ความหมาย มะเร็งหัวใจ (Heart Cancer)
มะเร็งหัวใจ (Heart Cancer) เป็นโรคมะเร็งบริเวณหัวใจที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเซลล์บริเวณหัวใจแบ่งตัวผิดปกติ หรืออาจเกิดจากมะเร็งของอวัยวะส่วนอื่นที่ลุกลามมายังหัวใจ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งหัวใจเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายอื่น ๆ ตามมา
มะเร็งหัวใจเป็นโรคที่พบได้น้อย ซึ่งในบางกรณีก้อนเนื้องอกบริเวณหัวใจที่พบอาจเป็นก้อนเนื้อธรรมดาและไม่ใช่มะเร็ง มะเร็งหัวใจสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ซึ่งอาการอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการของตนเอง หากพบอาการมะเร็งหัวใจใด ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม
สาเหตุของมะเร็งหัวใจ
สาเหตุของการเกิดมะเร็งนั้นยังไม่ชัดเจน แต่อาจมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่เพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็งหัวใจได้ เช่น
- ผู้ที่อายุ 30–50 ปี โดยเฉพาะผู้ชาย
- สมาชิกในครอบครัวเคยมีประวัติการป่วยเป็นมะเร็งหัวใจ
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่มีโรคเอดส์
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
อาการของมะเร็งหัวใจ
หากก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก มะเร็งโรคหัวใจอาจยังไม่แสดงอาการให้เห็นชัด แต่เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจสังเกตเห็นอาการของมะเร็งหัวใจ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามขนาดและบริเวณที่เกิดมะเร็ง เช่น
- หายใจถี่
- อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้าง่าย
- หัวใจเต้นเร็ว หรืออาจเต้นผิดจังหวะไปจากปกติ
- เจ็บหน้าอก
- เส้นเลือดบริเวณคอบวม
- ใบหน้าบวม
- ขาบวม
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบ
- มีไข้ต่ำ หนาวสั่น
อาการมะเร็งหัวใจที่ควรไปพบแพทย์
ควรไปพบแพทย์ หากสังเกตเห็นอาการมะเร็งหัวใจต่าง ๆ หรือสัญญาณของมะเร็งหัวใจที่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น เช่น
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เจ็บหน้าอก หรือหายใจถี่
- ไอเป็นเลือด
- ปวดหลังเรื้อรัง
- เวียนศีรษะหรือหมดสติ
- สับสน หรือมีปัญหาด้านความทรงจำ
การวินิจฉัยมะเร็งหัวใจ
มะเร็งหัวใจอาจใช้วิธีการวินิจฉัยแบบเดียวกับเนื้องอกหัวใจ ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) การทำซีที สแกน (CT scan) เพื่อตรวจหาขนาดและตำแหน่งของเนื้องอกหรือมะเร็งหัวใจ
ในกรณีที่การวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ ข้างต้นยังไม่ชัดเจน แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อเพื่อไปตรวจหาชนิดของมะเร็งร่วมด้วย
การรักษามะเร็งหัวใจ
การรักษามะเร็งหัวใจจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยส่วนใหญ่จะใช้การผ่าตัดเพื่อนำก้อนมะเร็งออก แต่ถ้าหากมะเร็งหัวใจมีขนาดใหญ่หรืออยู่บริเวณหัวใจฝั่งซ้าย แพทย์อาจใช้วิธีรักษาอื่น ๆ แทน เช่น การทำเคมีบำบัด หรือการฉายแสง ซึ่งอาจช่วยให้มะเร็งหัวใจมีขนาดเล็กลงได้
อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจใช้ทั้งการทำเคมีบำบัดหรือการฉายแสงร่วมกับการผ่าตัด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และสุขภาพของผู้ที่เป็นมะเร็ง
ภาวะแทรกซ้อนมะเร็งหัวใจ
มะเร็งหัวใจอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Heart attack) โรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure) นอกจากนี้ ชิ้นส่วนของมะเร็งหัวใจอาจเข้าไปอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary embolism) ตามมาได้
การป้องกันมะเร็งหัวใจ
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถป้องกันมะเร็งหัวใจได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดมะเร็งหัวใจอย่างแน่ชัด อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพของตนเองและสุขภาพของหัวใจให้แข็งแรงยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- เลิกสูบบุหรี่ ทั้งบุหรี่ปกติและบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสอง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น อาหารเค็มจัดหรือมีโซเดียมสูง อาหารรสหวานจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารแปรรูป อาหารที่มีไขมันสูง อาหารทอดหรืออาหารมัน
- ออกกำลังกายวันละ 30–60 นาที และรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตตนเองเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติใด ๆ โดยเฉพาะอาการมะเร็งหัวใจ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาเพื่อป้องกันการเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจตามมา