ความหมาย มะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือโรคลูคีเมีย (Leukemia) เป็นมะเร็งเม็ดเลือดชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยโรคนี้จะมีจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นผิดปกติจนทำลายระบบการสร้างเม็ดเลือดปกติของไขกระดูก ทำให้เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดมีจำนวนลดน้อยลง และระบบเลือดทำงานผิดไปจากเดิม ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย การแพร่กระจายของมะเร็ง เป็นต้น
เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อสู้และป้องกันการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา รวมทั้งป้องกันการเกิดเซลล์ที่ผิดปกติและสารแปลกปลอมอื่น ๆ ส่วนใหญ่เม็ดเลือดขาวจะถูกผลิตขึ้นในไขกระดูก บางชนิดผลิตในต่อมน้ำเหลือง ต่อมไทมัส และม้ามได้เช่นกัน เมื่อเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวขึ้น เซลล์มะเร็งจึงแพร่ไปทั่วร่างกายผ่านระบบเลือดและระบบน้ำเหลือง
มะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรังก็ได้ ในชนิดเฉียบพลัน เซลล์มะเร็งจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วและมีอาการแสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจน ส่วนมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรังนั้น ในช่วงแรกมักมีอาการน้อยมากและดำเนินไปอย่างช้า ๆ นอกจากนี้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวยังแบ่งได้ตามชนิดเซลล์ที่ผิดปกติ โดยที่พบได้บ่อยมี 4 ชนิดหลัก ดังนี้
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดไมอิลอยด์ (Acute Myelogenous Leukemia: AML) เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดที่พบบ่อย โดยเฉพาะในผู้ใหญ่
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมโฟไซติก (Acute Lymphocytic Leukemia: ALL) พบได้มากในเด็กเล็ก แต่พบในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยเซลล์มะเร็งจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในเลือด และมีโอกาสหายขาดได้สูง หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอิลอยด์ (Chronic Myelogenous Leukemia: CML) มักเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ โดยอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมโฟไซติก (Chronic Lymphocytic Leukemia: CLL) ส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการ แต่มาพบว่าเป็นมะเร็งชนิดนี้โดยบังเอิญจากการตรวจเลือด
อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแต่ละรายมีอาการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดที่เป็น อย่างไรก็ตาม อาการโดยทั่วไปที่อาจสังเกตได้ มีดังนี้
- รู้สึกอ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่อง
- มีไข้ หนาวสั่น
- เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะในตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดหรือมีอาการกดเจ็บบริเวณกระดูก
- ต่อมน้ำเหลืองบวมโต โดยเฉพาะบริเวณคอและรักแร้ ซึ่งมักไม่มีอาการเจ็บร่วม
- ตับหรือม้ามโต
- มีเลือดออกหรือเกิดรอยฟกช้ำง่าย มีจ้ำเลือดตามผิวหนัง
- เกิดภาวะติดเชื้อบ่อย
นอกจากนี้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจส่งผลให้อวัยวะที่ได้รับผลกระทบหรือมีเซลล์มะเร็งแพร่ผ่านทำงานผิดปกติ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ระบบทางเดินอาหาร ไต อัณฑะ เป็นต้น และหากเซลล์มะเร็งแพร่ไปยังระบบประสาท ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ สับสน สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ และชัก
สาเหตุของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ปัจจุบัน ทางการแพทย์ยังไม่อาจระบุสาเหตุของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดการกลายพันธุ์ในดีเอ็นเอของเซลล์เลือด ส่งผลให้เซลล์ดังกล่าวเจริญเติบโตผิดปกติและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในไขกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมีเซลล์เม็ดเลือดขาวปกติน้อยลงและสูญเสียการทำงานของระบบเลือด นำไปสู่อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในที่สุด
นอกจากนี้ ปัจจัยบางประการอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ ดังนี้
- มีบุคคลในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น
- มีความผิดปกติเกี่ยวกับเลือดอย่างโรคไมอีโลดิสพลาสติกซินโดรม หรือโรคเอ็มดีเอส (Myelodysplastic Syndrome: MDS) ซึ่งส่งผลต่อการผลิตเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูก
- เคยเข้ารับการรักษามะเร็งด้วยการทำเคมีบำบัดหรือการทำรังสีบำบัด
- การสัมผัสสารเคมีบางชนิด เช่น เบนซีน
- การเผชิญรังสีบางชนิดในปริมาณมาก
- มีพฤติกรรมสูบบุหรี่
การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามอาการ ซักประวัติทางการแพทย์ และตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น ตรวจดูการบวมโตของต่อมน้ำเหลือง ม้าม หรือตับ ตรวจภาวะผิวซีดด้วยการตรวจผิวหนังและดวงตา เป็นต้น เพื่อประเมินว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่ และอาจใช้การตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ดังนี้
- การตรวจเลือด เป็นการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำไปตรวจดูว่ามีระดับเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดผิดปกติหรือไม่
- การตรวจไขกระดูก แพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่และเก็บตัวอย่างไขกระดูกบริเวณสะโพกโดยใช้เข็มขนาดยาว จากนั้นจึงนำตัวอย่างไขกระดูกส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเซลล์มะเร็งเม็ดเลือด และมีการตรวจเพิ่มเติมในกรณีที่พบเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะช่วยระบุได้ว่าเป็นเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดใด มีการแพร่กระจายในขั้นไหน และนำผลดังกล่าวมาประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่อไป
- การตรวจภาพถ่ายรังสี เช่น การเอกซเรย์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูง (MRI Scan) เพื่อดูความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะภายในที่ได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมถึงใช้ในการประเมินระยะความรุนแรงของโรคเพื่อให้การรักษาอย่างเหมาะสม
- การเจาะและเก็บตัวอย่างน้ำไขสันหลัง ซึ่งอาจทำให้พบเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่แพร่เข้าไปในเยื่อหุ้มหรือพื้นที่รอบ ๆ สมองและไขสันหลัง
การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว
แพทย์จะพิจารณาวิธีรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวโดยประเมินจากอายุและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว และการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยการรักษาที่มักนำมาใช้ มีดังนี้
- เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาฆ่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาในรูปแบบรับประทาน ยาฉีด หรือใช้ทั้ง 2 ชนิดควบคู่กันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทั้งนี้ การใช้ยาเคมีบำบัดอาจมีผลข้างเคียงบางอย่างต่อร่างกาย เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ฟกช้ำหรือมีเลือดออกง่าย รังไข่หรืออัณฑะเสียหายจนเกิดภาวะมีบุตรยากตามมา เป็นต้น
- ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการรักษาโดยการฉีดสารบางอย่างเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันรับรู้ว่าเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นเป็นเซลล์ผิดปกติและเข้าทำลายเซลล์ดังกล่าวเอง แต่วิธีนี้อาจส่งผลให้เกิดผื่นหรือบวมบริเวณที่ฉีดสารดังกล่าว และอาจมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ หรืออ่อนเพลีย
- การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง แพทย์จะใช้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งช่วยป้องกันการลุกลามของเซลล์มะเร็งและเป็นอันตรายต่อเซลล์ปกติได้น้อย เช่น ยาอิมมาตินิบที่มักใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดไมอิลอยด์ ตัวยาจะเข้าไปหยุดการทำงานของโปรตีนในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือด แต่การรักษาวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงเป็นอาการบวม ท้องอืด น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว บางรายอาจมีผื่นขึ้น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดบีบที่ท้องร่วมด้วย
- รังสีบำบัด การใช้รังสีเอกซเรย์หรือลำแสงพลังงานสูงชนิดอื่น ๆ ยิงเข้าไปทำลายและหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยอาจได้รับการบำบัดด้วยรังสีนี้เฉพาะบริเวณที่มีกลุ่มเซลล์มะเร็งหรือทั่วร่างกาย และในบางกรณีแพทย์อาจใช้วิธีนี้ก่อนให้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เป็นกระบวนการปลูกถ่ายไขกระดูกที่มีสุขภาพดีแทนไขกระดูกที่มีเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์จะใช้การทำเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัดทำลายไขกระดูกที่มีเซลล์มะเร็งเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงให้สเต็มเซลล์เลือดที่จะช่วยสร้างไขกระดูกใหม่ขึ้นมาใหม่
ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวซ้ำอีกครั้ง แม้จะได้รับการรักษาจนหายดีแล้วก็ตาม ซึ่งโอกาสเสี่ยงนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งและการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษาเบื้องต้น โดยเฉพาะมะเร็งชนิดเรื้อรังที่มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำหรือกลับมามีอาการสูงกว่ามะเร็งชนิดเฉียบพลัน
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
มะเร็งเม็ดเลือดขาวส่งผลให้ผู้ป่วยมีปริมาณเม็ดเลือดแดงลดน้อยลงจนเกิดภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกผิดปกติ เกิดการติดเชื้อบ่อยจากการทำงานที่ผิดปกติของเม็ดเลือดขาว และอาจได้รับผลข้างเคียงจากการรักษา เช่น ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วย อีกทั้งบางรายอาจมีกลับมาเป็นซ้ำหรือมีอาการทรุดลง แม้จะได้รับการรักษาแล้ว
นอกจากนี้ มะเร็งเม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกันไป โดยพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดลิมโฟไซติกบางส่วนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดไปเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง บางรายเกิดโรคออโตอิมมูนในระบบเลือดซึ่งส่งผลให้ร่างกายทำลายเซลล์เม็ดเลือดเร็วกว่าที่ผลิต รวมถึงเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งซ้ำซ้อนและโรคความผิดปกติเกี่ยวกับเลือดอื่น ๆ ตามมามากกว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดอื่น
ส่วนผู้ป่วยที่มีมะเร็งชนิดรุนแรงอาจได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาและเกิดกลุ่มอาการมะเร็งถูกทำลาย (Tumor Lysis Syndrome) อย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์มะเร็งตายลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ร่างกายปล่อยฟอสเฟตออกมาเป็นปริมาณมากและอาจนำไปสู่ภาวะไตวาย โดยกลุ่มอาการนี้เกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกชนิด
สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดลิมโฟไซติกที่พบบ่อยในเด็ก การรักษาโรคนี้้อาจทำให้เด็กได้รับผลข้างเคียงรุนแรง เช่น ระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง เจริญเติบโตช้า เกิดภาวะมีบุตรยาก ต้อกระจก และเสี่ยงเกิดมะเร็งชนิดอื่นตามมา ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กขณะเข้ารับการรักษา ประเภทและความรุนแรงของการรักษาที่ใช้
การป้องกันมะเร็งเม็ดเลือดขาว
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวไม่มีแนวทางป้องกันที่ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด อีกทั้งปัจจัยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงบางอย่างอาจช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคนี้ได้ เช่น เลี่ยงการสัมผัสรังสีหรือสารเบนซีน เลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น