ความหมาย มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer)
มะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณหลอดอาหารซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ลำเลียงอาหารและของเหลวตั้งแต่คอลงไปยังกระเพาะ เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จะส่งผลให้หลอดอาหารแคบลง จนทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารลำบาก อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ
มะเร็งหลอดอาหาร อาจแบ่งตามลักษณะของเซลล์มะเร็งได้ดังนี้
- มะเร็งหลอดอาหารชนิดสะความัส (Squamous Cell Carcinoma) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด โดยมะเร็งเกิดขึ้นที่ชั้นผิวของหลอดอาหาร มักเกิดขึ้นบริเวณหลอดอาหารส่วนกลางหรือส่วนบน
- มะเร็งหลอดอาหารชนิดอะดีโนคาร์สิโนมา (Adenocarcinoma) คือชนิดที่เริ่มเป็นมะเร็งในเซลล์ของต่อมผลิตเมือก มักเกิดขึ้นบริเวณหลอดอาหารส่วนล่าง
- มะเร็งหลอดอาหารชนิดอื่น ๆ เป็นชนิดที่พบได้ยาก รวมถึงชนิดเซลล์ตัวเล็ก ชนิดซาร์โคมา หรือชนิดเมลาโนมา
อาการของมะเร็งหลอดอาหาร
ผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารมักไม่แสดงอาการในระยะแรก ๆ ส่วนมากจะทราบว่าเป็นมะเร็งหลอดอาหารเมื่อเริ่มป่วยหนักขึ้น ซึ่งอาจเป็นระยะที่ยากต่อการรักษา โดยอาการสำคัญของมะเร็งหลอดอาหารที่พบได้ทั่วไป คือ กลืนลำบาก ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนมีอาหารติดอยู่ที่คอ หรือบริเวณหน้าอก บางรายอาจสำลักอาหารด้วย ในระยะแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดหรือเลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ อาจช่วยให้กลืนได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น จะส่งผลให้อาการรุนแรงมากขึ้น จนแม้แต่น้ำหรือของเหลวก็อาจทำให้กลืนลำบากได้ ในช่วงนี้ผู้ป่วยอาจมีน้ำมูกเหนียวหรือมีน้ำลายมาก เพราะเป็นกระบวนการที่ร่างกายผลิตน้ำลายออกมาในปริมาณมาก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการลำเลียงอาหาร
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- เจ็บหน้าอก รวมถึงรู้สึกอึดอัด ไม่สบาย รู้สึกได้ถึงแรงกด หรือแสบร้อนบริเวณหน้าอก
- น้ำหนักลดลง เป็นผลมาจากปัญหาการกลืนอาหาร และอาจทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร
- เสียงแหบ
- ไอเรื้อรัง
- อาเจียน
- สะอึก
- อุจจาระเป็นสีดำ เนื่องจากมีเลือดออกที่หลอดอาหารแล้วไหลลงไปตามทางเดินอาหาร หากเลือดออกมากเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย และนำไปสู่ภาวะโลหิตจางได้
อาการดังกล่าวอาจไม่ใช่สัญญาณของมะเร็งหลอดอาหารเสมอไป แต่หากรู้สึกกังวลใจหรือพบว่ามีอาการข้างต้น โดยเฉพาะกลืนลำบากบ่อยครั้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
สาเหตุของมะเร็งหลอดอาหาร
สาเหตุของมะเร็งหลอดอาหารยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด แต่อาจเป็นความผิดปกติหรือการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรม (DNA) บริเวณหลอดอาหาร ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย จนทำให้ดีเอ็นเอได้รับความเสียหาย เจริญเติบโตผิดปกติ และกลายเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในที่สุด
บุคคลที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหาร ได้แก่
- ผู้ชาย เพศชายมีแนวโน้มเป็นมะเร็งหลอดอาหารมากกว่าเพศหญิง
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรืออยู่ในภาวะอ้วน
- ผู้ที่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูป
- ผู้ที่ชอบดื่มน้ำร้อนจัด ความร้อนอาจทำลายเยื่อบุเซลล์บริเวณหลอดอาหารได้
- ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนที่มีอาการกำเริบบ่อยครั้ง อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งหลอดอาหารได้มากกว่า
- ผู้ป่วยภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง (Barrett’s Esophagus) ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ประมาน 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนชนิดรุนแรง
- ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างไม่คลายตัว (Achalasia)
- ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี เช่น คนงานในอุตสาหกรรมซักแห้ง เป็นต้น
- ผู้ที่เคยได้รับการรักษาด้วยรังสีบำบัดบริเวณช่วงอก หรือช่องท้องส่วนบนขึ้นไป
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งลำคอ เป็นต้น ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้มากกว่า
การวินิจฉัยมะเร็งหลอดอาหาร
แพทย์อาจสอบถามอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น หากสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งหลอดอาหาร แพทย์อาจตรวจร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณคอและหน้าอก และอาจวินิจฉัยด้วยการทดสอบอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- การส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร (Endoscopy) โดยการส่องกล้องเข้าไปทางปาก เพื่อให้แพทย์เห็นภาพบริเวณหลอดอาหาร หากพบความผิดปกติ แพทย์จะตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อ (Biopsy) เพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการต่อไป
- การกลืนแป้งแบเรียม ผู้ป่วยต้องกลืนสารแบเรียมเข้าไป จากนั้นแพทย์จะตรวจหาเนื้อร้ายและความผิดปกติอื่น ๆ จากการฉายภาพรังสี
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อวินิจฉัย เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจและประเมินระยะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งหลอดอาหาร แพทย์จะประเมินระยะการแพร่กระจายของมะเร็งเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการวางแผนรักษาต่อไป ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะ 0 พบความผิดปกติของเซลล์บริเวณเยื่อบุผิวหลอดอาหาร ซึ่งอาจยังไม่ใช่เซลล์มะเร็ง
- ระยะ 1 มะเร็งอยู่ที่ชั้นเยื่อบุหลอดอาหาร ยังไม่ลุกลามไปที่อื่น หรืออาจแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงเป็นจำนวนไม่มาก
- ระยะ 2 มะเร็งลุกลามลึกลงไปที่ชั้นกล้ามเนื้อผนังหลอดอาหาร และอาจแพร่กระจายลุกลามเพิ่มไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงในจำนวนมากขึ้น
- ระยะ 3 มะเร็งลุกลามลึกลงไปยังกล้ามเนื้อชั้นในและผนังเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณหลอดอาหาร อาจแพร่ไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง หรือกระจายเพิ่มมากขึ้นไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้ ๆ หลอดอาหาร
- ระยะ 4 มะเร็งลุกลามและกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
การรักษามะเร็งหลอดอาหาร
วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับระยะการแพร่กระจาย ชนิดของเซลล์มะเร็ง รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ของผู้ป่วย โดยมีแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้
- การผ่าตัด ทำได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดนำเนื้องอกที่มีขนาดเล็กมากออกไป การผ่าตัดหลอดอาหารออกบางส่วน (Esophagectomy) และการผ่าตัดต่อหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร (Esophagogastrectomy) แต่วิธีการรักษานี้อาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น การติดเชื้อ ภาวะเลือดออก หรือเลือดไหลจากจุดที่ผ่าตัดเข้าสู่กระเพาะอาหาร เป็นต้น
- การทำเคมีบำบัด เป็นการรักษาโดยใช้ยาเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง อาจใช้ก่อนหรือหลังการผ่าตัด สามารถใช้รักษาร่วมกับการฉายแสง ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน แพทย์อาจรักษาด้วยเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยบรรเทาอาการบางอย่างจากโรคมะเร็ง หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะลุกลาม และไม่อาจรักษาได้ด้วยการผ่าตัด
- การฉายแสง เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง อีกทั้งยังอาจใช้บรรเทาภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารที่ลุกลาม เช่น ใช้รักษาเมื่อก้อนมะเร็งโตมากจนอาหารไม่สามารถผ่านลงไปยังกระเพาะอาหารได้ การฉายแสงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ผิวหนังสีเข้มขึ้นคล้ายผิวไหม้ อาจรู้สึกปวดขณะกลืนอาหาร กลืนอาหารลำบาก และอาจทำให้อวัยวะใกล้เคียงเกิดความเสียหาย
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งหลอดอาหาร
มะเร็งหลอดอาหารอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น
- หลอดอาหารอุดกั้น เนื่องจากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นจนไม่สามารถกลืนน้ำหรืออาหารลงไปได้ ทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดลง และอาจเจ็บปวดบริเวณคอหรือหน้าอก
- เกิดรูทะลุระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร ทำให้ผู้ป่วยสำลักหรือไอในขณะกลืนอาหาร
- ภาวะโลหิตจาง หากมะเร็งหลอดอาหารส่งผลให้มีเลือดออกมาก ผู้ป่วยอาจเผชิญภาวะโลหิตจางจนทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า และผิวซีด
- โรคปอดบวม ก้อนมะเร็งที่ปิดกั้นหลอดอาหาร อาจทำให้น้ำหรืออาหารที่ผู้ป่วยรับประทานไหลลงไปในหลอดลมและเข้าสู่ปอด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดบวม
- เซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยอาจเริ่มแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะใกล้เคียงอย่างปอดและตับได้
การป้องกันมะเร็งหลอดอาหาร
ในปัจจุบัน สาเหตุของมะเร็งหลอดอาหารยังไม่ปรากฎแน่ชัด จึงยังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ แต่ทำได้ด้วยการลดความเสี่ยงตามตัวอย่างแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
- ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลอดอาหารและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมาย หากทั้งสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งหลอดอาหารมากขึ้น จึงไม่ควรสูบบุหรี่ หรือเลิกสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพที่ดี
- งดหรือควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ หากเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มในปริมาณที่พอดี การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้มากขึ้น
- ควบคุมน้ำหนัก และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ น้ำหนักตัวเกินหรือภาวะอ้วนอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคนี้ หากสามารถควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และรับประทานจำพวกผักผลไม้ อาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งหลอดอาหารได้
- รักษาโรคกรดไหลย้อน หรือภาวะหลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งหลอดอาหารเพิ่มขึ้น จึงควรรักษาและควบคุมอาการป่วยให้ดี ซึ่งทำได้ด้วยการรับประทานยา หรือเข้ารับการผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์