การป้องกัน มะเร็งเต้านม
โรคมะเร็งเต้านมไม่สามารถป้องกันได้เนื่องจากสาเหตุการเกิดยังไม่ชัดเจน วิธีการลดความเสี่ยงทั่วไปสามารถทำได้โดยหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเอง และหมั่นตรวจเต้านมของตนเองเป็นประจำ เพราะการตรวจพบโรคได้เร็วจะเพิ่มโอกาสในการรักษาหายมากขึ้น
ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละ 1 ครั้ง และผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 40–69 ปีและไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ควรตรวจด้วยตนเองเป็นประจำ และควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการตรวจเต้านมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองจำเป็นต้องได้รับการสอนวิธีการตรวจอย่างถูกวิธี และช่วงเวลาตรวจที่ดีที่สุดอยู่ในช่วงหลังหมดประจำเดือนประมาณ 2–3 วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึงจนเกินไปและสามารถตรวจได้ง่ายตามขั้นตอนต่อไปนี้
ตรวจขณะนอนราบ
ขั้นตอนแรก ให้นอนราบในท่าที่สบาย ไม่เกร็ง และสอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา ยกแขนขวาขึ้นเหนือศีรษะเพื่อช่วยให้เต้านมแผ่ราบและสามารถตรวจได้ง่าย จากนั้นใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมือซ้าย คลำให้ทั่วเต้านมจากด้านนอกมาด้านในและรักแร้ จากนั้นสลับทำกับเต้านมอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน ทั้งนี้ การตรวจด้วยตนเองควรทำด้วยความนิ่มนวล ไม่ควรบีบเค้นอย่างรุนแรง
ตรวจขณะยืนหน้ากระจก
วิธีนี้อาจเลือกตรวจเป็นช่วงเวลาในระหว่างอาบน้ำ เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่ผิวหนังเปียกและลื่น จึงช่วยให้ตรวจง่ายขึ้น เริ่มจากการยืนตัวตรงหน้ากระจก ปล่อยแขนแนบลำตัวตามสบาย จากนั้นยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะหรือผสานมือไว้หลังศีรษะ จากนั้นให้สังเกตลักษณะของเต้านม เนื่องจากการยกแขนขึ้นจะช่วยให้มองเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น
เมื่อทำตามขั้นตอนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ให้เปลี่ยนท่ามาเป็นการยืนเท้าสะเอว โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย และสังเกตดูลักษณะของเต้านมอีกครั้ง จากนั้นเริ่มคลำเต้านมเพื่อตรวจหาก้อนเนื้อ โดยยกแขนข้างเดียวกับเต้านมข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำเต้านม ก่อนจะสลับทำกับเต้านมอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน
โดยในกรณีของผู้ที่แพทย์พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงสูง อาจได้รับคำแนะนำให้ตรวจด้านอื่นเพิ่มตามปัจจัยด้านสุขภาพของบุคคลนั้น เช่น การตรวจเอ็มอาร์ไอในผู้ที่มีความผิดปกติของยีน BRCA
นอกจากนี้ อาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมให้น้อยลง เช่น จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอดีต่อวัน หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินมาตรฐาน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนผู้ที่มีบุตรและผู้ที่ต้องรับฮอร์โมนเพศหญิงเสริม อาจมีข้อควรระวังเพิ่มเติมดังนี้
- ผู้ที่มีบุตรควรให้นมบุตรด้วยตนเอง เนื่องจากระยะเวลาการให้นมบุตรที่นานขึ้นจะช่วยลดโอกาสการได้รับฮอร์โมน
- ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเพศหญิงเสริม เช่น ผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนหมด ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดตัดรังไข่ออกก่อนเวลาอันควร ควรระวังในเรื่องการได้รับฮอร์โมนติดต่อกันเป็นเวลานานหรือได้รับปริมาณฮอร์โมนที่สูงติดต่อกัน และควรปรึกษาแพทย์เป็นระยะ เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมจากการใช้ฮอร์โมน