายแล้ว โดยอาจใช้ร่วมกับการผ่าตัดหรือการฉายรังสี ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น รวมถึงช่วยในการควบคุมการแพร่กระจายของมะเร็ง ตัวยาที่นำมาใช้อาจมีตัวเดียวหรือใช้ร่วมกันหลายตัวเพื่อทำลายเซลล์หรือหยุดการเติบโตของเซลล์มะเร็งและก้อนเนื้อ
ทั้งนี้ วิธีการรักษาต่าง ๆ อาจมีการใช้ร่วมกันได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยของมะเร็งในตัวผู้ป่วย ซึ่งควรปรึกษาร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ระหว่างการรักษาผู้ป่วยสามารถรับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการรักษาร่วมกับทีมแพทย์และครอบครัวได้ด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งลำคอ
โรคมะเร็งศีรษะและลำคอที่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจส่งผลให้เซลล์มะเร็งกระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและเข้าสู่บริเวณอื่นของร่างกายได้ โดยมักพบว่าเซลล์มะเร็งจากลำคอที่แพร่เข้าสู่ร่างกายนั้นทำให้เกิดมะเร็งปอดบ่อยที่สุด
การป้องกันโรคมะเร็งลำคอ
การป้องกันโรคมะเร็งศีรษะและลำคอสามารถทำได้ด้วยการเลิกบุหรี่และลดการดื่มเหล้า รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอื่น ๆ ได้