มะเร็ง (Cancer)

ความหมาย มะเร็ง (Cancer)

มะเร็ง (Cancer) เป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติอย่างควบคุมไม่ได้ของเซลล์เนื้อเยื่อภายในร่างกาย จนทำลายเซลล์เนื้อเยื่อปกติ และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายได้ด้วย มะเร็งเกิดขึ้นได้แทบทุกส่วนของร่างกาย เป็นโรคเรื้อรังที่อันตรายถึงแก่ชีวิต แต่การวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็วอาจช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้

มะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ และมะเร็งปากมดลูก มะเร็งแต่ละชนิดมีปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคแตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยแต่ละคน ส่วนวิธีการรักษามะเร็งก็จะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของมะเร็ง ระยะและความรุนแรงของโรค รวมถึงเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย

มะเร็ง

อาการมะเร็ง

มะเร็งสามารถจำแนกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

  1. คาซิโนมา (Carcinoma) คือมะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบุอวัยวะ
  2. ซาโคมา (Sarcoma) คือมะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากกระดูก กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ และเส้นเลือด
  3. ลิวคีเมีย (Leukemia) คือมะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากเซลล์เม็ดเลือดในไขกระดูก
  4. ลิมโฟมา (Lymphoma) และไมอีโลมา (Myeloma) คือมะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน
  5. มะเร็งที่มีจุดกำเนิดมาจากสมองและไขสันหลัง (Central nervous system cancers)

มะเร็งแต่ละชนิดจะมีอาการของโรคที่แตกต่างกัน อีกทั้งอาการอาจไม่แสดงออกมา หรือแสดงออกมาเพียงเล็กน้อยในตอนเริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวและจะเริ่มรู้ตัวก็ต่อเมื่อมีอาการแสดงอย่างชัดเจนและรุนแรง หรือมะเร็งเข้าสู่ระยะที่มีการแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นแล้ว โดยในระยะแรกอาจแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • เกิดก้อนเนื้อที่สามารถสัมผัสได้ใต้ผิวหนัง
  • รู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการไอเรื้อรัง เสียงแหบ เจ็บคอ และกลืนลำบาก 
  • รู้สึกเบื่ออาหาร และน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการช้ำ หรือเลือดออกง่ายโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการไข้เรื้อรัง หรือเหงื่อออกตอนกลางคืนโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น ผิวคล้ำ ไฝมีขนาดและรูปร่างเปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดไฝใหม่
  • เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย เช่น อาหารไม่ย่อย ปัสสาวะเป็นเลือด จากการทำงานของลำไส้และกระเพาะปัสสาวะที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ อาจมีอาการเฉพาะแตกต่างกันออกไปตามมะเร็งแต่ละชนิด เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดอาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือไอเป็นเลือดร่วมด้วย

สาเหตุของมะเร็ง

ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของมะเร็งที่แน่ชัดได้ แต่อาจมีปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลให้เซลล์ในร่างกายเกิดการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด 

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ได้แก่

  • อายุ เพราะอายุที่เพิ่มมากขึ้นอาจทำให้อาการของโรคแสดงออกมา และตรวจพบมะเร็งมากขึ้น เนื่องจากเซลล์มะเร็งอาจใช้เวลานานในการพัฒนาอยู่ภายในร่างกาย
  • การสูบบุหรี่หรือการสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง หรือมะเร็งช่องปากและลำคอ
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้
  • การใช้ยาฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม
  • การได้รับเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งช่องปากและลำคอ
  • การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องสัมผัสกับแสงแดด ฝุ่นควัน มลภาวะ รังสี หรือสารเคมีเป็นประจำ
  • การที่คนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นมะเร็ง อาจเกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรม และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตอื่น ๆ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การมีภาวะอ้วน หรือการไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

การวินิจฉัยมะเร็ง

ในเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ ประวัติสุขภาพของครอบครัว สอบถามอาการที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกายอย่างละเอียด เช่น ตรวจดูว่ามีก้อนเนื้อเกิดขึ้นผิดปกติหรือไม่รวมถึงอาจมีการตรวจเลือด ตรวจด้วยภาพถ่าย และตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อให้สามารถวินิจฉัยหรือระบุระยะของมะเร็งที่เกิดขึ้น และวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม

การตรวจเลือด

การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยมะเร็งอาจเป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เพื่อนับปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว ดูว่าผู้ป่วยมีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติ และมีสัญญาณของการเกิดมะเร็งหรือไม่ อีกทั้ง การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดมักใช้ในการวินิจฉันโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) เช่น การตรวจหาค่า Alpha-fetoprotein (AFP) ในเลือดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับอย่างผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคตับแข็ง และผู้ที่เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบบี โดยแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 3–6 เดือน

การตรวจด้วยภาพถ่าย

แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การตรวจเอกซเรย์ (X-rays) การตรวจ PET Scan การตรวจอัลตราซาวน์ (Ultrasound) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูขนาดของเนื้องอกที่เจริญเติบโตขึ้น และดูว่าเนื้องอกมีการแพร่กระจายหรือลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นหรือไม่

การตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อ

แพทย์จะเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณที่สงสัยไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสัญญาณของการเกิดมะเร็ง การเก็บตัวอย่างจะแตกต่างกันออกไปตามวิธีการวินิจฉัยมะเร็งแต่ละชนิด อาจเป็นการเก็บตัวอย่างแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งของเซลล์ ของเหลว เนื้อเยื่อ ผิวหนัง ไขกระดูก หรืออาจเป็นการตัดเนื้องอกที่ต้องสงสัยออกไปทั้งชิ้นเพื่อนำไปตรวจก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อผ่านการการส่องกล้องด้วย

การรักษามะเร็ง

การรักษามะเร็งอาจมีเป้าหมายหลักเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งออกจากร่างกายจนหมด เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง เพื่อลดโอกาสในการเกิดซ้ำของเซลล์มะเร็ง หรือเพื่อดูแลแบบประคับประคองอาการในกรณีที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แล้ว แต่จะช่วยให้ผู้ป่วยบรรเทาความเจ็บปวด และลดการเกิดผลข้างเคียงจากโรคหรือผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธีหลักก็ได้เช่นกัน

วิธีการรักษามะเร็งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันของผู้ป่วยแต่ละคน ได้แก่ ขนาดและระยะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจใช้วิธีเดียวในการรักษาหรือใช้หลายวิธีรักษาร่วมกันก็ได้ ซึ่งวิธีการหลักที่แพทย์ใช้รักษามะเร็งมีความแตกต่างกันดังนี้

การผ่าตัด

มะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่แพร่กระจายอาจสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อกำจัดเนื้อเยื่อมะเร็งออกจากร่างกายให้ได้มากที่สุด ในบางกรณี การผ่าตัดอาจใช้ร่วมกับการทำรังสีรักษาและการทำเคมีบำบัด เพื่อช่วยให้เนื้อเยื่อมะเร็งหดตัวเล็กลงก่อนการผ่าตัด หรือช่วยทำลายเนื้อเยื่อมะเร็งที่ยังคงหลงเหลืออยู่หลังจากการผ่าตัด

การใช้รังสีรักษา

การใช้รังสีรักษาเป็นการใช้รังสีในปริมาณมากเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย มีทั้งการรักษาจากภายนอกร่างกายด้วยเครื่องฉายรังสีภายนอก และการรักษาจากภายในร่างกายที่เรียกว่าการฝังแร่ การรักษาการทำรังสีรักษาอาจใช้เป็นการรักษาเดี่ยว หรือเป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัดและการทำเคมีบำบัดก็ได้เช่นกัน 

การทำเคมีบำบัด

การทำเคมีบำบัดเป็นการใช้ยาในรูปแบบยารับประทานหรือยาฉีดเข้าเส้นเลือดดำ เพื่อทำให้เซลล์มะเร็งอ่อนแอลง และง่ายต่อการกำจัดเซลล์มะเร็งออกจากร่างกาย นอกจากนี้ การทำเคมีบำบัดอาจใช้เพื่อลดขนาดของเซลล์มะเร็งในร่างกาย และลดโอกาสในการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการรักษามะเร็งด้วยวิธีการอื่น ๆ ได้แก่ การปลูกถ่ายไขกระดูก การรักษาด้วยฮอร์โมน การรักษาด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือที่เรียกว่าการรักษาทางชีวภาพ การรักษาด้วยยาแบบกำหนดเป้าหมาย และการรักษาด้วยการทดลองทางคลินิก

ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็ง

มะเร็งที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย ทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายประการ เช่น ความเจ็บปวด ความเหนื่อยล้า คลื่นไส้ หายใจลำบาก ท้องผูก ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลด เกิดปัญหาการนอนหลับ เกิดปัญหาเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท ไปจนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการเสียชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะรุนแรงด้วย

อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งด้วยวิธีต่างๆ อย่างการใช้รังสีรักษาหรือการทำเคมีบำบัด ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผมร่วง ความเจ็บปวด ความเหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร และการเกิดภาวะโลหิตจาง รวมถึงผู้ที่รักษามะเร็งหายแล้วก็อาจมีความเสี่ยงในการกลับมามะเร็งได้อีก จึงควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกันมะเร็ง

แม้ว่ามะเร็งจะยังไม่มีวิธีที่จะสามารถป้องกันได้อย่างแน่นอน แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างที่อาจกระตุ้นการพัฒนาของเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ เช่น

  • เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน มลภาวะ รังสี และสารเคมี
  • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดมากเกินไป โดยการทาครีมกันแดดหรือใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น แว่นกันแดด หมวก และเสื้อแขนยาว เมื่อต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก
  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ให้เกิดภาวะอ้วน และเสริมความแข็งแรงของร่างกายด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก
  • ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น วัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ