มะเร็งโพรงจมูก

ความหมาย มะเร็งโพรงจมูก

มะเร็งโพรงจมูก เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อโพรงจมูกหรือพื้นที่ข้างหลังจมูกและโพรงอากาศเล็ก ๆ ข้างจมูก โหนกแก้มและหน้าผาก มะเร็งโพรงจมูกเกิดจากการเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติหรือมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับเซลล์ ความเปลี่ยนแปลงนี้จะก่อให้เกิดเนื้อร้ายที่สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ แต่บางครั้งการเซลล์ที่ผิดปกติก็ไม่ได้เป็นเนื้อร้ายเสมอไป ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นแค่โรคริดสีดวงจมูกหรือเนื้องอกโพรงจมูกแทน โดยมะเร็งโพรงจมูกเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งหากพบก็จะมักพบได้ในผู้ชายอายุ 50-60 ปี

มะเร็งโพรงจมูก

อาการของมะเร็งโพรงจมูก

ผู้ป่วยมะเร็งโพรงจมูกอาจไม่แสดงอาการตั้งแต่แรก ๆ เนื่องจากโพรงจมูกมีลักษณะค่อนข้างกว้างซึ่งเนื้องอกอาจขยายได้เรื่อย ๆ อาการอาจปรากฏออกมาเมื่อมะเร็งเจริญเติบโตไปรอบ ๆ หรือใหญ่จนปิดกั้นโพรงจมูกแล้ว อาการทั่วไปที่พบได้บ่อยคือคัดจมูกหรือน้ำมูกไหลข้างเดียวแม้ผู้ป่วยจะไม่ได้เป็นหวัดหรือเป็นภูมิแพ้  อาการจะคงอยู่เป็นเวลานานและแย่ลงเรื่อย ๆ อาการอื่น ๆ ของมะเร็งโพรงจมูกค่อนข้างที่จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งนั้นเริ่มมาจากส่วนไหน อาการอื่น ๆ มีดังนี้

  • เลือดกำเดาไหล
  • น้ำมูกไหลหรือระบายจากด้านหลังของจมูกเข้าไปในลำคอ
  • มีลักษณะของก้อนแข็งบนใบหน้า เพดานปากหรือภายในจมูก
  • ปวดหัวและปวดโพรงอากาศข้างจมูก
  • ปวดหรือรู้สึกหูอื้อข้างใดข้างหนึ่ง
  • ปวดบริเวณเหนือดวงตาหรือใต้ดวงตา
  • ตาแฉะมากจนน้ำตาไหลลงมาถึงแก้ม
  • ตาข้างใดข้างหนึ่งโป่งนูน
  • ชา ปวดและบวมบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะแก้มส่วนบน
  • มีปัญหาเวลาอ้าปาก
  • ฟันบนโยกหรือชา หรือความพอดีของการใส่ฟันปลอมแปลกไปจากเดิม
  • ลักษณะการพูดเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบคอบวม
  • สูญเสียการได้ยินหรือการได้กลิ่น

สาเหตุของมะเร็งโพรงจมูก

มะเร็งโพรงจมูกเกิดจากการที่เซลล์ต่าง ๆ ในโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูกเกิดความผิดปกติหรือมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังไม่การยืนยันแน่ชัดว่าสาเหตุของมะเร็งโพรงจมูกคืออะไร ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งโพรงจมูกได้มีหลายประการ เช่น การสัมผัสหรือสูดดมสารเคมีที่ส่งผลให้เซลล์พัฒนาเป็นมะเร็งได้ ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ได้รับการยืนยันทางข้อมูลว่ามีความเกี่ยวข้องกับโรคมีดังนี้

  • ฝุ่นไม้หรือขี้เลื่อย
  • ฝุ่นหนัง
  • บุหรี่
  • ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์
  • สารประกอบนิกเกิล

มะเร็งโพรงจมูกอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่มีความเป็นไปได้เช่น

  • ฟอร์มาดีไฮด์
  • โครเมียม
  • ฝุ่นจากสิ่งทอ

การวินิจฉัยมะเร็งโพรงจมูก
การวินิจฉัยมะเร็งโพรงจมูกอาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน และอาจต้องวินิฉัยหลาย ๆ ครั้งเพื่อหาระยะและระดับความรุนแรงของมะเร็ง แพทย์อาจซักถามอาการและตรวจร่างกายผู้ป่วยในเบื้องต้น หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยอาจจะต้องถูกส่งไปพบผู้เชี่ยวชาญและทำการทดสอบเพื่อยืนยันการวินิจฉัยเพิ่มเติม กระบวนการวินิจฉัยมีดังนี้คือ

  • การซักประวัติและตรวจร่างกาย
    ในการซักประวัติผู้ป่วยเบื้องต้น แพทย์อาจถามถึงระยะเวลาที่เป็นหรืออาการที่แสดงซึ่งจำเป็นต่อการวินิจฉัย รวมไปถึงการซักถามอาชีพที่ทำหรือพฤติกรรมการบริโภคสุราและบุหรี่ เพราะอาจเกี่ยวข้องปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ การตรวจร่างกายจะแสดงให้แพทย์เห็นถึงสัญญาณของการเกิดมะเร็งโพรงจมูก แพทย์จะมองหาลักษณะของก้อนแข็งหรืออาการบวมบริเวณจมูก แก้ม ดวงตา และภายในปาก อาจมีการส่องกล้องตรวจบริเวณด้านหลังของจมูก หรือตรวจทางประสาทวิทยา เพื่อตรวจการทำงานของสมอง กระดูกสันหลัง และเส้นประสาท
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง (Complete Blood Count: CBC)
    วัดจำนวนและคุณภาพของเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด แพทย์สามารถใช้วิธีนี้เป็นค่าวัดพื้นฐานที่นำมาใช้เปรียบเทียบจำนวนเม็ดเลือดระหว่างการรักษาและหลังการรักษา
  • การตรวจสารเคมีในเลือด
    ผลจะแสดงให้เห็นว่าอวัยวะบางชิ้น เช่น ตับ นั้นทำงานได้ดีอย่างไร โดยวัดค่าสารเคมีบางอย่างในเลือด และยังช่วยหาความผิดปกติจากการแพร่กระจายของมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายผู้ป่วยได้อีกด้วย
  • การตรวจโดยใช้กล้องส่อง
    แพทย์จะวินิจฉัยโดยการใช้ กล้องส่องตรวจ (Endoscope) ส่องเข้าไปบริเวณจมูก โพรงหลังจมูกและส่วนล่างของลำคอ และแพทย์อาจเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อระหว่างส่องกล้อง ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงเช่นอาการปวด เลือดไหล หรือผนังเนื้อเยื่อฉีกขาดเป็นต้น
  • การเจาะดูดเซลล์ไปตรวจ (Fine Needle Aspiration)
    วิธีนี้อาจใช้เพื่อเก็บตัวอย่างเนื้องอก โดยแพทย์จะใช้เข็มที่เล็กมาก ๆ พร้อมกับกระบอกฉีดยาเพื่อนำของเหลวหรือเนื้อเยื่อออกมาเพียงเล็กน้อย โดยปกติ โรคที่มีก้อนให้เห็นชัดและสงสัยป็นว่าเมะเร็งบริเวณศีรษะและรอบคอ ทางแพทย์นิยมตรวจโดยการทำ FNA ก่อนหากทำได้ เนื่องจากรุนแรงต่อคนไข้น้อยกว่า แต่หากก้อนลึก ต้องใช้กล้อง ก็มักจะใช้การตัดเนื้อตรวจ
  • การตัดเนื้อตรวจ (Biopsy)
    ผลรายงานจากนักพยาธิวิทยาจะยืนยันได้ว่าตัวอย่างใช่มะเร็งหรือไม่ หรือระบุได้ว่าเป็นมะเร็งชนิดไหนและอธิบายว่ามะเร็งนั้นรุนแรงถึงระดับไหนแล้ว โดยแพทย์จะกำจัดเนื้อเยื่อตัวอย่างออกจากร่างกายของผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจในห้องทดลองพยาธิวิทยา ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงเช่น อาการปวดหรือติดเชื้อบริเวณที่เนื้อเยื่อถูกกำจัดออกไป
  • ทำซีทีสแกน
    แพทย์จะสังเกตว่าเนื้องอกนั้นเจริญเติบโตเข้าไปถึงกระดูกรอบ ๆ โพรงอากาศข้างจมูกหรือฐานกะโหลกหรือไม่ หรือใช้หาการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ปอดและต่อมน้ำเหลือง อาจจะมีการฉีดสีที่เรียกว่าสารทึบรังสีเข้าไปในเส้นเลือดของผู้ป่วยก่อนที่จะทำซีทีสแกนเพื่อช่วยให้แพทย์เห็นโครงสร้างต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ก่อนหากเคยมีประวัติแพ้สารทึบรังสี
  • การเอกซเรย์
    การเอกซเรย์สามารถทำได้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิคทั่วไป โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที หรืออาจนานกว่านั้น ผลภาพเอกซเรย์ใช้เพื่อตรวจหาการอุดตันหรือการติดเชื้อในโพรงอากาศข้างจมูกหรือตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ปอด แต่อาจไม่ละเอียดเท่าการทำซีทีสแกน
  • การทำเอ็มอาร์ไอ
    การทำเอ็มอาร์ไอใช้เวลาโดยประมาณ 30-50 นาที หรืออาจนานถึงสองชั่วโมง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตรวจหา แพทย์ใช้เอ็มอาร์ไอในการระบุว่าเนื้องอกเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ และใช้หาการเจริญเติบโตของเนื้องอกสู่โครงสร้างต่าง ๆ รอบ ๆ โพรงอากาศข้างจมูก ฐานกะโหลก บริเวณใกล้ ๆ เส้นเลือดและเส้นประสาท เยื่อหุ้มสมอง สมอง และดวงตา
  • การสแกนกระดูก
    แพทย์จะซักถามประวัติผู้ป่วยก่อน เช่น เคยศัลยกรรมกระดูกหรือใส่เครื่องช่วยไว้หรือไม่ หลังจากร่างกายซึมซับสารเภสัชรังสี การสแกนกระดูกจะใช้เวลาประมาณ 30–60 นาที
    เพื่อหาการกระจายของมะเร็งโพรงจมูกสู่กระดูก
  • การทำเพทสแกน (PET scan)
    ใช้ดูการทำงานของเซลล์มะเร็งหรือก้อนเนื้อ ว่าทำงานมากน้อยขนาดไหน มีแนวโน้มรุนแรงหรือไม่ การทำเพทสแกนอาจใช้เวลาตั้งแต่ 45 นาทีถึง 2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าทำการสแกนแค่เฉพาะส่วนหรือสแกนทั้งร่างกาย สีหรือความสว่างของภาพ PET จะแสดงถึงระดับของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่แตกต่างกัน

การรักษามะเร็งโพรงจมูก

การรักษามะเร็งโพรงจมูกนั้นอาจต้องพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ระยะของมะเร็ง ระดับความรุนแรงของมะเร็ง ตำแหน่งของมะเร็ง หรือสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยเป็นต้น สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ถึงความต้องการและเป้าหมายในการรักษา ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางในบางกรณี เพราะการรักษามะเร็งโพรงจมูกสามารถรักษาได้หลายวิธี แต่ละวิธีก็จะใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน วิธีการรักษามะเร็งโพรงจมูกต่าง ๆ มีดังนี้

  • การผ่าตัด
    การผ่าตัดมะเร็งโพรงจมูกทำได้ทั้งผ่าตัดแบบเปิดและผ่าตัดส่องกล้อง มักทำในกรณีที่เนื้องอกอยู่ในระยะแรก ๆ ยังกระจายตัวไม่มาก แพทย์อาจใช้การผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดหรืออาการต่าง ๆ โดยกำจัดเนื้องอกที่ขัดบริเวณโพรงจมูกและโพรงอากาศของจมูกออก รวมไปถึงการกำจัดเอาเนื้อเยื่อปกติบริเวณรอบ ๆ ออกไปด้วยในบางกรณี
  • การบำบัดด้วยรังสี (Radiation Therapy)
    เป็นการรักษาโดยใช้รังสีพลังงานสูงในการฆ่าเซลล์มะเร็ง ลดขนาดเนื้องอกก่อนการผ่าตัดหรือทำลายเนื้องอกเล็กน้อยที่อาจหลงเหลือหลังจากการผ่าตัด
  • การใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy)
    ใช้เพื่อลดความเสี่ยงจากการกลับมาของมะเร็งหลังผ่าตัดโดยการลดขนาดหรือชะลอการเติบโตของเนื้องอก

การใช้เคมีบำบัดและการบำบัดด้วยรังสีมักใช้เป็นตัวเสริมจากการผ่าตัด และการรักษาดังกล่าวอาจถูกนำมาใช้เป็นการรักษาแบบประคองกับผู้ป่วยบางรายในกรณีที่มะเร็งนั้นไม่สามารถรักษาได้แล้ว เป้าหมายในการรักษาอาจเป็นการกำจัดเนื้อร้ายออกไปให้ได้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เนื้องอกเจริญเติบโต แพร่กระจายหรือกลับมา

หลังการรักษา

ในกรณีที่เนื้อร้ายทั้งหมดถูกกำจัด และการรักษาได้สิ้นสุดลงแล้ว อาการกังวลว่าจะกลับมาเป็นมะเร็งอีกถือเป็นอาการปกติของผู้ป่วย ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถกำจัดเนื้อร้ายออกจากร่างกายอย่างสมบูรณ์ได้ ถึงแม้จะเป็นวิธีที่ค่อนข้างยากและเครียด แต่ทางที่ดีที่สุดคือการที่ผู้ป่วยจะเรียนรู้จะที่ใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็ง การใช้ชีวิตประจำวันหลังการรักษาของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยอาจควรทำให้สุขภาพนั้นดีขึ้นโดยวิธีต่าง ๆ เช่น การเลือกกินอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์หรือเลิกบุหรี่เป็นต้น

มะเร็งโพรงจมูกเป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูงต่อการกลับมาเป็นอีกครั้ง แพทย์จึงต้องเฝ้าติดตามและสังเกตอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่รักษาโดยรังสีรักษาหรือเคมีบำบัดอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ฟันร่วงหรือผมร่วง เป็นต้น การกลับมาของมะเร็งขึ้นอยู่กลับระยะของมะเร็ง วิธีที่ใช้รักษา และการตอบสนองการรักษาของผู้ป่วย แพทย์อาจต้องทำการทดสอบเพิ่มเติมหลังการรักษาเช่นการตรวจเลือดหรือทำเอ็มอาร์ไอ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์อย่างน้อยสามเดือนครั้งในปีแรก และหากผู้ป่วยแสดงอาการใหม่ ๆ หรืออาการอื่น ๆ หลังจากที่การรักษาเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ในทันที เพื่อให้แพทย์ทำการทดสอบหาการกลับมาของมะเร็งต่อไป

การป้องกันมะเร็งโพรงจมูก

ผู้ป่วยมะเร็งโพรงจมูกส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงปัจจัยเสี่ยง ทำให้ในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันมะเร็งโพรงจมูกได้ทั้งหมด วิธีป้องกันเบื้องต้นคือพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังกล่าว เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เป็นต้น แต่หากต้องทำงานในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงเช่น อุตสาหกรรมทำเฟอร์นิเจอร์หรือตู้ไม้ หรือสถานที่ทำงานอื่น ๆ ที่อาจมีการสัมผัสหรือสูดดมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้ในปัจจุบันสถานที่ทำงานหลาย ๆ แห่งเริ่มมีมาตรการความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยก็ควรหาแนวทางป้องกันตัวเอง ลดโอกาสในการสัมผัสหรือสูดดมอันตรายเหล่านี้ให้มากที่สุด