การรักษา มะเร็งเต้านม
ทางเลือกในการรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี โดยในบางกรณีแพทย์อาจใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษา ซึ่งต้องดูปัจจัยที่มีผลต่อการการรักษาอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ผลการตรวจชิ้นเนื้อ ประเภทของมะเร็งเต้านม ความรุนแรงของโรค สุขภาพและความต้องการของผู้ป่วย หรือดุลยพินิจของทีมแพทย์ผู้ทำการรักษา
ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรักษา เพราะแต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสีย และผลข้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป เพื่อการวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์สูงสุด โดยวิธีการรักษาที่แพทย์อาจใช้ เช่น
การผ่าตัด
เป็นการรักษาที่แพทย์มักใช้กับผู้ป่วยมะเร็งในระยะเริ่มต้น โดยแบ่งการผ่าตัดได้ 2 วิธีหลัก
- การผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไว้ เป็นการผ่าตัดเฉพาะส่วนที่เป็นก้อนเนื้อร้ายออก ไม่ได้ตัดเต้านมออกทั้งหมด และอาจมีการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้รักแร้ออกหากเกิดการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้จำเป็นต้องมีการฉายแสงควบคู่ไปด้วย เพื่อป้องกันโอกาสการกลับมาเป็นใหม่ของโรค
- การผ่าตัดแบบตัดเต้านมออก เป็นการผ่าตัดเอาเต้านมข้างที่มีก้อนเนื้อร้ายออกทั้งเต้า และหากตรวจพบเซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ ก็จะผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกไปด้วยในคราวเดียวกัน
ทั้งนี้ การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดเป็นวิธีการรักษามะเร็งเต้านมในระยะแรกที่ใช้ได้ผลดี แต่ก็สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อของเต้านม แผลผ่าตัดติดเชื้อ การเสียเลือด ภาวะแขนบวม อาการชาบริเวณผ่าตัด การเคลื่อนไหวของแขนและไหล่ติดขัดหลังการผ่าตัด
การฉายรังสี
เป็นการฉายรังสีพลังงานสูงเข้าไปบริเวณที่มีก้อนมะเร็ง เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งหรือป้องกันเซลล์มะเร็งเติบโต ส่งผลให้เซลล์มะเร็งบริเวณที่ได้รับรังสีตาย แต่จะมีผลต่อเซลล์เนื้อเยื่อปกติที่อยู่บริเวณนั้นด้วย ทำให้เกิดผลข้างเคียงของการรักษาขึ้น ซึ่งการฉายรังสีมักจะได้ผลดีเมื่อใช้ควบคู่กับวิธีการรักษาอื่น ๆ เช่น การผ่าตัด การทำเคมีบำบัด ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับคนไข้ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณรังสีที่ใช้ ระยะเวลาการฉายรังสี บริเวณที่รักษา เทคนิคการฉายรังสี ซึ่งล้วนมักแตกต่างกันในแต่ละบุคคล แต่มักเกิดขึ้นบริเวณผิวหนังเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีสีคล้ำและแห้ง เกิดการระคายเคือง หรือเป็นแผลคล้ายรอยไหม้
หรือบางกรณี ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะบวมน้ำเหลือง (Lymphedema) แขนและขาบวม เนื่องจากมีการสะสมของน้ำเหลืองใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ขณะฉายรังสีผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายร่วมด้วย
การรักษาด้วยเคมีบำบัด
หรือที่รู้จักกันในชื่อของคีโม เป็นการใช้ยาในหลายรูปแบบ ทั้งยารับประทานและยาฉีด เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกหรือทำลายเซลล์มะเร็งในร่างกาย
ในปัจจุบันการรักษาด้วยเคมีบำบัดมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจนเกิดเป็นทางเลือกในการรักษาด้วยเคมีบำบัดแบบใหม่ที่เรียกว่า การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ซึ่งเป็นทางเลือกของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีการทำงานของโปรตีนบางชนิดผิดปกติ หรือที่เรียกว่าเฮอร์ทู (HER2) โดยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง
อย่างไรก็ตาม แพทย์จำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็งก่อน เพื่อให้ทราบผลการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยา เพื่อให้ตัวยาสามารถส่งผลต่อเซลล์มะเร็งโดยตรง
ทั้งนี้ แม้ว่ายาเคมีบำบัดจะมีฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ก็อาจส่งผลต่อเซลล์ปกติและอวัยวะอื่นทั่วไป โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็ว ทำให้ผู้ป่วยผมร่วง คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้มาก โดยแพทย์จะใช้ยาบรรเทาอาการเหล่านี้ระหว่างการทำเคมีบำบัด
นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงอื่น ๆ เนื่องจากยาเคมีบำบัดแต่ละชนิดมีผลข้างเคียงไม่เหมือนกัน เช่น เกิดการติดเชื้อด้วยภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำและภาวะเลือดออกมาก เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ต่ำลง มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เกิดรอยช้ำเป็นจ้ำตามร่างกาย
อีกทั้งในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อาจหมดประจำเดือนเร็วขึ้น เนื่องจากรังไข่ได้รับผลกระทบจากยาหรือประจำเดือนผิดปกติ ส่งผลให้มีบุตรยาก รวมถึงอาจมีอาการเครียด วิตกกังวล มีปัญหานอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ซึ่งอาการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณและชนิดของยาที่ใช้ ภาวะสุขภาพของผู้ป่วย อาการของโรค
การรักษาด้วยวิธีทางด้านฮอร์โมน
วิธีนี้จะทำได้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้อเยื่อมะเร็งเต้านมชนิดที่มีตัวรับสัญญาณกระตุ้นจากฮอร์โมน โดยต้องมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจก่อน เป็นการรักษาโดยการใช้ยาเข้าไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของมะเร็ง เช่น ฮอร์โมนเพศหญิงที่เป็นปัจจัยในการเกิดเซลล์มะเร็งเต้านม
การใช้ยาบางประเภทอาจไปลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิง ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดแห้งและเกิดการระคายเคือง และเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือดเป็นตัวช่วยปกป้องมวลกระดูก รวมทั้งยาฮอร์โมนบางชนิดอาจทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติจนเกิดเป็นลิ่มเลือด หรือเป็นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย
ภายหลังการรักษามะเร็งเต้านมด้วยฮอร์โมน ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ควรระมัดระวังในบางเรื่อง เช่น การรับประทานอาหาร การดูสุขภาพร่างกาย และหมั่นควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแพทย์จะมีการติดตามผลของผู้ป่วยเป็นระยะและมีการตรวจทางการแพทย์อื่น ๆ เพิ่มเติมในบางกรณี เพื่อป้องกันการกลับมาของโรค เช่น
- ตรวจเอกซเรย์เต้านมซ้ำหลังการรักษาทุก ๆ 6 เดือน–1 ปี
- ตรวจภายในทุกปี สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีทางด้านฮอร์โมนที่ใช้ยาในการยับยั้งการเติบโตของมะเร็ง เช่น ยาทาม็อกซิเฟน ยาโทเรมิฟีน เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของยาที่ก่อให้เกิดมะเร็งมดลูกได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน
- ตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก สำหรับผู้ป่วยที่รักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีทางด้านฮอร์โมนด้วยการใช้ยาในกลุ่มอะโรมาเตส อินฮิบิเตอร์ เช่น ยาแอนแอสโทรโซล ยาเลโทรโซล ยาเอ็กซ์เซอร์เมสเทน