ภาวะแทรกซ้อนของ มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายกรณี เช่น
ภาวะบวมน้ำเหลือง
สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยมะเร็งในระยะลุกลาม โดยเฉพาะหลังการผ่าตัดหรือการฉายรังสี เนื่องจากท่อน้ำเหลืองและเส้นเลือดเกิดความเสียหาย โดยอาจเกิดการอุดตันหรือถูกทำลาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการบวมของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายจากน้ำเหลืองที่เกิดการคั่งสะสมบริเวณนั้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะพบภาวะบวมน้ำเหลืองบริเวณแขนได้มากที่สุด โดยเฉพาะข้างเดียวกับที่มีก้อนมะเร็งภายในเต้านม ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการแขนบวม ปวด ขยับแขนและมือได้ไม่สะดวก
ภาวะเหนื่อยง่าย
เป็นอาการเรื้อรังที่เกิดได้ทุกวัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเมื่อยล้า เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และไม่สดชื่นอย่างไม่มีสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นผลจากเซลล์มะเร็งเองหรือผลข้างเคียงของการรักษาที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ รับประทานอาหารได้น้อยลง ไม่มีเรี่ยวแรง หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกาย นอนไม่หลับ ปัญหารบกวนทางด้านจิตใจและอารมณ์
ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบกระเทือนด้านจิตใจและอารมณ์ด้านต่าง ๆ ทั้งความวิตกกังวล ความกดดัน ความกลัว ความเครียด และอาจเกิดอาการซึมเศร้าหลังการเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งที่ผ่านมา ซึ่งอาการจะแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ผู้ป่วยในระยะลุกลามอาจเกิดการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังบริเวณอวัยวะอื่นในร่างกาย เช่น กระดูก ปอด ตับ
การกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งเต้านม
สัญญาณความผิดปกติของการกลับมาเป็นโรคมะเร็งเต้านมมักพบได้บ่อยในช่วง 5 ปีหลังการรักษา โดยอาการที่อาจสังเกตได้ก็จะมีความคล้ายคลึงกับอาการของมะเร็งเต้านมปกติ เช่น พบก้อนเนื้อบริเวณเต้านมหรือรักแร้ เต้านมมีขนาดและรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป หรือผิวของเต้านมหรือหัวนมมีลักษณะผิดปกติไป อย่างการเกิดรอยบุ๋ม ตกสะเก็ด บวม แดง มีเลือดหรือของเหลวใสไหลออกมาจากหัวนม
หากผู้ป่วยพบความผิดปกติในลักษณะที่กล่าวมาควรไปพบแพทย์เพื่อรับตรวจอย่างละเอียด เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมมีโอกาสกลับมาเกิดโรคซ้ำได้สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจเกิดขึ้นในที่เดิม เปลี่ยนตำแหน่งใหม่ หรือกระจายไปยังส่วนอื่น